จบลงแล้วสำหรับการโยกย้ายฟ้าผ่าครั้งใหญ่ภายในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ครั้งแรกของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. ซึ่งสั่นสะเทือนกระทรวงหมอพอสมควร
ที่ว่าสั่นก็ตรงที่ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัด สธ. คู่ใจ นพ.ประดิษฐ และรับหน้าเสื่อชี้แจงเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P) มาตลอด ได้ขึ้นแท่นนั่งกรมใหญ่อย่าง "กรมการแพทย์" และก็สั่นเช่นกัน ที่รองปลัดฯ อีกคนอย่าง นพ.โสภณ เมฆธน ซึ่งยกร่างโครงสร้างปฏิรูปกระทรวงและจัดทำนโยบายเขตบริการสุขภาพช่วยหมอประดิษฐมาคลอด ได้ขึ้นเก้าอี้ใหญ่ที่ "กรมควบคุมโรค"ทั้งที่เพิ่งเป็นรองปลัดฯ มาได้ 2 ปีเท่านั้น
ส่วนผู้ตรวจราชการ สธ. ที่ได้ขึ้นชั้นรองปลัดฯ อย่าง นพ.ทรงยศ ชัยชนะ และ นพ.อำนวย กาจีนะ ก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเก็บตัวเงียบและขึ้นในตำแหน่งอย่างเหนือความคาดหมาย เพราะทั้งคู่เพิ่งเข้ามาเป็นผู้ตรวจราชการเมื่อเดือนต.ค. 2555 ที่ผ่านมา ไม่ถึงปีก็ได้ขึ้นชั้นรองปลัด สธ. แซงหน้าผู้ตรวจราชการรุ่นพี่หลายๆ คน ที่อยู่ในกรุต่อไป
กระนั้นก็ตาม มีเสียงครหาอยู่บ้างว่า ทั้งนพ.ทรงยศ และ นพ.อำนวย นั้น จบการศึกษาจากที่เดียวกัน คือ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ที่เดียวกับ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. รุ่นพี่ ทำให้ในสำนักงานปลัด สธ. มีศิษย์เก่าแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึง 4 คน หากนับรวมนพ.ณรงค์ และ นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัด สธ. ที่ยังเหนียวหนึบ แม้จะโดนครหาเรื่องอาวุโสมาโดยตลอดเพราะกว่า นพ.ชาญวิทย์ จะเกษียณก็ปาเข้าไปปี 2564
ธรรมชาติของกระทรวงหมอการไต่ชั้นจะเริ่มต้นจากการเป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ขยับเป็นรองอธิบดี สาธารณสุขนิเทศก์ผู้ตรวจราชการ และรองปลัด หรืออธิบดี ตามลำดับ ก่อนหน้านี้ก็ดูเหมือนจะดี แต่ยุคหลังหมอก็วิ่งกันไม่แพ้กระทรวงอื่นมีแต่สายแพทย์ชนบทเท่านั้นที่ไม่ต้องวิ่งก็รู้แล้วว่าแพ้สายที่ใกล้ชิดการเมือง
ส่วนคนอื่นที่ถูกลดขั้นได้แก่ นพ.นิทัศน์ รายยวา รองปลัด สธ. ซึ่งติดภาพของชมรมแพทย์ชนบท ถูกย้ายกลับไปนั่งผู้ตรวจราชการสธ. และ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค สายวิทยา บุรณศิริ อดีตรมว.สธ. ถูกย้ายไปนั่งกรมอนามัยที่เล็กกว่าสร้างผลงานยากกว่า แม้หมอประดิษฐจะปลอบใจว่า ทั้งสองกรมโครงสร้างงานคล้ายกันก็ตาม
เจ้ากระทรวง สธ. ระบุว่า โยกย้ายก็เพื่อเป้าหมายใหญ่ นั่นคือ การปฏิรูป สธ. ที่จะคิกออฟในวันที่ 1 ต.ค.นี้ โดยเฉพาะเรื่องการแบ่งเขตบริการสุขภาพ หรือการจัดกลุ่มงานในกระทรวงใหม่ ซึ่งเจ้าตัวระบุว่าจะทำให้คล่องตัวลดความซ้ำซ้อนของงบประมาณ รวมถึงให้บริการประชาชนได้ดีขึ้น
หากจำกันได้ โครงการหนึ่งที่ถูกนำร่องในการปฏิรูป สธ. ก็คือ การเปลี่ยนระบบจากเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแพทย์โรงพยาบาลชุมชน มาเป็น P4P จนเรียกหมอทั่วประเทศมาตะโกน "ประดิษฐGet Out"กันจำนวนมาก เดือดร้อนถึงตึกไทยคู่ฟ้าต้องส่ง สุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ต้องลงมาห้ามทัพ และกำลังกลับไปสู่การใช้เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามเดิม
อีกหนึ่งเป้าหมายที่จะปฏิรูป สธ. ก็คือการจัดโครงสร้างองค์กรอิสระ สังกัด สธ.หรือองค์กรตระกูล ส. ใหม่ ซึ่งหลายหน่วยงาน สธ.ทำสำเร็จแล้วอาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ตั้งคนใกล้ตัวเข้าไปเป็นรองเลขาธิการ 2 ตำแหน่ง และใช้หน่วยงานที่ควรจะอิสระผลักดันนโยบายสำคัญหลายเรื่องอาทิ ประกันสุขภาพชาวต่างชาติ หรือปรับลดบทบาทของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กลายเป็นหน่วยงานที่ดูแล "มาตรฐาน" การแพทย์ฉุกเฉินเพียงอย่างเดียว ส่วนการจัดระบบฉุกเฉิน สธ.จะดูแลเอง
