นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์

หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)

 

นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวว่าจากกรณีที่มีข่าวการตรวจสุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานและมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเหมาะสมของการตรวจสุขภาพประจำปีว่า ปัจจุบันในหลายประเทศมีการทำมาตรฐานการตรวจสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับประชาชน โดยมีรูปแบบของคณะกรรมการระดับชาติในการกำหนดทั้งเพื่อความปลอดภัยและความเท่าเทียม และติดตามผลกระทบ ซึ่งจากการติดตามศึกษาผลกระทบทำให้หลายประเทศเริ่มมีประกาศไม่ให้มีการตรวจในบางเรื่อง เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก เนื่องจากพบข้อมูลเปรียบเทียบว่า การผ่าตัดทำให้เกิดผลกระทบและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้มากกว่าและ ผู้ป่วยต้องเสียชีวิตจากการรักษามากกว่า หรือผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกา ที่พบว่า การเอกซเรย์ปอดกับการทำซีทีสแกน สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งได้พอๆ กัน แต่ผู้ป่วยกลุ่มที่ทำซีทีสแกนเสียชีวิตมากกว่า เป็นต้น

นพ.ยศกล่าวต่อว่า ปัจจุบันปริมาณการตรวจสุขภาพของคนไทยเพิ่มขึ้นมาก โดยประชาชนเสียเงินเพื่อตรวจสุขภาพเอง ในปี 2552 อยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านบาท เทียบกับปี 2554 เพิ่มขึ้นเป็น 2,200 ล้านบาท ทั้งนี้จากการทำวิจัยเรื่อง การตรวจคัดกรองสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทย พบว่า การตรวจสุขภาพหรือการคัดกรองสุขภาพที่ไม่รวมการตรวจสุขภาพที่ไม่เกี่ยวกับการยืนยันโรค หรือเพื่อรักษาโรคนั้น ควรหลีกเลี่ยงการคัดกรองแบบเหวี่ยงแห ตรวจแบบไร้จุดเป้าหมาย เพราะมีโทษมากกว่าประโยชน์ และสามารถก่ออันตรายต่ออวัยวะอื่น เช่น การเอกซเรย์ หรือการใช้เครื่องซีทีสแกน ซึ่งมีรังสีมากกว่าการเอกซเรย์ 100 เท่า เป็นต้น และมีโอกาสจะเกิดผลบวกลวงขึ้น

"การวิจัยดังกล่าวผ่านความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ และราชวิทยาลัยต่างๆ จะเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปใช้ประกอบการทำงานเชิงนโยบายต่อไป โดยโปรแกรมการตรวจคัดกรองที่ HITAP เสนอจะมี 12 เรื่อง ซึ่งประชาชนควรรับทราบข้อดี ข้อเสียของการตรวจสุขภาพ เพื่อช่วยประหยัดงบประมาณด้วย" นพ.ยศกล่าว

ที่มา--ข่าวสด ฉบับวันที่ 26 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--