ภาคประชาชนหลักประกันสุขภาพ 4 จังหวัดชี้ หากได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลสามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือได้ พร้อมแจงผลงานรอบ 7 เดือน ปี 2556 รับเรื่องช่วยเหลือกว่า 129 เรื่อง

วันที่ 22 สิงหาคม 2556 ที่โรงแรมสาเกตุนคร จ.ร้อยเอ็ด กลไกประสานงานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน 4 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์  ขอนแก่น มหาสารคาม  และ ร้อยเอ็ด จัดการแถลงผลการดำเนินงานให้คำปรึกษา รับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ ของศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน 4 จังหวัด ในช่วงเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2556 พบว่ามีผู้มาขอรับคำปรึกษาในเรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพ การรักษาพยาบาลทั้ง 4 จังหวัด รวม 129 เรื่อง โดยแบ่งเป็น

การขอรับความช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล จำนวน 9 เรื่อง ได้รับการช่วยเหลือ 4 เรื่อง

1.การร้องเรียนที่เกี่ยวกับคุณภาพและมาตรฐานการรักษาพยาบาล จำนวน 30 เรื่อง

2.พฤติกรรมบริการ ไม่ได้รับความสะดวกในการเข้ารับบริการ จำนวน 10 เรื่อง

3.การถูกเรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาลโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บ จำนวน 1 เรื่อง

4.การขอรับคำปรึกษาด้านสิทธิประโยชน์ และอื่นๆ จำนวน 79 เรื่อง

นางอาภรณ์ อะทาโส ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้ประสานงานเพื่อขอรับการช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จำนวน 3 เรื่อง ได้รับการช่วยเหลือทั้ง 3 เรื่อง โดยเรื่องที่ภาคภูมิใจคือ ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจที่เสียชีวิตในระหว่างการรักษา เนื่องจากความผิดพลาดในการรักษา ซึ่งคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น จังหวัดขอนแก่น ได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือญาติผู้เสียชีวิตจำนวน 360,000 บาท 

นายปฏิวัติ  เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ในส่วนของขอนแก่นนั้นก็มีกรณีการประสานงานเพื่อขอรับการช่วยเหลือเบื้องต้นฯ จำนวน 3 เรื่อง ได้รับการช่วยเหลือ 1 เรื่อง ไม่ได้รับการช่วยเหลือ  1 เรื่อง และอยู่ในช่วงของการรวบรวมเอกสารเพื่อส่งให้กรรมการพิจารณา 1 เรื่อง โดยเรื่องที่ได้รับการช่วยเหลือกรณีไปถอนฟันและใส่ฟันปลอมที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แต่ผลจากการรักษาทำให้ เกิดปากอาการเบี้ยว ขากรรไกรค้าง และติดเชื้อจนเสียชีวิต ทั้งที่ก่อนการรักษาผู้ป่วยซึ่งมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ญาติของผู้ป่วยจึงมาขอรับคำปรึกษาทางศูนย์จึงประสานงานเพื่อขอรับความช่วยเหลือให้ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ จ.ขอนแก่น ได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือญาติผู้เสียชีวิตจำนวน 320,000 บาท  เช่นกัน

ทั้งนี้ ผู้ใช้ “สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “สิทธิบัตรทอง 30 บาท รักษาทุกโรค” หากเข้ารับการรักษาพยาบาลแล้ว เกิดปัญหาที่ไม่คาดคิด ทำให้ผู้ป่วยได้รับความเสียหายจากการเข้ารับบริการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็มีกลไกในการบรรเทาปัญหาและเยียวยาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น เป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ป่วยและ โดยการช่วยเหลือเป็นการเยียวยาหรือบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น  โดยการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือนั้น คณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ระดับจังหวัด จะเป็นผู้พิจารณาว่าเข้าเกณฑ์ที่ควรจะได้รับความช่วยเหลือหรือไม่ และหากเข้าเกณฑ์ จะจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นจำนวนเท่าใด

โดยแบ่งเป็น 3 กรณี คือ 1. กรณีเสียชีวิตหรือพิการถาวรช่วยเหลือตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท 2. กรณีบาดเจ็บร้ายแรงหรือพิการช่วยเหลือตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท 3. กรณีติดเชื้อรุนแรงและกรณีความเสียหายอื่นๆ  ช่วยเหลือไม่เกิน 100,000 บาท ผู้ที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือ คือ ผู้ป่วย ทายาท ผู้อุปการะ หรือ โรงพยาบาล จะยื่นให้ก็ได้ แต่ต้องยื่นคำร้องภายในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ทราบความเสียหาย อย่างไรก็ตามความเสียหายจะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดการรักษาพยาบาล หรือเหตุสุดวิสัยในระบบการรักษาพยาบาลเท่านั้น และสามารถยื่นเรื่องได้ที่โรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน หรือ หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50(5) หรือที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  (สปสช.)

นอกจากนั้นทางกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้มีข้อเสนออื่นๆ ดังนี้

ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการสร้างหลักประกันสุขภาพ

ให้รัฐบาลเร่งออก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ….. เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขทุกสิทธิ

ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว

ข้อเสนอเพื่อขับเคลื่อนระบบสุขภาพในพื้นที่ 4 จังหวัด (กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และ ร้อยเอ็ด)

ขอให้หน่วยงานด้านสุขภาพในพื้นที่เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้การบริการประชาชนในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ลดการรอคิวรักษาพยาบาล และขอให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนนโยบายจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P) เพราะเป็นการเพิ่มภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในการเก็บข้อมูลการรักษาพยาบาล และยังไม่สะท้อนให้เกิดการดำเนินงานเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและการรักษาพยาบาลอย่างแท้จริง

คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับจังหวัด ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผลการให้บริการของโรงพยาบาลในพื้นที่ จะต้องทำหน้าที่อย่างจริงจัง โดยเฉพาะอนุกรรมการที่มาจากภาคประชาชน และต้องทำงานเชื่อมประสานกับคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นระดับจังหวัด (มาตรา 41) เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพบริการโรงพยาบาล

ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน, หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ 4 จังหวัด ร้อยแก่นสารสินธุ์ พร้อมยืนยันบทบาทของภาคประชาชนในการร่วมสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ลดความขัดแย้งระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาล เร่งสร้างระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว ที่เท่าเทียม ทั่วถึง และได้มาตรฐาน

ทางกลุ่มยืนยันที่จะให้รัฐบาลและกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐ ทั้ง 3 กองทุน คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ รวมเป็นระบบเดียวกัน เพื่อให้เกิดการบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ  รวมถึงการเพิ่มงบประมาณด้านสุขภาพอย่างเหมาะสมเพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาล รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และกฎหมายที่ประชาชนได้ร่วมสร้างมาตั้งแต่ต้น