แต่ในอีกหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)หรือสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ยังไม่สามารถรวบเข้ามาเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันได้ แม้จะเคยมีแนวคิดตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองนโยบายสุขภาพเพื่อครอบองค์กรอิสระเหล่านี้ทั้งหมด แต่ที่สุดก็ถูกนายกรัฐมนตรีเบรก เพราะเกรงว่าภารกิจจะทับซ้อนกันมากเกินไป สุดท้ายศึกกับตระกูล ส. และศึกกับแพทย์ชนบทจึงสงบลงชั่วคราว
เป้าหมายหลังจากนี้ชัดเจนว่า หมอประดิษฐเตรียมผลักดันการ "ลดงบประมาณด้านสุขภาพ" ลง และเพิ่มรายได้ด้านสุขภาพเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น ผ่านนโยบายเมดิคัลฮับ ซึ่งวันนี้มีมือขวาฝีมือดีของเจ้ากระทรวงอย่าง นพ.สุพรรณ เข้าไปดูแลเต็มตัวในฐานะอธิบดีกรมการแพทย์
ก่อนหน้านี้ หมอประดิษฐระบุมาตั้งแต่รับตำแหน่งครั้งแรกว่า จะประเมินตัวชี้วัดผู้บริหารกระทรวงทุก 3 เดือน และ 6 เดือน ว่าดำเนินการตามมาตรฐานที่วางไว้หรือไม่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มาตรฐานที่กำหนดไว้ ก็ล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายนำไปสู่การ "ปฏิรูป" ทั้งสิ้น และหมอประดิษฐก็จะบอกเสมอว่าการทำงานของอธิบดียังไม่เข้าสู่มาตรฐานชี้วัดคุณภาพ (เคพีไอ)
มาวันนี้เทอมรัฐมนตรีของ นพ.ประดิษฐ เข้าสู่ปีที่ 2 แต่งานที่ทำยังคงมะงุมมะงาหรากับเป้าหมายที่วาดฝันสูงไว้เกินไปอย่าง "การปฏิรูป"ในวันที่เตียงโรงพยาบาลใหญ่ยังคงแน่นเอี้ยดและประชาชนส่วนใหญ่ยังคงรับการรักษาไม่เท่าเทียมใช่หรือไม่ว่าวันนี้ภารกิจบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพยังคงเก็บอยู่ในลิ้นชักที่เดิมและโรคระบาดก็ยังลุกลามมากขึ้นขณะเดียวกันหมอชนบทก็อาจเตรียมแสดงพลังต่อ เพราะแผนแบ่งเขตสุขภาพของหมอประดิษฐ จะรวบอำนาจเข้าสู่ผู้ตรวจราชการมากขึ้นจนกลายเป็น "อธิบดีเขต"
หมอชนบทตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าเมื่อเป็นเช่นนั้นจะทำให้ต่อจากนี้อำนาจการจัดซื้อจัดจ้างจะเข้าสู่ผู้ตรวจราชการเต็มตัว โดยเฉพาะยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งเป็นขุมทรัพย์ก้อนใหญ่ของกระทรวง
มีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า หากผู้ตรวจราชการทำงานเข้าตาฝ่ายการเมือง แทนที่จะค่อยๆ ปีนบันไดขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูง ก็สามารถกดลิฟต์เพื่อขึ้นแทนได้เมื่อเป็นเช่นนั้นตำแหน่งผู้ตรวจราชการก็จะถูกการเมืองเข้าไปชักใยมากขึ้น ลามไปถึงหมอในเขตสุขภาพที่ต้องถูกเปลี่ยนสภาพให้เป็น "หมอการเมือง" เพื่อรับใช้ผู้ตรวจราชการ หากเป็นเช่นนั้นจริงกระทรวงหมอก็รอเวลาที่จะแตกเป็นเสี่ยงๆ
ขณะเดียวกันเงื่อนปมP4P ก็ยังไม่ได้ถูกตอบรับเต็มปากเต็มคำจากหมอณรงค์และหมอประดิษฐ
เงื่อนไขในการชุมนุมจึงยังคงอยู่ต่อไป...น่าสนใจว่า ในขณะที่ประเมินคนอื่นละเอียดยิบ เกือบ 1 ปีที่ผ่านมา หมอประดิษฐเคยประเมินตัวเองด้วยหรือไม่
คำถามสำคัญสุดท้ายก็คือ ตัวชี้วัดมาตรฐานของ นพ.ประดิษฐ ได้รวมถึงการบริการประชาชนด้วยหรือไม่ หรือมุ่งแต่หารายได้เข้ารัฐบาลเพียงอย่างเดียวและปฏิรูปสนองความต้องการของตัวเองและคนรอบข้างเท่านั้น n--จบ--
ที่มา: นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 16 สิงหาคม 2556
- กระทรวงสาธารณสุข
- ประดิษฐ สินธวณรงค์
- สุพรรณ ศรีธรรมมา
- การจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน(P4P)
- กรมการแพทย์
- โสภณ เมฆธน
- กรมควบคุมโรค
- ทรงยศ ชัยชนะ
- อำนวย กาจีนะ
- คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ณรงค์ สหเมธาพัฒน์
- ชาญวิทย์ ทระเทพ
- นิทัศน์ รายยวา
- พรเทพ ศิริวนารังสรรค์
- สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
- สปสช.
- ประกันสุขภาพชาวต่างชาติ
- สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
- สพฉ.
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
- สสส.
- สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
- สช.
- เมดิคัลฮับ
- 5 views