เจาะข้อมูลการเงินโรงพยาบาล 687 แห่ง เรียงลำดับต้นทุนต่อหน่วยแบบเปอร์เซ็นต์ไทล์ พบยิ่งสูงผลดำเนินการยิ่งติดลบ ภาพรวมขาดทุนกระจุยกว่า 4,000 พันล้านบาท เตรียมเสนอบอร์ด สปสช.ใช้พิจารณาแก้ปัญหาขาดสภาพคล่อง
       
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้คำนวณต้นทุนต่อหน่วย (Unit Cost) จากข้อมูลตั้งแต่ ก.ค. 2555 - มิ.ย. 2556 จากโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) และโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โดยแบ่งเป็น 6 กลุ่มตามขนาดโรงพยาบาล คือ รพช.10-30 เตียง รพช.60-90 เตียง รพช.มากกว่า 90 เตียง รพท.น้อยกว่า 300 เตียง รพท.มากกว่า 300 เตียง และ รพศ.จากนั้นนำต้นทุนต่อหน่วยมาจัดเรียงลำดับโรงพยาบาลในแต่ละกลุ่มขนาดแบบเปอร์เซ็นต์ไทล์ เพื่อใช้พิจารณาส่วนต่างรายได้ต่อรายจ่าย และใช้เป็นเครื่องมือวัดประสิทธิภาพของระบบบริการ โดยจะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด สปสช.) ต่อไป
       
รายงานข่าว ระบุว่า จากการคำนวณส่วนต่างรายได้ต่อรายจ่าย เฉพาะโรงพยาบาลที่มีที่ข้อมูลครบถ้วน จำนวน 687 โรงพยาบาล คิดเป็นร้อยละ 82.28 จากทั้งหมด 835 โรงพยาบาล แบ่งเป็น 4 กลุ่ม พบว่า 1.กลุ่มโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร และได้รับความยากลำบากตามประกาศของ สธ.มีทั้งสิ้น 161 แห่ง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทันที โดยมีภาพรวมรายได้หักรายจ่ายติดลบอยู่จำนวน 1,625.07 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะอยู่ในโรงพยาบาลขนาด 10-30 เตียง 2.กลุ่มต้นทุนต่อหน่วยอยู่ลำดับเปอร์เซ็นต์ไทล์ 0-50 จำนวน 275 แห่ง รายได้หักรายจ่ายภาพรวมเป็นค่าบวกสุทธิ 602.13 ล้านบาท 3.กลุ่มที่มีต้นทุนต่อหน่วยลำดับเปอร์เซ็นต์ไทล์ 50-75 จำนวน 129 แห่ง เงินรายได้หักรายจ่ายภาพรวม ติดลบสุทธิ 1,305.16 ล้านบาท และ 4.กลุ่มที่มีต้นทุนลำดับช่วงเปอร์เซ็นต์ไทล์ 75-100 จำนวน 122 แห่ง เงินรายได้หักรายจ่ายภาพรวม ติดลบสุทธิ 1,697.72 ล้านบาท โดยพบว่าหน่วยบริการที่มีต้นทุนต่อหน่วยสูงอยู่ช่วงเปอร์เซ็นต์ไทล์มากกว่า 75 ขึ้นไป จะมีส่วนต่างรายได้หักรายจ่ายสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ
       
“ผลภาพรวมทั้ง 687 แห่ง มีรายได้หักรายจ่ายติดลบ 4,025.82 ล้านบาท แต่เป็นตัวเลขประมาณการ ยังไม่ได้นำข้อมูลรายรับ เช่น ค่าตอบแทน 3,000 ล้าน เงินอุดหนุนโรงพยาบาลกลุ่มทุรกันดาร 900 ล้าน เป็นต้น มาคำนวณเนื่องจากบางส่วนกติกาในการกระจายงบประมาณยังไม่ชัดเจน นอกจากนี้ ยังเป็นข้อมูลรวมของทุกสิทธิยังไม่ได้แยกสิทธิ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการทำมาตรฐานกลางว่า ต้นทุนต่อหน่วยควรอยู่ที่เท่าใด โดยตัวเลขดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างเครื่องมือวัดประสิทธิภาพของระบบต่อไป” รายงานข่าว ระบุ
 
ที่มา : http://www.manager.co.th