การดูแลเด็กเล็ก 0-5 ปี นับเป็นยุคทองของพัฒนาการเรียนรู้ เพราะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สมองมีการพัฒนาการสูงสุด อันส่งผลต่อสติปัญญา บุคลิกภาพ และความฉลาดทางอารมณ์
การลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด จากผลการศึกษาของ James Heckman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล (2542) ได้ติดตามศึกษาเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษในประเทศต่างๆ พบว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่ช่วงปฐมวัยจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า โดยเด็กที่ได้รับสารอาหารและการดูแลสุขภาพที่ดีในช่วงแรกของชีวิตจะมีทักษะทางกายภาพ IQ และ EQ ที่ดีกว่า มีโอกาสที่จะเข้าเรียนจนถึงระดับอุดมศึกษาสูงกว่า สามารถลดโอกาสการซ้ำชั้นหรือออกกลางคัน และมีโอกาสเป็นกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ มีรายได้สูงในอนาคต
สำหรับการดูแลเด็กปฐมวัยในประเทศไทยพบว่า เด็กวัย 0-2 ปีจะอยู่ในการดูแลของผู้ปกครอง และเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 3-5 ปีจะส่งเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กปฐมวัยต่างๆ เช่น โรงเรียนอนุบาล หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ภายใต้การดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในปี 2554 มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้งสิ้น 19,718 แห่ง เด็กปฐมวัย 911,143 คน และครูผู้ดูแลเด็ก/ผู้ดูแลเด็ก 51,193 คน กล่าวคือ ครู/ผู้ดูแลเด็ก 1 คน ต้องรับผิดชอบเด็กปฐมวัย 17 คน
ซึ่งจากผลการศึกษาของสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2550 พบว่าการจัดการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัยของท้องถิ่นยังมีอุปสรรคจากการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ด้วยข้อจำกัดของคุณภาพและมาตรฐานของการจัดการเรียนรู้แก่เด็กปฐมวัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขนาดใหญ่และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขนาดเล็ก ครูผู้ดูแลเด็กและผู้ดูแลเด็กไม่ได้รับการพัฒนาศักยภาพด้านการจัดทำหลักสูตรเท่าที่ควร และปัญหาการจัดสรรงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับสภาพจริง
โครงการศักยภาพภูมิปัญญาท้องถิ่น (Capacity of a Community Treasures : COACT) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ออกแบบระบบกลไกการทำงานของ "ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ" การพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีสุขภาวะที่ดีทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และสังคมที่สมวัย ต้องอาศัยการเชื่อมประสานและทำงานร่วมกันใน 3 ระบบ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะผู้ดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ระบบสุขภาพผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และระบบสนับสนุนด้านการศึกษาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลศรีษะเกษ อ.นาน้อย จ.น่าน จึงถือเป็นรูปธรรมของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ ที่เกิดจากกลไกการทำงานร่วมกันของ 3 ระบบ
จากเดิมเทศบาลตำบลศรีษะเกษมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 8 แห่ง ในแต่ละศูนย์เด็กจะเรียนรวมกันไม่มีการแยกอายุ เพราะขาดแคลนผู้ดูแลเด็ก ในปี พ.ศ.2552 จึงมีการรวมศูนย์ทั้ง 8 แห่งเข้าด้วยกัน เพื่อให้มีงบประมาณที่เพียงพอในการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้เกิดประสิทธิภาพ
