ประเทศไทยเรามีการปฎิรูประบบบริการสุขภาพมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอและเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน จนกระทั่งปัจจุบันได้รับเสียงชื่นชม จากนานาชาติเกี่ยวกับนโยบายหลักประกันสุขภาพของไทยที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการการรักษาพยาบาลและส่งเสริมสุขภาพได้ทุกระดับครอบคลุมและทั่วถึง
จากข้อมูลภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทย ปีละกว่าแสนล้านบาทนี้ แสดงให้เห็นถึงการแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชนที่ไม่ยั่งยืน ประชาชนยังเจ็บป่วย ด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ที่สามารถป้องกันได้เป็นส่วนใหญ่ การเข้าถึงบริการสุขภาพยังไม่เท่าเทียมกัน รวมทั้งยังขาดการส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคที่จริงจัง
ด้วยเหตุนี้ กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบาย ปฏิรูประบบบริการสุขภาพของไทย เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนาประเทศ รวมทั้งยุทธศาสตร์เพื่อให้สังคมไทยมุ่งสู่ "สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง" เพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนของสังคมไทยตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียง
นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงนโยบายปฏิรูประบบบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขว่า เนื่องจากในปัจจุบัน คนไทยจำนวนกว่า 65 ล้านคน ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการที่มีมาตรฐานได้อย่างเท่าเทียม ขณะที่สถานพยาบาลก็ยังไม่ได้รับการพัฒนาที่ดีพออย่างที่ประชาชนต้องการ กระทรวงสาธารณสุขจึงมีแนวคิดในการจัดระบบบริการสุขภาพในรูปแบบเครือข่ายแทนการขยายโรงพยาบาลเป็นแห่งๆ โดยใช้หลักการ "เครือข่ายบริการที่ไร้รอยต่อ (Seamless Health Service Network)"
ที่สามารถเชื่อมโยงระบบบริการของสถานพยาบาลทั้ง 3 ระดับเข้าด้วยกัน ทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลศูนย์ / โรงพยาบาลทั่วไปที่สามารถรองรับการส่งต่อตามมาตรฐานระดับจังหวัดได้อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งให้มีการจัดระดับโรงพยาบาลรับผู้ป่วยส่งต่ออีก
"ระบบบริการสุขภาพของไทยจำเป็นต้องได้รับการ ปฏิรูปเพราะหากดูประชาชนภาพรวมในปัจจุบันแล้วเรายังไม่สามารถดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง เราจึงมีการแบ่งพื้นที่บริการสุขภาพของประเทศออกเป็น 12 เครือข่ายบริการสุขภาพ (และ 1 เขต กทม.) แต่ละเครือข่ายบริการสุขภาพจะดูแลประชากรประมาณ 4-6 ล้านคนซึ่งเป็นขนาดที่ดูแลได้ดี สามารถจะลงทุนแล้วคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์ ถ้าเล็กไปแล้วเราไปลงทุน ก็ไม่ไหว ถ้าใหญ่เกินไปเราก็ดูแลไม่ทั่วถึง การแบ่งพื้นที่ออกเป็น 12 เครือข่ายบริการสุขภาพจะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีมาตรฐาน มีเครือข่ายบริการที่ไร้รอยต่อ เช่น ในแต่ละเครือข่ายจะสามารถผ่าตัดหัวใจได้ รักษาโรคมะเร็งได้ รักษาโรคไตได้ เป็นต้น นับเป็นการกระจายอำนาจที่สามารถดูแลสุขภาพประชาชนได้ดี"
สำหรับเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูประบบบริการสุขภาพนี้ นพ.โสภณ กล่าวว่า การจัดระบบบริการสุขภาพดังกล่าวจะช่วยลดอัตราการตายด้วยโรคสำคัญๆ ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ โดยเครือข่ายบริการทั้ง 12 เครือข่าย จะดำเนินการบริหารจัดการร่วมกันตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ 10 สาขา ได้แก่ สาขาโรคหัวใจ สาขาทารกแรกเกิด สาขาโรคมะเร็ง สาขาอุบัติเหตุ สาขาโรคตา สาขาโรคไต สาขาโรคจิตเวช สาขาทันตกรรม สาขาโรคไม่ติดต่อ รวมทั้งสาขาปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และสุขภาพองค์รวม โดยทั้ง 10 สาขาดังกล่าวนี้มีจังหวัดนำร่อง เช่น สาขาโรคหัวใจที่ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์, สาขาทารกแรกเกิด ที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต จ.ภูเก็ต, สาขาโรคมะเร็ง ที่โรงพยาบาลหนองบัวลำภู และโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี, สาขาโรคตา ที่โรงพยาบาลอุดรธานี เป็นต้น
