ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์จวกรัฐบาลหั่นนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินฯ ทิ้ง ปล่อย รพ.เอกชนทำตามอำเภอใจ ล่าสุดเรียกเก็บเงินคนไข้ล้านกว่าบาท จี้ยิ่งลักษณ์แก้ปัญหาด่วน
นางสาวปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่รัฐบาล ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกาศนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาฟรีทุกโรงพยาบาล ตนรู้สึกเห็นด้วยและดีใจที่มีนโยบายนี้ออกมา แต่ในใจลึกๆ ก็คิดว่าจะทำได้จริงหรือไม่ โรงพยาบาลเอกชนจะให้ความร่วมมือจริงหรือไม่ และเมื่อมีการปฏิบัติจริงแล้วก็พบว่ามีปัญหาร้องเรียนเข้ามาที่ตนหลายกรณี โดยเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยถูกโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลสูงถึง 3.4 แสนบาท โดยทางโรงพยาบาลอ้างว่าไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ตนจึงพาไปร้องเรียนและส่งหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่าน นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งก็ได้รับแจ้งจากทาง นพ.ทศพร ว่ามีผู้ป่วยร้องเรียนในประเด็นเดียว กันนี้จำนวน 1,400 ราย
ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์กล่าวต่อว่า ล่าสุดมีผู้ป่วยรายหนึ่งซึ่งเกิดอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน จากเส้นเลือดหัวใจด้านซ้ายตีบ และเกิดภาวะสมองขาดออกซิเจน ระหว่างทางที่พาญาติของผู้ป่วยเองซึ่งเปิดลมหมดสติมาส่ง เนื่องจากญาติๆ เห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นกรณีฉุกเฉิน จึงนำตัวส่งรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เพราะอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุมากที่สุด โดยผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการทำบอลลูนและให้ยากันชัก นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้นเป็นเวลา 9 วัน ทางโรงพยาบาลแจ้งค่าใช้จ่ายประมาณล้านกว่าบาท จึงทำเรื่องขอย้ายไปที่โรงพยาบาลที่ใช้สิทธิบัตรทอง
ทั้งนี้ กรณีที่ร้องเรียนไปเมื่อเดือน เม.ย. ก็ยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมา เรื่องที่ร้องเรียนไปอยู่กับใครก็ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครแจ้งให้ทราบ ทั้งรัฐ บาลและ สปสช.ต่างก็เงียบ เหมือนกับปล่อยให้โรงพยาบาลเอกชนทำอะไรก็ได้ แล้วมาบอกภายหลังว่าเป็นเพียงการขอความร่วมมือเท่านั้น หากเป็นอย่างนี้แล้วทำไมไม่บอกประชาชนตั้งแต่แรก หรือจะออกมาชี้แจงตอนนี้ก็ยังทัน ประชาชนจะได้ไม่เป็นแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ ความจริงตนอยากให้โอกาสรัฐบาลได้มีมาตรการอะไรออกมาดูแลประชาชนทั้งหมด ไม่ใช่แค่กรณีนี้กรณีเดียว วันนี้ตนยังเผื่อใจให้รัฐบาลอยู่ว่านโยบายนี้เป็นนโยบายระดับชาติที่ดีมาก
ด้านนางสาวมัทนวีร์ อนันตพรศิริ ญาติผู้ป่วย กล่าวว่า ตอนนั้นเราไม่มีรู้ว่ามีนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาได้ทุกโรงพยาบาลอยู่ และทางโรงพยาบาลก็ไม่ได้แจ้งให้ทราบถึงเรื่องนี้ เราต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลพ่องวดแรก 4 แสนกว่าบาท แต่ตอนนั้นพ่อก็ยังไม่ฟื้นคืนสติ ยังมีอาการชักอยู่ จนประมาณวันที่ 9 ส.ค. ต้องจ่ายค่ารักษาเพิ่มอีก 5 แสนกว่าบาท จึงได้ทำเรื่องขอย้ายไปที่โรงพยาบาลที่พ่อใช้สิทธิบัตรทองอยู่ อาการตอนนี้พ่อยังนอนไม่รู้สึกตัว คุณหมอบอกว่าให้ทำใจ เพราะพ่อเราหัวใจหยุดเต้นไปนาน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 15 สิงหาคม 2556
- 8 views