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลศรีษะเกษจึงเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งเดียวที่เกิดจากการยุบรวมกันของทั้ง 8 ศูนย์ ทำให้มีการแยกเด็กที่มีอายุต่างกันอยู่คนละห้อง มีการพัฒนาศักยภาพครูโดยการเปิดโอกาสให้ครูไปศึกษาเพิ่มเติมเรื่องการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
ปัจจุบันศูนย์แห่งนี้ให้การดูแลเด็กปฐมวัย 2-5 ปี จำนวน 179 คน และในจำนวนนี้มีเด็กที่มีความบกพร่องจำนวน 3 คน ครูผู้ดูแลจำนวน 13 คน โดยให้การดูแลเด็กในอัตราส่วนครูต่อนักเรียน 1:14 คน โดยกำหนดวิสัยทัศน์ว่า "เด็กมีพัฒนาการสมวัย ผู้ดูแลเด็กมีศักยภาพ ชุมชนมีส่วนร่วม มุ่งสู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ"
เทศบาลตำบลศรีษะเกษได้สนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน โดยครูและผู้ดูแลร่วมกับนักวิชาการในการวิเคราะห์สถานการณ์การเลี้ยงดูเด็กในชุมชน วิเคราะห์ทุนทางสังคม และศักยภาพของพื้นที่เพื่อนำข้อมูลมานำเสนอแก่ชุมชน เพื่อให้เกิดการร่วมวางแผน ร่วมแก้ปัญหา
โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานในพื้นที่ที่มาจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่ ผู้นำชุมชน ปราชญ์ ครอบครัว ที่สมัครใจเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน ดังเช่นการแก้ปัญหาความปลอดภัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ไม่มีรั้วกั้น ซึ่งอาจเกิดอันตรายจากวัว ควาย และสัตว์ต่างๆ เข้ามาในบริเวณศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และบริเวณด้านหลังของศูนย์ฯ มักเกิดไฟป่าบ่อยครั้ง
แต่เนื่องจากงบประมาณของเทศบาลมีไม่เพียงพอสำหรับสร้างรั้วทั้ง 4 ด้าน ผู้นำชุมชนจึงประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมบริจาคไม้และช่วยกันสร้างรั้ว ส่วนเทศบาลจะสนับสนุนอุปกรณ์และงบประมาณสร้างรั้วคอนกรีตด้านหลังของศูนย์เพื่อป้องกันอันตรายจากไฟป่า
ขณะที่เมื่อพบปัญหาพัฒนาการและสุขภาพเด็ก ทั้งในด้านโภชนาการและปัญหาโรคติดเชื้อต่างๆ ครูและผู้ดูแลจะแจ้งให้ผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลศรีษะเกษทราบ เพื่อวางแผนดำเนินการให้การช่วยเหลือและติดตามเยี่ยมบ้านเด็กแต่ละรายสม่ำเสมอทุกเดือน พร้อมทั้งให้คำแนะนำแก่ครูและผู้ปกครองในการดูแลเด็กเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพ และหากไม่สามารถดูแลรักษาและแก้ปัญหาให้ดีขึ้นได้จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลชุมชน เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลเฉพาะทาง
นายอดุลย์ภัทร เหมภัทรสุวรรณ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลศรีษะเกษ กล่าวว่า ทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญของการบริหารประเทศ ซึ่งในสมัยที่ตนเป็นนายกเทศมนตรีฯ ครั้งแรก เห็นว่าการมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กถึง 8 ศูนย์จะขาดคุณภาพ เพราะติดขัดในเรื่องงบประมาณ การบริหารจัดการ และกำลังคน ก่อนจะยุบจึงทำประชาพิจารณ์โดยการประชุมผู้ปกครองใน 14 หมู่บ้าน จากนั้นจึงเริ่มดำเนินการยุบรวมศูนย์ฯ และมีการซื้อรถ ซึ่งพบว่าประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการจ้างรายเดือนเพื่อรับส่งเด็กในแต่ละหมู่บ้าน ทำให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของเทศบาลในปัจจุบันมีประสิทธิภาพ
