คณะพยาบาลศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ร่วมกับโครงการสร้างเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่น เพื่อการดูแลเด็กวัย 2-5 ปี ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หาแนวทางป้องกันและควบคุมการระบาดของ "โรคมือเท้าปาก" ซึ่งหากต้องการให้ได้ผลชะงัด ต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วนในชุมชน โดยนำร่องทดลอง ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน และสุโขทัย
โดยการระบาดของโรคมือเท้าปากในเด็กเล็กมักพบมากในช่วงฤดูฝนซึ่งมีอากาศเย็นและชื้น เด็กๆในวัยอนุบาลที่มีภูมิต้านทานต่ำ มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล เนื่องจากอยู่รวมกันเป็นหมู่มาก และตั้งแต่เปิดเทอมพบการแพร่ระบาดเกิดขึ้นกับเด็กจำนวนมาก
ผศ.ดร.จุฑามาศ โชติบาง คณะพยาบาลศาสตร์ ม.เชียงใหม่ หัวหน้าโครงการ เผยว่า โรคมือเท้าปากเกิดจากไวรัสในกลุ่ม Enterovirus genus โดยระยะแพร่กระจายของโรคมักเกิดในช่วงสัปดาห์แรกของเด็กที่เริ่มมีอาการ และหลังจากอาการดีขึ้นแล้วเชื้อจะยังคงอยู่ประมาณ 2-3 สัปดาห์ จึงเกิดการติดต่อของโรคได้ จากทั้งการสัมผัส การหายใจ จากเชื้อที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศจากการไอ จาม ของผู้ป่วย ซึ่งการใช้เพียงมาตรการป้องกันโรคเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อระหว่างคนสู่คนตามหลักของสาธารณสุขอาจไม่เพียงพอ จึงร่วมคิดค้นต่อยอดจากเทคโนโลยีที่ใช้ในห้องผ่าตัดคือ การใช้รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ซึ่งในการฆ่าเชื้อจะใช้หลอดไฟประเภท UV-C ซึ่งเป็นรังสีที่มีอันตรายต่อร่าง กายอย่างรุนแรง แต่การอบห้องเรียนเพื่อฆ่าเชื้อไวรัสอบในเวลาที่ไม่มีเด็ก
ทั้งนี้ การติดตั้งหลอดกำเนิดแสง UV เพื่อฆ่าเชื้อไวรัสจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่หรือบริษัทที่จำหน่ายเครื่องมือแพทย์ เพื่อเลือกชนิดและจำนวนของหลอดไฟ นอกจากนี้การวางตำแหน่งการติดตั้งหลอดไฟก็ควรให้เหมาะสมกับพื้นที่ของห้อง ซึ่งระยะเวลาใช้งานเพื่อฆ่าเชื้อก็จะแตกต่างกันไปตามชนิดของเชื้อ
สำหรับการฆ่าเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคมือเท้าปากนั้น ที่แนะนำให้ใช้รังสี UV เนื่องจากฆ่าเชื้อได้ดี โดยเฉพาะเชื้อที่ล่องลอยในอากาศ หรือเชื้อที่ตกบนพื้น และก่อนการใช้งานควรจัดห้องให้เป็นระเบียบ ไม่มีสิ่งของซ้อนทับหรือ รกรุงรัง เพราะจะขัดขวางพลังงานของแสงที่แผ่ออกมา โดยแสง UV มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อไวรัสได้ผลสูงถึง 90% โดยลงทุนเพียง 2,000-2,500 บาท ใช้เวลาอบห้องแต่ละครั้ง 15-30 นาที ซึ่งคำนวณแล้วเสียค่าไฟฟ้าน้อยมาก แต่สามารถฆ่าเชื้อได้ผลแน่นอน
ที่มา: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้ วันที่ 12 สิงหาคม 2556
- 120 views