นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ
ข่ายอุบัติเหตุลุ้น"ยิ่งลักษณ์"ประชุมคกก.นปถ. นัดแรก 28 ส.ค. นี้ เหตุไทยเป็นประเทศครองแชมป์อุบัติเหตุอันดับ 3 ของโลก ด้าน "บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ" เผยรายงานอุบัติเหตุรายวัน เฉลี่ยทุกชั่วโมงมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ทุกนาทีมีผู้บาดเจ็บ 1 ราย
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2553 กำหนดให้ปี 2554-2563 เป็นปีแห่งความปลอดภัยทางถนน และกำหนดให้ความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งเป้าลดอัตราผู้เสียชีวิตให้ต่ำกว่า 10 คนต่อแสนประชากร ในปี 2563 ซึ่งทางศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ) และภาคีเครือข่าย รวมทั้ง สคอ.ได้เร่งรณรงค์ป้องกันและแก้ไข ประชาสัมพันธ์ข้อมูล เพื่อหวังลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เป็นไปตามเป้าหมาย
องค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันอุบัติเหตุ เปิดเผยรายงานความปลอดภัยทางถนนของโลก พ.ศ.2556 (Global Status Report on Road Safety 2013) พบว่า อัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของไทยสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก เสียชีวิตถึง 38.1 คนต่อแสนประชากร สาเหตุหลักคือเมาแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัยและหลับใน โดยประเทศอันดับ 1 คือ ประเทศเกาะนีอูเอ เสียชีวิต 68.3 ต่อแสนประชากร เป็นประเทศมีประชากรเพียง 1,465 คนเท่านั้น ส่วนอันดับที่ 2 คือ สาธารณรัฐโดมินิกัน มีประชากร 9,927,320 คน มีอัตราผู้เสียชีวิต 41.7 ต่อแสนประชากร และมี 6 ประเทศที่สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้อย่างน่าชื่นชม คือ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สวีเดน และอังกฤษ
นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า ปัญหาของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนคือการขาดความเป็นเอกภาพ โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐ เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายนี้ แต่ตำรวจในฐานะผู้ที่บังคับใช้กฎหมายกลับต้องรอคำสั่งจากผู้บัญชาการเป็นหลัก รวมถึงต้องฟังเสียงนักการเมือง ทำให้บางจังหวัดเข้มในเรื่องวินัยจราจร แต่บางจังหวัดกับละเลย นอกจากนี้ในแต่ละวันเรามีคนตายจากอุบัติเหตุท้องถนนเฉลี่ยวันละ 50 ราย แต่การประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กลับประชุม 3 เดือนครั้ง อย่างไรก็ตามในวันที่ 28 สิงหาคมนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หลังจากที่มีแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนระดับชาติ ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ฉบับที่ 3 แล้ว ภายหลังจากที่พยายามผลักดันมานาน
"ประเทศไทยมีแผนลดอุบัติเหตุระดับชาติ 3 ฉบับแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการประชุมระดับนโยบายเลย ซึ่งในวันที่ 28 สิงหาคมนี้ จะเป็นการประชุมนัดแรก มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ถ้า น.ส.ยิงลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานการประชุม ท่านจะเป็นผู้หญิงคนแรกที่ให้ความสำคัญต่องานลดอุบัติเหตุ ประเดิมนั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการ นปถ.ชุดนี้" ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ กล่าว
ส่วนวาระการประชุมจะเป็นการนำเสนอแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนฉบับที่ 3 นี้ รวมถึงการปรับโครงสร้างกลไกในการลดอุบัติเหตุ
นายนพดล สันติภากรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติด้านประชากร นอกจากจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ยังเข้าสู่ยุคตายไวเกิดน้อย เพราะด้วยอัตราการเกิดที่ลดลง จนมีอัตราการเพิ่มของประชากรต่ำสุดในอาเซียนแล้ว ในกลุ่มประชากรวัยแรงงานยังเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในสัดส่วนที่สูงมาก เห็นได้จากรายงาน 7 วันอันตรายช่วงสงกรานต์ ปี 2556 นี้ มีผู้เสียชีวิต 321 ราย ในจำนวนนี้ร้อยละ 80 เป็นกลุ่มวัยรุ่นและวัยแรงงาน คือตั้งแต่อายุ 15-24 ปี 25-34 ปี และ 35-50 ปี
นอกจากนี้จากข้อมูลเว็บไซต์ www.thairsc.com ซึ่งเป็นเว็บของบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ได้มีการรายงานข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุแบบทันเหตุการณ์ ซึ่งจากข้อมูลวันที่ 13 สิงหาคม 2556 ทั่วประเทศมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน 2,540 ราย และเสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันที 36 ราย แสดงให้เห็นว่า ในทุกนาทีจะมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 1 คน และในทุกชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิต 2 คน นอกจากนี้เรายังมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
นายนพดล กล่าวว่า สำหรับตัวเลขการประเมินผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งแต่ละหน่วยงานได้ทำการรวบรวมไว้ อาทิ ในปี 2555 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รายงานอยู่ที่ 11,000 ราย โดยเป็นการเก็บตัวเลขณ จุดเกิดเหตุ กระทรวงสาธารณสุข 13,000 ราย เก็บตัวเลขจากสถานพยาบาล ขณะที่ข้อมูลจากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ อยู่ที่ 16,000 ราย ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลต่อเนื่องหลังเกิดอุบัติเหตุ แม้ข้อมูลแต่ละหน่วยงานจะมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง แต่ก็สะท้อนปัญหาที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
"ข้อมูลจากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่รายงานผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 16,000 ราย เป็นการรายงานเฉพาะผู้ที่ทำประกันตาม พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถเท่านั้น ยังมีรถจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ทำประกันและไม่มีการรายงานเข้าสู่ระบบ นอกจากนี้เมื่อดูเฉพาะในกลุ่มรถจักรยานยนต์ซึ่งปัจจุบันมีถึง 19 ล้านคัน แต่ในจำนวนนี้มีเพียงแค่ 13 ล้านคันที่เสียภาษีและทำประกันภัย ส่วนอีก 6 ล้านคันไม่ได้เสียภาษีและทำประกัน แสดงให้เห็นว่ายังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ละเลย ขาดความตระหนักในเรื่องความปลอดภัยอุบัติเหตุบนท้องถนน"
นายนพดล กล่าวต่อว่า ตัวเลขทั้งหมดข้างต้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงภาวะวิกฤติอุบัติเหตุบนท้องถนนที่ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยกันลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งนอกจากการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ยังต้องช่วยกันสร้างจิตสำนึก วินัยจราจร ไม่ว่าจะเป็นเมาไม่ขับ หยุดรถตามสัญญาณไฟ ไม่จอดในที่ห้ามจอด ขณะเดียวกันคนเดินเท้าจะต้องข้ามถนนตามสัญญาณไฟจราจร ซึ่งจะทำให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ถนนร่วมกัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 สิงหาคม 2556
- 2 views