"สิ่งสำคัญอยู่ที่ทีมงานและการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ทั้งเทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รพ.สต. มาร่วมกันจนได้รับรางวัลในเรื่องของสุขภาพ ทำให้เกิดไฟในการดูแลเด็กอย่างต่อเนื่อง ผมจึงประสานให้ รพ.สต. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก วัด และโรงเรียนต้องทำงานร่วมกัน เพราะทุกฝ่ายเกี่ยวข้องกับเด็ก รวมถึงการจัดทำระบบฐานข้อมูลเด็ก เพราะถ้าไม่มีระบบฐานข้อมูลแล้ว การทำงานจะลำบาก" นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลศรีษะเกษกล่าว
นางดวงจันทร์ ติ๊บน้อย หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลศรีษะเกษ กล่าวว่า ศูนย์แห่งนี้จะทำงานเชื่อมโยงระหว่าง รพ.สต. เพื่อดูแลสุขภาพเด็กเล็กและโรงเรียน โดยจะมีสมุดบันทึกข้อมูลเด็กทั้งทางสุขภาพและพัฒนาการเรียนรู้ โดยวันแรกที่ผู้ปกครองพาลูกมาสมัครจะถ่ายเอกสารสมุดสีชมพูบันทึกสุขภาพเด็กหลังคลอด เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานทางสุขภาพของเด็ก และจะมีการประเมินพัฒนาการของเด็กทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ปีละ 2 ครั้ง พร้อมกับเชิญแพทย์มาร่วมให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง
"ข้อมูลของเด็กจะถูกส่งต่อไปยังโรงเรียนเมื่อเด็กเข้า ป.1 ทำให้เด็กถูกดูแลอย่างต่อเนื่อง ครูที่รับช่วงต่อจะได้ทราบพัฒนาการของเด็กว่าเป็นอย่างไรเพื่อดูแลเป็นรายกรณี เพราะบางรายพบว่าเด็กมีปัญหาคือ ไม่ยอมพูด จึงมีการออกติดตามร่วมกันของครูและเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ทำให้รับรู้ว่าแม่ของเด็กเป็นโรคประสาท ครูจึงรู้ภูมิหลังของเด็ก ทั้งครูและ รพ.สต.จึงร่วมเข้ามาดูแล" หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลศรีษะเกษกล่าว
นายณรงค์ ถาต๊ะวงศ์ ผู้อำนวยการ รพ.สต.ศรีษะเกษ กล่าวว่า ในการเชื่อมต่อการทำงานร่วมกัน ได้จัดทำเป็น "ภาคีเครือข่ายสุขภาพ" โดยมีคณะกรรมการที่มาจากนายกเทศมนตรีฯ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้นำภูมิปัญญาพื้นบ้าน เจ้าหน้าที่ รพ.สต. และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
ซึ่ง รพ.สต.จะดูเรื่องการคัดกรองสุขภาพเด็ก ว่าเด็กมีพัฒนาการที่สมวัยหรือไม่ และเป็นผู้คัดกรองเด็กที่มีความผิดปกติ โดยทำหน้าที่ประสานไปยังโรงพยาบาลนาน้อย และโรงพยาบาลน่าน เพื่อส่งต่อการรักษา และหากพบว่าเด็กมีปัญหาด้านสังคม เทศบาลก็จะประสานพัฒนาสังคมเข้ามาดูแล
นอกจากนี้ ได้มีการเยี่ยมบ้านร่วมกับครูในกรณีที่พบว่าเด็กมีปัญหา เช่น เด็กน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มากๆ ก็จะดูถึงสภาพความเป็นอยู่ที่บ้าน อาหารที่เด็กรับประทานเป็นประจำ ทั้งนี้ การทำงานที่เชื่อมต่อกันในระดับตำบลและชุมชนนั้น เราจะไม่แบ่งว่าใครมาจากกระทรวงใด เพราะเด็กเหล่านี้เป็นลูกหลานของเรา และเป็นอนาคตของตำบลเช่นกัน
หากบูรณาการผู้เกี่ยวข้องได้สำเร็จ การแก้ปัญหาเด็กๆ ก็จะง่ายขึ้น และเกิดประสิทธิ ภาพอย่างเช่นชุมชนศรีษะเกษ จ.น่าน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 24 สิงหาคม 2556
- James Heckman
- IQ
- EQ
- การดูแลเด็กเล็ก
- โรงเรียนอนุบาล
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน
- มหาวิทยาลัยมหิดล
- โครงการศักยภาพภูมิปัญญาท้องถิ่น
- Capacity of a Community Treasures
- COACT
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
- เทศบาลตำบลศรีษะเกษ
- นาน้อย
- น่าน
- อดุลย์ภัทร เหมภัทรสุวรรณ
- ดวงจันทร์ ติ๊บน้อย
- ณรงค์ ถาต๊ะวงศ์
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลศรีษะเกษ
- 497 views