รองเลขาธิการสปสช.แจงทุกฝ่ายเห็นตรงกัน นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่ยังมีปัญหาในข้อปฏิบัติ เผยที่ผ่านมาได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวแทนจากสมาคม รพ.เอกชน เพื่อหาแนวทางแก้ไข มีข้อเสนอเพื่อพัฒนาระบบ ทั้งการกำหนดนิยามเจ็บป่วยฉุกเฉินชัดเจน เฉพาะฉุกเฉินวิกฤต การมีกฎหมายหรือระเบียบรองรับ รวมถึงพัฒนาระบบการแจ้งใช้สิทธิของผู้ป่วย ไม่ให้ผู้ป่วยถูกเรียกเก็บเงินส่วนเกินอีกต่อไป
สืบเนื่องจากกรณีที่ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ให้สัมภาษณ์ว่า นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวของรัฐบาลนั้น เป็นนโยบายที่ดี แต่ยังพบว่าการปฏิบัติมีปัญหา โดยเฉพาะมีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ใช้บริการตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวถูกเรียกเก็บเงินจากการรักษาพยาบาล ซึ่งไม่เป็นไปตามที่นโยบายระบุไว้นั้น
นพ.สัมฤทธ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ในเรื่องดังกล่าวนั้น รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข และสปสช.ทราบเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด ไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมาได้มีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงสมาคมโรงพยาบาลเอกชนมาโดยตลอด ซึ่งทุกผ่ายเห็นตรงกันว่า นโยบายนี้ช่วยให้ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินได้รับการรักษาทันที ไม่เสียโอกาสการรักษา และป้องกันไม่ให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายที่อาจทำให้ล้มละลายได้ ที่สำคัญนโยบายนี้ เป็นการปิดช่องว่างของแต่ละกองทุน แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ต้องเร่งแก้ไข เช่น การขาดกฎระเบียบรองรับ ขอบเขตและความชัดเจนของภาวะฉุกเฉินยังเป็นประเด็นที่เข้าใจไม่ตรงกัน รวมถึงอัตราการจ่ายชดเชยที่จ่ายแก่โรงพยาบาลเอกชน
รองเลขาธิการสปสช. กล่าวต่อว่า ได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคมเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา และมีข้อเสนอเพื่อพัฒนาระบบให้มีความยั่งยืน ดังนี้ หลักการสำคัญของนโยบายคือ “ปิดช่องว่างที่มีของระบบต่างๆ ไม่ใช่ไปทดแทนระบบปกติที่มีของแต่ละกองทุน” มาตรการสำคัญที่ต้องมี คือ
1.ให้มีกฎหมายหรือระเบียบรองรับ รวมถึงมีกลไกการอภิบาลระบบร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีสปสช.เป็นผู้จัดการระบบ
2. ให้จำกัดขอบเขตของนโยบายนี้ไว้ที่ “ฉุกเฉินวิกฤตถึงแก่ชีวิต” และมีมาตรการสนับสนุนและกำกับอย่างมีประสิทธิผล โดยผู้ป่วยต้องไม่ถูกปฏิเสธการให้บริการและไม่ให้มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยโดยตรง ทั้งนี้แต่ละกองทุนยังต้องคงระบบการคุ้มครองและชดเชยบริการฉุกเฉินตามปกติสำหรับกรณีไม่ใช่วิกฤต หรือไม่ได้ขอแจ้งใช้สิทธิขณะรับบริการ เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในระบบและไม่เป็นการลิดรอนสิทธิประชาชน
3. ให้มีการปรับเพิ่มค่าบริการสำหรับกรณีวิกฤตสีแดงให้เหมาะสม โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาอัตราใหม่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้
4. ให้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล กำหนดให้สถานพยาบาลเอกชนต้องไม่ปฏิเสธการขอใช้สิทธิและเรียกเก็บค่ารักษาจากผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตโดยตรง
5. มีระบบการแจ้งขอใช้สิทธิและระบบอนุมัติตั้งแต่เริ่มเข้ารับบริการ ซึ่งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จะกำหนดเกณฑ์และระบบการจำแนกระดับฉุกเฉิน และเกณฑ์เมื่อพ้นจากภาวะวิกฤต โดยระบบนี้จะคุ้มครองกรณีเป็นฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ระบบจะออกเลขอนุมัติและโครงการนี้จ่ายให้ตามอัตราใหม่ที่จะตกลงกัน แต่หากเป็นกรณีฉุกเฉินที่ไม่ถึงกับวิกฤต เช่น ฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) หรือไม่เร่งด่วน (สีเขียว) จะส่งต่อข้อมูลไปยังกองทุนที่รับผิดชอบดูแลต่อไป และโรงพยาบาลต้องมีการแจ้งขอใช้สิทธิตั้งแต่เริ่มรับเข้าบริการวันแรก (หากไม่ได้แจ้งขอใช้สิทธิตามระบบนี้ก็ยังคงไปใช้สิทธิในระบบปกติของตนได้)
6. จัดให้มีการบริการสายด่วนให้คำปรึกษาการใช้บริการ ช่องทางการใช้บริการ และการดูแลตนเอง (Health Line)
7. มีระบบการจัดการของแต่ละกองทุนเพื่อส่งผู้ป่วยกลับเข้าสู่ระบบปกติโดยความสมัครใจเมื่อพ้นภาวะวิกฤตและฉุกเฉิน
“ทั้งหมดเป็นข้อเสนอที่จะนำไปหารือในคณะกรรมการร่วมสามกองทุนปลายเดือนนี้ และนำเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในเดือนกันยายนนี้ เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขตามข้อเสนอต่อไป ทั้งนี้คาดว่าการดำเนินการตามข้อเสนอนี้น่าจะลดปัญหาอุปสรรคที่มีได้ ในการนี้ สปสช. ต้องขอบคุณหลายหน่วยงานที่ให้ข้อมูลและสะท้อนปัญหาดังกล่าวเพื่อร่วมกันพัฒนาให้นโยบายนี้เดินหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์” นพ.สัมฤทธิ์ กล่าว
- 5 views