"โรคมะเร็ง อุบัติเหตุ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด ฯลฯ เป้าหมายคือ เราต้องจัดการโรคเหล่านี้... ทำอย่างไรจะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการและจัดการปัญหาที่ประชาชนประสบอยู่ให้ได้ เพราะแต่ละพื้นที่ก็มีอัตราการตายด้วยโรคต่างๆ ที่ไม่เท่ากัน ทำไมบางแห่งเสียชีวิตมากกว่าที่อื่น เช่น โรคหัวใจเพราะไม่มีหมอผ่าตัดหัวใจ ตรงนี้ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน ถ้าเราแบ่งเครือข่ายบริการสุขภาพอย่างนี้จะช่วยได้เยอะ แล้วก็สามารถให้บริการเบ็ดเสร็จในแต่ละเครือข่ายของเขา เป้าหมายคือลดอัตราการตายให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ให้เกิด ความเท่าเทียมกันทั้ง 12 เครือข่ายทั่วประเทศ สรุปก็คือ 1) ลดอัตราตาย 2) ลดอัตราป่วย 3) เข้าถึงบริการ และ 4) การไม่ต้องรอคิวรักษานาน เช่น คิวผ่าตัด ต้อกระจก คิวผ่าตัดโรคหัวใจ นอกจากนี้ ยังหมายถึงประสิทธิภาพด้วย"
นพ.โสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า "สำหรับยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการปฎิรูประบบบริการสุขภาพ มี 5 ประเด็นหลัก คือ 1) บริหารจัดการ 12 เครือข่ายโดยการ ใส่ทรัพยากรลงไปให้เท่าๆ กัน 2) ระบบบริการทั้ง 10 สาขา กระทรวงสาธารณสุขจะดูตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ (Primary care) คือ รพ.สต. ขึ้นไปจนถึงศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Excellent Center) โดยจะสามารถดูแลครอบคลุมประชาชนคนไทยทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่กลุ่มเด็ก สตรี กลุ่มปฐมวัย กลุ่มวัยรุ่น คนทำงาน และผู้สูงอายุ 3) พี่น้องช่วยกัน คือการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกันในแต่ละเครือข่ายทั้งเตียง เครื่องมือ บุคลากร ยา ฯลฯ โดยจะมีการประสานเชื่อมโยงข้อมูลและใช้งบประมาณร่วมกันภายในเครือข่ายบริการสุขภาพ 4) การวางแผนเรื่องกำลังคน การพัฒนาแต่ละเขตต้องดูว่าบุคลากรมีความพร้อมมากน้อยเพียงใด หากยังขาดความพร้อมจะมีการพัฒนาบุคลากรโดยการส่งไปเรียนต่อในสาขาที่ขาดแคลน 5) อาคารสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก เรื่องนี้จะพัฒนาในภายหลังเพราะใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท เบื้องต้นต้องแบ่งปันทรัพยากรกันก่อน แล้วพิจารณาถึงความจำเป็นในแต่ละเขตต่อไป"
"แผนการปฏิรูประบบบริการสุขภาพนี้จะใช้ระยะเวลาประมาณ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2556 - 2560 โดย ไม่เน้นไปที่การรักษาเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคอีกด้วย ซึ่งการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของประชาชนชาวไทยลดอัตราตายให้อยู่ในระดับมาตรฐาน ไม่ต้องรอคิวการรักษาหรือการผ่าตัดที่ยาวนานนั้นจะต้องมีความเท่าเทียมกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดไม่เจ็บป่วยด้วยโรคที่สามารถป้องกันได้และหากเจ็บป่วย ก็ได้รับการดูแลที่ดีมีมาตรฐาน มีระบบส่งต่อที่มีคุณภาพ ไม่เสียชีวิต ด้วยเรื่องที่ไม่จำเป็น นับเป็นการพัฒนาเพื่อให้การเข้าถึงระบบบริการสุขภาพเป็นไปอย่างทั่วถึงและคลอบคลุม ผู้ป่วยไม่ต้องมารอแน่นเฉพาะโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานคร ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก พูดง่ายๆ ก็คือเราต้องการ ลดป่วย ลดตาย ลดรอคอย ลดค่าใช้จ่าย และบริการได้มาตรฐาน ซึ่งจะเป็น ความยั่งยืนของระบบบริการสุขภาพของคนไทย ในอนาคต" นพ.โสภณ กล่าวในตอนท้าย
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 26 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 277 views