สธ. เผย ปี 2556 ภาวะ รพ.ขาดทุนดีขึ้น ภาพรวมหลังหักเงินบำรุง รพ. ขาดทุน 34 ล้านบาท แถมจำนวน รพ.วิกฤติรุนแรงลดลง เหตุได้งบอัดค่าตอบแทนเพิ่ม 3 พันล้าน บวกงบเพิ่มประสิทธิภาพบริหาร 900 ล้านบาท แต่ยังหวั่นสถานการณ์ปี 2557 หลังจากปรับลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขทำค่าใช้จ่ายเพิ่ม ขณะที่การประชุมร่วม สธ-สปสช. คาดปี 2557 รพ.ติดลบ 4 พันล้านบาท เร่งหาทางปรับเพิ่มประสิทธิภาพบริหาร
สถานการณ์งบประมาณโรงพยาบาล ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการรายงานผลการดำเนินงานของโรงพยาบาล ในช่วงไตรมาสที่ 3 ในปี 2556 พบว่า ภาพรวมสถานการณ์การเงินเป็นไปในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากมีการขาดทุนลดลงต่างจากปีที่ผ่านมาโดยผลประกอบการภาพรวมของโรงพยาบาล 835 แห่งในปีนี้ ติดลบเพียง 34,580,996.90 บาทเท่านั้น หลังจากหักเงินค่าบำรุงโรงพยาบาล ซึ่งถือว่าดีขึ้นมาก และเมื่อพิจารณาผลกำไรขาดทุนตามกลุ่มขนาดโรงพยาบาล พบว่าในกลุ่มโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) ที่มีจำนวน 25 แห่ง ในปีนี้มีรายได้ที่สูงกว่ารายจ่าย เป็นจำนวน 1,173,373,849.54 บาท
แม้ว่าในกลุ่มโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ซึ่งมีอยู่ 69 แห่ง และ โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 741 แห่ง แม้ว่าจะอยู่ในสภาพติดลบ 503,093,467.93 ล้านบาท และ 704,861,377.90 บาท แต่ก็มีสภาพที่ดีขึ้น อีกทั้งในกลุ่มโรงพยาบาลที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ซึ่งอยู่ในระดับ 7 ที่ถือว่าวิกฤติหนักยังมีจำนวนลดลง จาก 175 แห่ง เหลือเพียง 169 แห่งเท่านั้น
นพ.โสภณ กล่าวว่า การที่ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้นำตัวเลขการขาดทุนของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กว่า 4,000 ล้านบาท ออกมาเปิดเผยนั้น เป็นเพียงตัวเลขคาดการณ์ในปี 2557 ที่ประเมินจากปี 2555-2556 เท่านั้น ไม่ได้
เป็นตัวเลขรายรับรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง อีกทั้งยังไม่ได้ทำการรวมงบประมาณค่าตอบแทนที่ได้รับเพิ่มอีก 3,000 ล้านบาท รวมไปถึงงบประมาณที่ได้จากการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งหากรวมแล้ว โรงพยาบาลภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะขาดทุนไม่มากปรับบริหารงบประมาณใหม่
ส่วนสาเหตุที่ในปี 2556 นี้ ปัญหาการขาดทุนของโรงพยาบาลดีขึ้นนั้น นพ.โสภณ กล่าวว่า เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้มีการปรับการบริหารงบประมาณ โดยมีการแบ่งเขตการบริหารออกเป็น 12 เขต มีผู้ตรวจกระทรวงเป็นผู้ดูแลว่าจะมีการปรับเกลี่ยงบประมาณของโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่อย่างไร ซึ่งกระทรวงได้มอบอำนาจให้ รวมถึงการกระจายและการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาร อย่างเช่น การรวมจัดซื้อยาและเครื่องมือแพทย์ ตลอดจนครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับมอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำในเรื่องต้นทุนการบริการของโรงพยาบาลแต่ละระดับ (Unit Cost) โดยมีการคำนวณต้นทุนการบริการรักษาพยาบาลที่เป็นค่ากลางออกมา แยกเป็นผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก ซึ่งนอกจากทำให้ทราบต้นทุนการบริการที่แท้จริงแล้ว ยังช่วยควบคุมและเปรียบเทียบประสิทธิภาพการบริหารของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง โดยโรงพยาบาลใดที่มีการบริหารดีอยู่แล้ว มีต้นทุนการบริหารที่เท่ากันเมื่อเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลอื่นๆ แต่ยังขาดทุนอยู่ จะต้องดูถึงสาเหตุ หากเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เช่น อยู่ในเขตชายแดน หรือในเกาะที่เข้าถึงยาก ส่งผลให้มีต้นทุนการบริหารสูงกว่าที่อื่นๆ ก็คงต้องมีการช่วยเหลือ
