ท่ามกลางปัญหาของผู้เสพยาเสพติดชนิดยาบ้าที่มีอยู่ทั่วประเทศขณะเดียวกันผู้ติดสารเสพติดอย่างเฮโรฮีนและฝิ่นยังมีอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะพื้นที่แนวตะเข็บชายแดนอย่าง ดอยแม่สลอง ใน จ.เชียงราย
อายะ วุยซือ อาสาสมัครศูนย์โอโซน จ.เชียงราย เล่าว่า สาเหตุที่ชาวเขายังติดฝิ่น เพราะยังใช้เป็นยาในการรักษาโรคที่เคยใช้กันมาเมื่ออดีต ส่วนหนึ่งเพราะพื้นที่ห่างไกลไม่มีหมอ ไม่มีความรู้เรื่องการใช้ยาแผนปัจจุบัน เมื่อใช้บ่อย ๆ จึงเสพติด ส่วนเฮโรฮีนนั้นประเด็นเพราะอยู่ใกล้แหล่งผลิต เมื่อเสพติดแล้วเลิกยากกระทบถึงปัญหาครอบครัวคุณภาพชีวิตแย่ลง ราคายาเสพติดแพงขึ้น ผู้เสพต้องการเลิกแต่เลิกไม่ได้ เพราะมีอาการเสี้ยนยา
ที่ผ่านมาวงการแพทย์ได้นำ เมธาโดน มาใช้เพื่อบำบัดรักษาผู้ติดยามานานแล้ว โดยเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ตั้งแต่ปี 2551 และใช้ทดแทนยาเสพติดในกลุ่มฝิ่น เฮโรอีน และอนุพันธ์ของสารเสพติดกลุ่มเดียวกันนี้ แต่ปัญหาของชาวบ้านในพื้น ชุมชนสันติคีรี ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงรายนั้นมีอุปสรรคที่ด้านการเดินทางระยะทางที่ไกล และมีฐานะยากจน
มูลนิธิพีเอสไอ เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ดำเนินการโดยไม่แสวงผลกำไรคือการกระตุ้นให้กลุ่มประชากรที่ยากจนและด้อยโอกาสได้ดำเนินชีวิตอย่างมีสุขภาพที่ดี ได้เข้ามาตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาแก่ผู้ใช้สารเสพติด ใช้ชื่อว่า "โอโซน" โดยจัดตั้งศูนย์แจกจ่ายเมธาโดนขึ้น ในพื้นที่ชุมชนสันติคีรี ต.แม่สลองนอก ทุก 7 โมงเช้าผู้ติดยาเสพติดจะมาเข้าคิวรับเมธาโดนก่อนที่จะไปทำงานภายใต้การดูแลของเภสัชกร โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีผู้ใช้สารเสพติดมาใช้บริการประมาณ 70 คน จากที่ลงทะเบียนไว้ 113 อายุมากสุดคือ 75 ปี และต่ำสุด 16 ปี สามารถเลิกยาได้ 14 คน ภายใน 3-4 เดือน โดยเฉลี่ยผู้ติดยาจะได้รับสารเมธาโดนคนละ 15 ซีซีทุกวัน
เภสัชกรหญิง พรพิมล ศักดิ์สูง กล่าวว่าเมธาโดนเป็นสารที่ไปแทนที่ยาเสพติดก็จริง แต่ในการบำบัด จะมีการกำหนดคอร์ส เพื่อลดปริมาณยาลง โดยแบ่งไปตามอาการและความพร้อมของผู้ป่วย ตั้งแต่คอร์สระยะสั้น 45 วัน, 60 วัน, 90 วัน นานจนถึง 6 เดือน 1 ปี หรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ และสิ่งที่เคร่งครัดมากสำหรับการจัดตั้งศูนย์จำหน่ายเมธาโดนนอกสถานที่ คือกลุ่มผู้เสพต้องมารับและดื่มสารเมธาโดนต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ซึ่งกระบวน การควบคุมป้องกันไม่ให้เมธาโดนออกไปสู่ภายนอกได้ป้องกันไว้ชั้นหนึ่งด้วยการใส่สีลงในเมธาโดน แต่ละพื้นที่จะมีสีที่ไม่เหมือนกันเพื่อง่ายต่อการตรวจสอบหากพบว่ามีการลักลอบออกไปจำหน่ายในตลาดค้ายาเสพติด
