เมื่อวันที่ 12 ส.ค. นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงผลสำรวจของกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีที่ขอเสนอให้รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบจากปัจจุบัน 2.75% เพิ่มเป็น 5% และอยากให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ในกรณีต่าง ๆ และให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทันที เมื่อจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม รวมทั้งอยากให้ออกบัตรรับรองสิทธิใบเดียวสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้กับทุกโรงพยาบาลในระบบประกันสังคมว่า ขณะนี้ สปส. ได้ตั้งคณะทำงานซึ่งมีนางสุพัชรี มีครุฑ รองเลขาธิการ สปส. เป็นประธานคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนในกรณีต่าง ๆและระยะเวลาการเกิดสิทธิหลังเข้าเป็นผู้ประกันตน เนื่องจากก่อนหน้านี้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ได้มอบนโยบายแก่ สปส. โดยต้องการให้ สปส. เพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนและให้เกิดสิทธิหลังเข้าเป็นผู้ประกันตนโดยเร็วที่สุด
เลขาธิการสปส. กล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวเท่าที่ดูความเป็นไปได้ อาจจะย่นระยะเวลาการเกิดสิทธิได้แต่ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นกรณีสิทธิประโยชน์ไป เช่น กรณีเจ็บป่วยจากเดิมเมื่อเข้าเป็นผู้ประกันตนและจ่ายเงินสมทบต่อเนื่อง 3 เดือนแล้วจึงเกิดสิทธิประโยชน์กรณีรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุซึ่งไม่ได้เกิดจากการทำงาน ก็ปรับเปลี่ยนเป็นต้องจ่ายเงินสมทบต่อเนื่องอย่างน้อย 1 เดือนให้เกิดสิทธิ แต่จะให้เร็วกว่านี้คงทำได้ยาก เนื่องจาก สปส. ต้องใช้เวลาในการบันทึกข้อมูลลงระบบคอมพิวเตอร์ส่งต่อข้อมูลผู้ประกันตนไปยังโรงพยาบาลในระบบประกันสังคมและออกบัตรรับรองสิทธิให้แก่ผู้ประกันตนหรือสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพของแรงงานต่างด้าวควรจะได้รับเป็นเงินบำเหน็จ เมื่อเดินทางกลับประเทศต้นทาง
"ก่อนที่จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ในเรื่องไหน สปส. จะต้องศึกษาผลกระทบให้ดีก่อนโดยคำนึงถึงความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมในระยะยาวเป็นหลัก หากจ่ายเงินออกไปโดยไม่สมเหตุสมผล หรือจ่ายออกไปมากในตอนนี้แล้วส่งผลผูกพันต่อกองทุนระยะยาว ทำให้เงินกองทุนร่อยหรอลงไป จะสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตนที่จะรับเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพโดยเป็นเงินบำเหน็จและเงินบำนาญเดือดร้อนในอนาคต แต่ไม่ได้หมายความจะไม่เพิ่มสิทธิประโยชน์ เวลานี้สปส. ได้ตั้งคณะทำงานศึกษาการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทั้ง 7 กรณีแล้ว" เลขาธิการสปส. กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 13 สิงหาคม 2556
- 1 view