รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ โรงพยาบาลทุกแห่งเฝ้าระวังโรคมือเท้าปาก หลังพบผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้กว่า 24,000 ราย ขอความร่วมมือศูนย์เด็กเล็ก สถานเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาลทุกแห่งเข้มงวดความสะอาดสถานที่ เครื่องใช้ ของเล่นเด็กทุกวัน ตรวจอาการเด็กทุกเช้า หากสงสัยอาจป่วยเป็นโรคนี้ ให้แยกเด็กและแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease) ว่า ขณะนี้โรคมือเท้าปาก มีแนวโน้มระบาดเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่ฝนตกชุกอากาศเย็นและชื้น เหมาะแก่การระบาดของเชื้อโรค ซึ่งเป็นไวรัสในกลุ่มที่อยู่ในระบบทางเดินอาหาร โดยจะพบผู้ป่วยมากในเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป จนถึงช่วงปลายฝนต้นหนาว ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี 2556 ตั้งแต่ 1 มกราคม – 3 สิงหาคม 2556 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยสะสม 24,729 ราย ไม่มีพบผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยร้อยละ 80 เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี สถานที่ที่พบมากได้แก่ที่ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า โรคนี้มักเกิดในเด็กที่มาอยู่รวมกันมากๆ ซึ่งช่วงนี้มีฝนตก จึงเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทุกแห่ง ให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะระบาดขึ้นได้ และขอความร่วมมือพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูพี่เลี้ยงเล็ก เข้มงวดเฝ้าระวังและป้องกันโรคนี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในศูนย์เด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็กหรือเนิร์สเซอรี่ และโรงเรียนที่มีเด็กอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ให้ดูแลเรื่องหลักอนามัยให้ถูกต้อง คือ กินร้อน ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ ดูแลความสะอาดของอุปกรณ์เครื่องใช้ ของเล่นเด็กต่างๆ ทั้งที่อยู่ในร่มและกลางแจ้ง ให้ครูช่วยตรวจสุขภาพเด็กนักเรียนโดยเฉพาะที่ ฝ่ามือซอกนิ้ว ปาก และที่เท้าทุกเช้า หากหากพบว่าเด็กมีไข้ หรือพบตุ่มใสขึ้นที่มือ เท้า หรือในปาก ขอให้แยกออกจากเด็กปกติและให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่ โดยกระทรวงฯได้จัดทำคู่มือคำแนะนำป้องกันโรคมือเท้าปากในโรงเรียน และศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ และอบรมครูเรื่องอาการป่วยและวิธีการตรวจหาความผิดปกติแล้ว
ทางด้าน นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคมือเท้าปาก เป็นโรคที่พบได้ทั่วโลก เกิดจากเชื้อไวรัส เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) มีหลายชนิด ที่พบบ่อยที่สุดคือไวรัสคอกซากี ไวรัสเอนเตอร์โร เชื้อโรคชนิดนี้จะอยู่ที่ลำไส้ และขับออกมาพร้อมกับอุจจาระ อาเจียน หรือน้ำลายของผู้ป่วย พบผู้ป่วยได้ประปรายตลอดปี แต่จะพบมากขึ้นในฤดูฝน เด็กที่ติดเชื้อโรคมือเท้าปาก จะมีไข้ 1-2 วัน จากนั้นจะมีตุ่มหรือแผลในปากคล้ายแผลร้อนใน ส่วนใหญ่จะพบที่บริเวณคอหอยหรือใกล้ต่อมทอนซิล อาจลามมาที่ลิ้น กระพุ้งแก้ม ทำให้เด็กเจ็บในปากและคอ ไม่ยอมดูดนม กินอาหารไม่ได้ เด็กที่ป่วยส่วนใหญ่อาการจะค่อยดีขึ้นเรื่อยๆ และหายได้เองใน 7 วัน มีจำนวนน้อยที่มีอาการรุนแรง คือ มีไข้สูง อาจมีอาการชัก แขนขาอ่อนแรง โรคนี้ไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้การดูแลรักษาตามอาการ เช่น การลดไข้ด้วยยาหรือเช็ดตัวบ่อยๆ ด้วยน้ำธรรมดา นอนพักมากๆ รับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊กหรือข้าวต้ม หากมีอาการรุนแรง ซึมลง หายใจหอบหอบ ควรนำส่งโรงพยาบาลทันที
ทั้งนี้ หากมีเด็กป่วยในโรงเรียน ให้แยกออกจากกลุ่มเด็กปกติ แยกของใช้ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ ช้อนส้อม หลอดดูด และทำความสะอาดพื้นห้องหรือพื้นที่ที่เด็กสัมผัสบ่อยๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ด้วยน้ำผสมผงซักฟอก ที่มีส่วนผสมของคลอรีน เช่น ไฮเตอร์ แล้วล้างซ้ำด้วยน้ำสะอาด เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง และหากเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่มีการนำเข้าปากให้ล้างด้วยน้ำและสบู่ และนำไปตากแดด หากมีเด็กป่วยเพิ่มขึ้นให้ปิดห้องเรียนหรือโรงเรียนและทำความสะอาดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
- 1 view