พนักงานมหาวิทยาลัย จ่อพบ "เฉลิม" ขอไม่ใช้สิทธิประกันสังคม วอนโยกอยู่ สปสช.แทน ชี้เป็นข้าราชการเหมือนกัน ไม่เข้าข่ายระบบ สปส. แม้ยังไม่ชัดเจน เสนอส่งกฤษฎีกาตีความ
รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีข้อเรียกร้องขอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งกองทุนรักษาพยาบาลพนักงานมหาวิทยาลัย เหมือนกองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการ/พนักงานท้องถิ่นว่า เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ตัวแทนศูนย์ประสานงานได้เข้าหารือร่วมกับรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และเลขาธิการ สปสช. เพื่อขอให้จัดตั้งและบริหารกองทุนสิทธิรักษาพยาบาลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยขึ้น เนื่องจากทุกวันนี้พนักงานมหาวิทยาลัยได้รับสิทธิรักษาพยาบาลในกองทุนประกันสังคม ทั้งๆ ที่ควรเป็นสิทธิข้าราชการ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม มองว่าเมื่อ สปสช.สามารถบริหารกองทุนให้แก่ข้าราชการ/พนักงานท้องถิ่น ซึ่งเดิมทีก็มีปัญหาเรื่องสิทธิรักษาพยาบาล ก็น่าจะสามารถบริหารกองทุนให้พวกตนได้ด้วยการตั้งกองทุนที่มีสิทธิรักษาพยาบาลเหมือนข้าราชการ
"เบื้องต้นมีความเห็นร่วมกันว่าจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการย่อยขึ้นมาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของเรื่องนี้ โดยขณะนี้เหลือเพียงรอเข้าพบ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรี สธ. หลังจากนั้นจะขอเข้าพบ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อหารือขอให้พนักงานมหาวิทยาลัยที่ปัจจุบันใช้สิทธิรักษาพยาบาลของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้โอนมาอยู่ในการดูแลของ สปสช.แทน" รศ. วีรชัยกล่าว และว่า ปัจจุบันพนักงานมหาวิทยาลัยมีประมาณ 65,000 คน ในจำนวนนี้มี 30,000 คน ที่เป็นนักเรียนทุนรัฐบาล ในช่วงปี 2540-2542 โดยกลุ่มนี้เดิมทีเข้าใจว่ากลับมาใช้ทุนจะได้เป็นข้าราชการ แต่เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติปี 2542 ยกเลิกการบรรจุข้าราชการใหม่ทำให้ต้องเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย และถูกผลักไปอยู่ในสิทธิประกันสังคม ซึ่งสิทธินี้พบว่า ยังมีความเหลื่อมล้ำกับสิทธิข้าราชการ และ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะสามารถโอนย้ายได้จริงหรือไม่ รศ.วีรชัยกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ เนื่องจากกฎหมายประกันสังคมยังไม่ชัดเจนในเรื่องพนักงานมหาวิทยาลัย เพราะจริงๆ แล้ว ผู้ที่จะอยู่ในประกันสังคมต้องไม่ใช่ข้าราชการ แต่พนักงานมหาวิทยาลัย จริงๆ ก็คือข้าราชการ แต่ตรงนี้ยังไม่ชัดเจน ต้องมีการตีความ อยากให้ สปส.ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเรื่องนี้ให้ชัดเจน
ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 14 ส.ค. 2556
- 4 views