Hfocus -หลังจากปัญหานโยบายการปรับค่าตอบแทนบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ของ “นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์” รัฐมนตรีว่าการสธ. กับกลุ่มบุคลากรโรงพยาบาลชุมชน นำโดยชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งล่าสุดเรียกตัวเองว่า เครือข่ายสหวิชาชีพและกลุ่มบริหารโรงพยาบาลชุมชน เริ่มคลี่คลายลงภายหลังได้หารือร่วมสามฝ่าย คือ ฝ่ายสธ. ฝ่ายเครือข่ายสหวิชาชีพฯ และรัฐบาล โดยตั้งคณะทำงานร่วมขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ที่เรียกว่า คณะทำงานจัดทำข้อเสนอการดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีดร.คณิศ แสงสุพรรณ เป็นประธาน
โดยคณะทำงานชุดนี้ได้ตั้งคณะทำงานย่อย 3 ชุด ได้แก่
1.คณะทำงานชดเชย เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ มี พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา นพ.สสจ.นครศรีธรรมราช เป็นประธาน หน้าที่หลักคือ หาแนวทางการชดเชยเยียวยาว่า หากใครได้รับเงินน้อยกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญก็จะได้รับการเยียวยาชดเชย
2.คณะทำงานกำหนดตัวชี้วัดและการประเมินผล (KPI) ของโรงพยาบาลชุมชน มี นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เป็นประธาน และ
3.คณะทำงานชุดย่อย กลุ่มผู้ปฏิบัติงานอื่น ที่อาจจะมีบางจุดเล็กๆที่ต้องปรับให้ได้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมทุกวิชาชีพ มี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัด สธ.เป็นประธาน
สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ในการประชุมคณะทำงานฯ ที่มีดร.คณิศ เป็นประธานเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น ดูเหมือนว่าประเด็นที่ได้ข้อสรุปมากที่สุด คือ ประเด็นการจ่ายเงินเยียวยาสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าตอบแทนอัตราใหม่ ซึ่งจะย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 ซึ่งเริ่มประกาศใช้หลักเกณฑ์จ่ายค่าตอบแทนฉบับ 8 เป็นวันแรก แต่ขณะนั้นไม่สามารถประกาศใช้ได้ เพราะกลุ่มโรงพยาบาลชุมชนไม่เห็นด้วยนั้น จึงต้องมีมาตรการเยียวยาย้อนหลังผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งยังไม่ได้รับค่าตอบแทน โดยหลักเกณฑ์ในการเยียวยาคือให้นำค่าตอบแทนเดิมตามฉบับ 4 และ 6 เป็นตัวตั้ง แล้วลบด้วยค่าตอบแทนฉบับ 8 หากได้รับค่าตอบแทนน้อยลงก็ให้ชดเชยตามส่วนต่างดังกล่าว
ซึ่งล่าสุด “นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช ในฐานะอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ออกมาพูดว่า ที่ประชุมรับปากจะเดินหน้าดำเนินการมาตรการเยียวยาภายในสัปดาห์หน้าให้แล้วเสร็จ พร้อมจ่ายจริงภายในเดือนสิงหาคมนี้ แต่ประเด็นที่น่ากังวลคือ การกำหนดตัวชี้วัดและการประเมินผล (KPI) ของโรงพยาบาลชุมชน และการจัดทำประกาศค่าตอบแทนฉบับใหม่ ซึ่งอิงฉบับ 4 และ 6 ให้เป็นฉบับ 10 กลับไม่มีความคืบหน้า แต่กลับประกาศชัดเจนว่า จะเดินหน้านโยบายปรับค่าตอบแทนอัตราใหม่ในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ซึ่งหากเป็นจริงเรื่องนี้คงไม่จบง่ายๆ
