คนรักหลักประกันสุขภาพเดินหน้าสู้คดี ย้ำกระทรวงฯต้องผลักดัน พรบ.คุ้มครองผู้เสียหาย อย่าเสียเวลาตั้งกรรมการดูแลคนต่างชาติ เร่งให้ทบทวนนโยบาย ฉุกเฉิน 3 กองทุน
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเปิดแถลงข่าว ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วันที่ 26 สิงหาคม 2556
นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และจำเลยที่ 2 ในคดีหมิ่นประมาทที่สมาพันธ์แพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ฟ้องหมิ่นประมาทต่อแกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า การเปิดตัวกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเมื่อ 8 มกราคม 2555 พร้อมด้วย ผังล้มระบบหลักประกันสุขภาพที่ชี้ให้เห็นกระบวนการที่มุ่งจะทำลายหลักกการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งป็นการจุดประเด็นให้สังคมเริ่มสังเกตุ และจับตามององคาพยพต่างๆ ผ่านเหตุการณ์ ปรากฎการณ์ และนโยบายที่เริ่มจะบิดเบี้ยวของกระทรวงสาธารณสุข เห็นการจับมือกันระหว่างหน่วยงานรัฐ บริษัทยา และธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนชัดเจนขึ้น ทั้งหมดดูเหมือนมุ่งที่จะพาระบบสุขภาพของประเทศไปสู่ จุดที่ประชาชนทุกคนต้องร่วมจ่าย ณ หน่วยบริการ หรือแม้แต่การร่วมจ่ายค่ายาในหน่วยบริการ ก็เป็นแนวทางที่ธุรกิจสุขภาพผลักดันมาโดยตลอด
“เรื่องคดีความ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำมาโดยตลอด คือการจับตาระบบหลักประกันสุขภาพเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และปรากฎการณ์ต่างๆก็ปรากฎชัดเจนขึ้นว่า มีกระบวนการที่จ้องล้มระบบหลักประกันสุขภาพจริง ดังที่มีนโยบายต่างๆเกิดขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การล่าลายมือชื่อเพื่อร่างกฎหมายใหม่ เพื่อล้ม สปสช. หรือนโยบายรัฐบาลที่เน้นดูแลคนต่างชาติมากกว่าคนไทย และความล้มเหลวของการให้บริการฉุกเฉิน 3 กองทุน” สุรีรัตน์ กล่าว
สำหรับด้านการต่อสู้คดี ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า “เรายืนยันจะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด สำหรับการประกันตัววันนี้ เป็นการระดมหลักทรัพย์จาก ชมรมรักษ์สปสช. มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสำหรับกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เนื่องจากชมรมฯ เห็นด้วยกับแนวทางของกลุ่ม และพร้อมที่จะอยู่เคียงข้าง ต่อสู้ร่วมกับกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ”
นางสาวกชนุช แสงแถลง โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า เดือนเมษายน 2555 รัฐบาลประกาศนโยบายที่ดูจะเป็นความหวังของระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว โดยประกาศให้ทั้งสามระบบหลักประกันสุขภาพหลักของประเทศ ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินโดยมาตรฐานเดียวกัน ไปที่ใดก็ได้ไม่ต้องถามสิทธิ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการสร้างระบบบริการสาธารณสุขให้มีมาตรฐานเดียวกัน แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังมีประชาชนยังถูกการปฏิเสธการรักษาจากโรงพยาบาลบางแห่งโดยอ้างเรื่องราคาที่ต่ำไป ทำให้ประชาชนจำนวนมากยังต้องสำรองจ่าย ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุจากรถ ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากนโยบายนี้ได้ ยังคงต้องสำรองจ่ายและถูกปฏิเสธการรักษา
“ในด้านการจัดการก็มีปัญหาพบว่านโยบายดังกล่าวสร้างภาระให้กับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมากขึ้น เพราะ สปสช.ในฐานะเคลียริ่งเฮ้าส์ ไม่สามารถตามเก็บเงินจากสำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลางได้ เพราะไม่มีกลไกใดใดที่จะรองรับนโยบายดังกล่าวที่รัดกุมมากพอ ทั้งหมดนี้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นว่านโยบายดังกล่าว เป็นเพียงภาพฝันที่สร้างขึ้น โดยที่รัฐบาลไม่ได้มีความจริงใจที่จะลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพให้กับประชาชน”
นายรุ่งเรือง กัลย์วงศ์ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขมีแนวคิดตั้งคณะกรรมการ เพื่อเปิดระบบไกล่เกลี่ยกรณีข้อพิพาททางการแพทย์ ทั้งในด้านคุณภาพการรักษาพยาบาล และอัตราค่าบริการขึ้นมาดูแลชาวต่างชาติโดยเฉพาะทั้งนี้เป็นหนึ่งนโยบาย เพื่อสนับสนุนนโยบายเมดิคัล ฮับ หรือการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์อย่างครบวงจร
“นโยบายนี้เป็นการใช้เวลาและทรัพยากรที่สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุของคนระดับบริหารของกระทรวงฯ ในขณะที่ไม่ให้ความสนใจที่จะดูแลคนไทย ไม่สนใจผลักดันให้มี ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ ฉบับประชาชน ที่รออยู่ในสภาฯมาหลายปี แต่กระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานที่ ครม.มอบให้เป็นกลไกทำร่าง พรบ.ของรัฐบาลประกอบ กลับไม่เดินหน้า ยังคงซื้อเวลา ถ่วงเวลา รอให้คนป่วย คนฉุกเฉิน ได้รับความลำบาก ต้องไปฟ้องร้องกันในศาล ซึ่งใช้เวลายาวนานและไม่มีครั้งไหนเลยที่ผู้ได้รับความเสียหายจะชนะคดี” นายรุ่งเรืองกล่าว
นายรุ่งเรืองกล่าวต่อว่า กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขเลิกล้มแนวคิดที่จะตั้งคณะกรรมการเพื่อเปิดระบบไกล่เกลี่ยกรณีข้อพิพาททางการแพทย์ แล้วใช้ทรัพยากร เวลาที่มีมาทุ่มกำลังในการร่วมผลักดัน ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ ฉบับประชาชน ซึ่งจะได้เป็นหลักประกันที่จะคุ้มครองสิทธิทุกคนทั้งผู้รับบริการ และผู้ให้บริการ และขอให้รัฐบาลรวมการบริหาร และกองทุนเกี่ยวกับการรักษาที่รัฐจ่ายให้คนแต่ละระบบมาไว้เป็นระบบเดียวกัน บริหารอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเพิ่มงบประมาณอย่างเหมาะสมกับการก้าวเข้าสู่ยุคอาเซียน กลุ่มยังคงจับตาการดำเนินงานของรัฐบาล รัฐมนตรีสาธารณสุข และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และกฎหมายที่ประชาชนร่วมสร้างมาแต่ต้น
- 19 views