และที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้ว แต่ในส่วนโรงพยาบาลที่มีต้นทุนการบริหารสูงกว่าโรงพยาบาลอื่นๆ ในระดับเดียวกัน ทั้งที่ไม่ได้มีปัญหาความห่างไกลของพื้นที่ คงต้องมาพิจารณาในเรื่องประสิทธิภาพของผู้บริหาร ซึ่งเรื่องนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว
"ตัวเลขที่นำเสนอเป็นตัวเลขจริง ไม่ใช่การประมาณการ ซึ่งในปี 2556 นี้แม้ว่าโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะยังขาดทุนอยู่แต่ก็ไม่มาก แต่ที่เป็นห่วงคือในปี 2557 นี้ ซึ่งอาจมีปัญหาจากการปรับลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ที่มีการปรับเพิ่มค่าจ้างและสวัสดิการ ซึ่งตรงนี้อยู่ระหว่างการคำนวณ เนื่องจากจะทำให้รายจ่ายเพิ่มขึ้น" รพ.ชุมชน487แห่งขาดทุนมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ที่ผ่านมา ทางกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ได้หารือร่วมกันถึงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปีงบประมาณ 2557 โดยเน้นไปยังการปรับเพิ่มประสิทธิภาพโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยในที่ประชุมได้นำเสนอตัวเลขการคำนวณส่วนต่างรายรับรายจ่ายในปีงบประมาณ 2557 ของ 835 แห่ง โดยคาดว่าภาพรวมโรงพยาบาลทั้งหมดจะมีรายรับทั้งสิ้น 177,748 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากงบเหมาจ่ายรายหัว 104,617 ล้านบาท สวัสดิการข้าราชการ 23,771 ล้านบาท ประกันสังคม 6,573 ล้านบาท รักษาอื่นๆ 13,273 ล้านบาท และรายรับจากผู้ป่วยนอกระบบอีก 29,514 ล้านบาท
และมีการประมาณการรายจ่าย โดยเป็นเงินเดือนบุคลากร 66,336 ล้านบาท ค่าจ้างชั่วคราว 14,855 ล้านบาท ค่าตอบแทนไม่รวม พตส. 22,919 ล้านบาท ค่ายาและเวชภัณฑ์ 45,844 ล้านบาท ค่าสาธารณูปโภค 6,103 ล้านบาท และค่าดำเนินการอื่นๆ อีก 25,480 ล้านบาท เมื่อหักลบแล้วมีส่วนต่างติดลบ 3,790 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อจำแนกขนาดของโรงพยาบาล พบว่า โรงพยาบาลชุมชนขนด 10-30 เตียง ซึ่งมีอยู่ 487 แห่ง เป็นกลุ่มที่มีภาวะขาดทุนมากที่สุด อยู่ที่ 2,976 ล้านบาท นอกจากนี้เป็นกลุ่มโรงพยาบาลทั่วไป ทั้งที่น้อยกว่า และมากกว่า 300 เตียง จำนวน 1,868 ล้านบาท
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงแค่การคาดการณ์สถานการณ์สภาพคล่องของโรงพยาบาลในปี 2557 เท่านั้น โดยเป็นการประเมินในส่วนรายรับ ทั้งที่ได้รับจาก สปสช. กองทุนประกันสังคม และ สวัสดิการข้าราชการ และรายจ่าย ที่จะเกิดขึ้น หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ซึ่งการประเมินนี้เป็นการดำเนินการภายหลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายให้โรงพยาบาลเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวเป็นการหารือ ร่วมกันระหว่าง สปสช. และ กระทรวงสาธารณสุข
"ข้อมูลดังกล่าวยังเป็นเพียงแค่การคาดการณ์สถานการณ์ปี 2557 เท่านั้น โดยประเมินจากข้อมูลย้อนหลัง ไม่ใช่ตัวเลขขาดทุนจริงๆ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขต้องหาแนวทางในการแก้ไข โดยเฉพาะการลดรายจ่ายและการ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน" เลขาธิการ สปสช. กล่าว
แต่หวั่นปี 57 หลังปรับลูกจ้างเป็นพนักงานทำค่าใช้จ่ายเพิ่ม
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 26 สิงหาคม 2556
- 6 views