นพ.อารักษ์ ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับการพิจารณาตัวชี้วัดตามผลการปฏิบัติงานหรือที่ สธ.เรียกว่า พีฟอร์พี (Pay for Performance) แต่ทางโรงพยาบาลชุมชนมองว่าไม่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ จึงมีการตั้งคณะทำงานชุดย่อย กำหนดตัวชี้วัดและการประเมินผล (เคพีไอ) ของโรงพยาบาลชุมชนเอง ซึ่งเรียกว่า พีคิวโอ ( Pay for Quality and Outcome) โดยที่ประชุมได้รับร่างตัวชี้วัดที่ทางรพช.จัดทำ มีทั้งหมด 20 เกณฑ์โดยเน้นผลลัพธ์ที่เกิดกับคนไข้เป็นหลัก ซึ่งตรงนี้ยังมีรายละเอียดในระดับพื้นที่ เพราะแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน เช่น เรื่องแม่และเด็ก ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ อาจต้องพิจารณาเรื่องเสี่ยงภัย เพราะหากจะให้ลงพื้นที่บ่อยๆ ก็มีความเสี่ยง ตรงนี้ต้องพิจารณาเชิงพื้นที่ด้วย
“ที่น่ากังวล อยู่ที่ประเด็นการประกาศนโยบายค่าตอบแทนอัตราใหม่ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะใช้ฉบับไหนกันแน่ เพราะฉบับใหม่ที่มีปัญหา บุคลากรโรงพยาบาลชุมชนถูกลดค่าตอบแทนลงไปมาก จึงขอให้ปรับปรุงใหม่เป็นฉบับ 10 แต่คงเนื้อหาเดิมของฉบับ 4 และ 6 ซึ่งตรงนี้ที่ประชุมยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยที่ประชุมระบุว่าต้องคำนึงถึงวิชาชีพอื่นด้วย ซึ่งเราไม่ได้คัดค้าน เราเห็นด้วยว่าทุกวิชาชีพต้องได้ค่าตอบแทนที่เท่าเทียม แต่จะดีกว่าหรือไม่ หากมีการประกาศนโยบายค่าตอบแทนฉบับที่ 10 ที่เสนอไปก่อน เพราะจะทำให้ไม่ต้องมาจ่ายเงินเยียวยาเพิ่มเติมอีก เนื่องจากบุคลากรสาธารณสุขยังไม่ได้ค่าตอบแทนเสียที ดังนั้น หากมีการประกาศใช้ฉบับ 10 ก็จะช่วยลดปัญหาตรงนี้ และหากต้องการเพิ่มเติมก็ให้ทำเป็นฉบับ 10.1 ทั้งหมดเป็นการทำงานเป็นขั้นเป็นตอน น่าจะดีกว่าหรือไม่” อดีตประธานชมรมฯ กล่าว
เรื่องนี้ชมรมแพทย์ชนบทมองว่า คณะทำงานฯควรเริ่งดำเนินการและให้คำตอบโดยเร็วภายในสัปดาห์นี้ หากไม่มีความชัดเจนทางเครือข่ายสหวิชาชีพฯ จะมีการหารือถึงแนวทางการเคลื่อนไหว ซึ่งอาจต้องขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อขอความชัดเจนจริงๆอีกครั้ง
ขณะที่ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล คนที่ 2 กลับมองว่า การคงประกาศค่าตอบแทนฉบับ 4 และ 6 โดยปรับเป็นฉบับ 10 ตามที่ชมรมแพทย์ชนบทเสนอนั้น สิ่งสำคัญคือ มีความเป็นธรรมกับวิชาชีพอื่นๆ จริงหรือไม่ เพราะฉบับเดิม พยาบาลและแพทย์ก็ยังมีค่าตอบแทนที่ห่างไกลถึง 28 เท่า ซึ่งไม่เป็นธรรมกับพยาบาล เพราะในความเป็นจริงการทำงานต้องร่วมกันทุกวิชาชีพ เมื่อแพทย์ไม่อยู่ พยายามก็จะอยู่ดูแลคนไข้ ซึ่งเป็นหลักในการทำงานร่วมกันของแต่ละสถานพยาบาลอยู่แล้ว ดังนั้น การคิดคำนวณค่าตอบแทนก็ต้องเป็นธรรมทุกฝ่ายจริงๆ
