รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่ง สบส.เอาผิด'แพทย์-เทคนิคการแพทย์' เถื่อนที่ตรวจสุขภาพนักเรียน จ.สระบุรี มอบ สสจ.ทั่วประเทศชี้แจงโรงเรียนและสถานประกอบการในพื้นที่
กรณีที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งส่งทีมแพทย์ และเทคนิคการแพทย์ไปตรวจสุขภาพครูและนักเรียนโรงเรียนสระบุรีวิทยาคม จ.สระบุรี แต่ได้ตรวจโรคไม่ถูกต้องตามหลักการแพทย์ อาทิ เจาะเลือดโดยไม่เปลี่ยนเข็ม ฯลฯ ซึ่งขณะนี้ตำรวจและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อยู่ระหว่างดำเนินคดีนั้น
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม นพ. ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งการให้สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ดำเนินคดีกับบริษัทที่ตรวจสุขภาพนักเรียนดังกล่าว เนื่องจากตามกฎหมายการคุ้มครองสุขภาพประชาชน บริษัทต่างๆ ไม่สามารถดำเนินการตรวจสุขภาพ หรือจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ได้ แม้ว่าการตรวจสุขภาพจะไม่มีการสั่งรักษาก็ตาม ทั้งนี้ หน่วยงานที่สามารถจัดหน่วยตรวจสุขภาพได้จะต้องเป็นสถานพยาบาลที่มีเตียงรับผู้ป่วยทั้งที่สังกัดภาครัฐและเอกชนเท่านั้น และผู้ปฏิบัติงานจะต้องเป็นผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนการประกอบโรคศิลปะหรือการประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์ หรือนักเทคนิคการแพทย์ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการตรวจสุขภาพ เช่น การตรวจหาความสมบูรณ์ของระบบเลือด การตรวจการทำงานหัวใจ ปอด เป็นต้น
"เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจผู้บริหารโรงเรียนทุกแห่ง และสถานประกอบการที่มีบริการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อให้สามารถเลือกสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย และคุ้มครองมาตรฐานความปลอดภัยแก่นักเรียน และผู้ใช้แรงงานทุกคนตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ซึ่งอยู่ในความดูแลของ สธ. หากสงสัยขอให้ปรึกษาได้ที่ สสจ.ทั่วประเทศ หรือโทร.ปรึกษาที่สายด่วน คุ้มครองบริการสุขภาพ หมายเลข 0-2591-7999 ตลอด 24 ชั่วโมง" นพ.ประดิษฐกล่าว และว่า ในส่วนการติดตามดูแลผลกระทบของครูและนักเรียนที่ จ.สระบุรี โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับการเจาะเลือดโดยไม่มีการเปลี่ยนเข็ม ได้สั่งการให้ สสจ.สระบุรี จัดทีมแพทย์ พยาบาล ไปบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่นักเรียน ครู ผู้ปกครอง เพื่อคลี่คลายความกังวล หากรายที่ต้องการเจาะเลือดซ้ำเพื่อตรวจหาความเสี่ยงการติดเชื้อที่เกิดจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เช่น ไวรัสตับอักเสบบี, ซี เชื้อเอชไอวี หรือตรวจหากรุ๊ปเลือด ตามความสมัครใจ จะให้เป็นบริการฟรี
ทางด้าน น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะได้แจ้งดำเนินคดีบริษัทที่ตรวจสุขภาพ 2 ข้อหา ได้แก่ 1.ข้อหาเป็นสถานพยาบาลเถื่อน ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี จำคุกไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.ข้อหาแพทย์เถื่อนและเทคนิคการแพทย์เถื่อน ซึ่งผู้ที่ดำเนินการตรวจสุขภาพและเจาะเลือด ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและเทคนิคการแพทย์ ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม และ พ.ร.บ.เทคนิคการแพทย์ มีโทษเท่ากัน คือจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ที่มา --มติชน ฉบับวันที่ 24 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 12 views