ตามกฎหมายเมธาโดนเป็นสารเสพติดที่ต้องมีอยู่ในสถานพยาบาลเท่านั้น แต่ในพื้นที่ จ.เชียงราย ทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และทีมทำงานด้านยาเสพติดของ สสจ. และ ป.ป.ส. มาวิเคราะห์ดูปัญหาแล้วในพื้นที่ของ จ.เชียงราย ผู้เสพยาเสพติดมีโอกาสยากในการเข้าถึงเมธาโดน จึงต้องนำมาบริการนอกโรงพยาบาล ซึ่งเป็นที่รับรู้ในระดับนโยบาย
กระบวนการให้เมธาโดนกับผู้ติดสารเสพติดในพื้นที่บ้านสันติคีรี ยังมีระบบเยี่ยมบ้านโดยใช้อาสาสมัครซึ่งบางคนเคยเป็นผู้เสพยา ไปติดตามผลพูดคุยให้กำลังใจหลังใช้เมธาโดนแล้ว มีรูปแบบเฉพาะตัวที่ใช้สรรพนามกับผู้เสพติดทุกคนว่า "เพื่อน"
"อาจู" ชาวเขาเผ่าอาข่า วัย 50 เล่าว่า ได้รับสารเมธาโดนมาแล้วประมาณ 1 ปีเล่าถึงตัวเองว่า ใช้ทั้งเฮโรอีนและฝิ่นมา 16 ปี ทำงานได้มาต้องไปซื้อยาเสพติดหมดซึ่งราคาแพงมาก ฝิ่นตก 300-400 บาท ผงขาวต้องใช้เงินมากถึง 1,000 บาท ขณะที่ตัวเองทำงานก่อสร้างได้วันละ 250 บาท
"ติดแล้วนอนไม่หลับ เกิดอาการเสี้ยนยา ทะเลาะกับลูกเมียตลอด ใช้เมธาโดนแล้ว เงินที่ทำงานได้มาซื้อกับข้าว ซื้อหมูกลับบ้านทุกวัน ครอบครัวมีความสุข จะมาที่นี่ตอนเจ็ดโมงครึ่งรับยาก่อนไปทำงานเดินมาจากบ้าน 15 นาที ก็ถึง"
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. มีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงระบบบริการ ประมาณการว่าขณะนี้มีผู้เสพติดเฮโรฮีน เข้าถึงระบบบริการที่ใช้การฉีดยาอยู่ประมาณ 40,000-50,000 ราย แต่มีผู้เข้าถึงเมธาโดนไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ นโยบายของ สปสช. ที่ให้ผู้เสพเข้าถึงเมธาโดนเพื่อจะมาแทนที่เฮโรฮีนให้ทั่วทั้งประเทศ ตั้งเป้าให้ รพสต. ที่มี 10,000 แห่ง เข้ามาเป็นเครือข่ายการบริการ
สำหรับรูปแบบการให้บริการนั้นจะนำตัวอย่างของศูนย์โอโซน ไปปรับใช้ เพราะระบบช่วยส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้เสพให้ดีขึ้น คาดว่าภายใน 3 ปี จะขยายการบริการครอบคลุมทุกโรงพยาบาล ทั้งนี้เมธาโดนเป็นอนุพันธ์ของฝิ่นที่จะมาทด แทนเฮโรฮีน แต่ให้ผลกระทบสุขภาพและสังคมน้อยมาก
"ถ้า สปสช. และกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานอื่น ๆ เข้าร่วมบริการได้ เท่ากับเราขยับการร่วมบริการให้สามารถเข้ามาดูแลคือการจัดบริการสารเสพติดชนิดอื่นได้ เช่นยาบ้า ต้องเข้าใจว่าเมธาโดนไม่ใช่สารเสพติดที่จะมาทดแทน แต่ตัวเมธาโดนจะมาช่วยสร้างระบบการดูแลผู้ติดยาเสพติด"
การบำบัดติดยาเสพติดด้วยเมธาโดน เป็นความหวังอีกด้านในการบำบัดผู้ติดยาเสพติดตัวอื่นโดยต้องอาศัยความรู้ทางการแพทย์และกระบวนการสังคมเข้ามาดูแล ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก ความพร้อมของบุคลากรทางแพทย์และคนในสังคมต้องเดินคู่ไปด้วย
--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 20 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 196 views