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบค่าตอบแทนของแพทย์ และพยาบาล ในโรงพยาบาลชุมชนระดับต่างๆ เทียบระหว่างประกาศฉบับ 4 และ 6 ของเดิม และฉบับใหม่ที่ชมรมแพทย์ชนบทเสนอเป็นฉบับที่ 10 ซึ่งในส่วนของแพทย์ไม่มีการเพิ่มอัตราค่าตอบแทน แต่เพิ่มให้ในวิชาชีพอื่นแทน ยกตัวอย่าง ดังนี้ โรงพยาบาลชุมชนระดับ 2.3 และพื้นที่ชุมชนเมือง เดิมที่ทำงานระยะเวลา 1-3 ปี ได้รับค่าตอบแทน 10,000 บาท พยาบาลวิชาชีพได้รับ 1,200 บาท ขณะที่ฉบับ 10.1 ที่โรงพยาบาลชุมชนเสนอนั้น จะเพิ่ม 600 บาทให้พยาบาลเป็น 1,800 บาท ส่วนระยะเวลาทำงาน 4-10 ปี เดิมทีแพทย์ได้รับค่าตอบแทน 20,000 บาท พยาบาล 1,800 บาท ฉบับ10.1 เพิ่ม 700 บาท พยาบาลจะเพิ่มเป็น 2,500 บาท เป็นต้น
ขณะที่ โรงพยาบาลชุมชนระดับ 2.2 พื้นที่ปกติ เดิมที่ทำงานระยะเวลา 1-3 ปี แพทย์ได้รับค่าตอบแทน 10,000 บาท พยาบาล 1,200 บาท ฉบับ10.1 เพิ่ม 600 บาท โดยพยาบาลจะได้รับเพิ่มเป็น 1,800 บาท ส่วนระยะเวลา 4-10 ปี เดิมแพทย์ได้รับค่าตอบแทน 25,000 บาท พยาบาล 1,800 บาท ฉบับ10.1 เพิ่ม 700 บาท แพทย์ได้รับ 25,000 บาท พยาบาล 2,500 บาท เป็นต้น
ส่วน โรงพยาบาลชุมชนระดับ 2.2 พื้นที่ทุรกันดาร ระดับ 1 เดิมที่ทำงานระยะเวลา 1-3 ปี แพทย์ได้รับค่าตอบแทน 20,000 บาท พยาบาล 1,500 บาท ฉบับ10.1 เพิ่ม 600 บาท แพทย์ 20,000 บาท พยาบาล 2,100 บาท ระยะเวลาทำงาน 4-10 ปี เดิมแพทย์ได้รับ 35,000 บาท พยาบาล 2,000 บาท ฉบับ10.1 เพิ่ม 700 บาท แพทย์ได้รับ 35,000 บาท พยาบาล 2,700 บาท เป็นต้น
โรงพยาบาลชุมชนระดับ 2.2 พื้นที่ทุรกันดาร ระดับ 2 เดิมที่ทำงานระยะเวลา 1-3 ปี แพทย์ได้รับค่าตอบแทน 30,000 บาท พยาบาล 3,000 บาท ฉบับ10.1 เพิ่ม 600 บาท แพทย์ 30,000 บาท พยาบาล 3,600 บาท ส่วนระยะเวลา 4-10 ปี แพทย์ได้รับค่าตอบแทน 45,000 บาท พยาบาล 3,500 บาท ฉบับ10.1 เพิ่ม 700 บาท แพทย์ 45,000 บาท พยาบาลจะได้เพิ่มเป็น 4,200 บาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ ดร.กฤษดา ฝากไว้ว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การคำนวณสัดส่วนค่าตอบแทนต้องไม่แตกต่างกันจนเกินไป ซึ่งได้หารือร่วมกับพยาบาลทุกระดับ ต่างเห็นเหมือนกันว่า ควรอ้างอิงจากสัดส่วนของการจ่ายค่าล่วงเวลา (โอที) เช่น แพทย์ทำโอที 8 ชั่วโมงได้เงิน 1,100 บาท เภสัชกร ทำโอที 8 ชั่วโมง ได้เงิน 720 สัดส่วนจะอยู่ที่ประมาณ 60% พยาบาลทำโอที 8 ชั่วโมง ได้เงิน 600 บาท สัดส่วนจะอยู่ที่ 55% การจ่ายค่าตอบแทนตามฉบับ 8 ก็อยากจะให้อ้างอิงตามสัดส่วนนี้คือ เภสัชกรได้ค่าตอบแทนอยู่ที่ 60% ของแพทย์ พยาบาลได้อยู่ที่ 55% ของค่าตอบแทนแพทย์ เป็นต้น ซึ่งได้เสนอแนวทางดังกล่าวให้กับทางคณะทำงานฯ ชุดดร.คณิศ เป็นประธาน พิจารณา ส่วนจะเป็นอย่างไรคงต้องติดตาม แต่หวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมในทุกวิชาชีพอย่างแท้จริง
- 6 views