สปสช.ตั้งเป้าลดผู้ป่วยตาบอดจากภาวะต้อกระจก ปรับวิธีให้ผู้ป่วยตามัวมองไม่เห็นจากต้อกระจกเข้าถึงการรักษามากขึ้น เน้นตรวจคัดกรองเข้าถึงผู้ป่วยกลุ่มนี้ และเพิ่มค่าชดเชยให้โรงพยาบาลหากผ่าตัดผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับชดเชย 9,000 บาทต่อราย เทียบเท่าการผ่าที่ซับซ้อน ตั้งเป้าปีงบ 57 มีผู้ป่วยตาต้อกระจกได้รับการผ่าตัด 120,000 ราย และให้แต่ละเขตมีผู้ป่วยตามัวจนมองไม่เห็นจากต้อกระจกได้รับผ่าตัดเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ในแต่ละปีมีผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคตาต้อกระจกรายใหม่ 60,000 คน ขณะที่มีผู้ป่วยสะสมรอรับการผ่าตัดกว่า 100,000 คน ซึ่งหากยังปล่อยให้สภาวะดำเนินไปเช่นนี้ จะส่งผลให้ตัวเลขผู้ป่วยสะสมทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้สูงอายุและครอบครัว สปสช.จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขใช้แนวทางการบริหารจัดการโรคเฉพาะ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ลดจำนวนผู้ป่วยสะสม เริ่มตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา และให้บริการด้วยคุณภาพและมาตรฐานตามที่ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์กำหนด มีการกำหนดแนวทางการชดเชยที่เหมาะสม ชัดเจนแก่โรงพยาบาลที่รักษา ทำให้ผู้ป่วยตาต้อกระจกเข้าถึงบริการมากขึ้น ลดการรอคิว ลดจำนวนผู้ป่วยสะสม และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนไทย ผลการดำเนินงาน มีผู้ได้รับการผ่าตัดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยปีละ 100,000 ราย โดยล่าสุดในปี 2555 มีผู้ได้รับการผ่าตัดต้อกระจกและการเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม 141,574 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 142 จากเป้าหมาย 100,000 ครั้ง
“สำหรับแนวทางการบริหารจัดการโรคตาต้อกระจกในปีงบประมาณ 2557 นั้น ตั้งเป้าหมายผ่าตัดแก่ผู้ป่วยต้อกระจกอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 120,000 ราย โดยจะลดอัตราผู้ป่วยที่ตาบอดจากต้อกระจก ดังนั้นจึงต้องเพิ่มการผ่าตัดตาต้อกระจกในผู้ป่วยตาต้อกระจกที่มีภาวะตามัวมากจนมองไม่เห็น (blinding cataract) ให้เข้าถึงบริการมากขึ้น ตั้งเป้าหมายว่าในแต่ละเขต มีจำนวนผู้ป่วยตามัวจนมองไม่เห็นได้รับการผ่าตัดตาต้อกระจกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 จากเดิมที่แต่ละเขตมีผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้ารับการรักษาเฉลี่ยร้อยละ 13 ซึ่งจะต้องเน้นไปที่การบริการตรวจคัดกรองที่ต้องครอบคลุมผู้ป่วยกลุ่มนี้ เพื่อให้ได้รับการผ่าตัดและลดภาวะการตาบอดจากต้อกระจกลงได้ และเพิ่มอัตราการจ่ายให้สถานพยาบาลที่ผ่าตัดตาต้อกระจกในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะตามัวมากจนมองไม่เห็น (blinding cataract) ให้ได้รับค่าชดเชย 9,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่เท่ากับการผ่าตัดในกลุ่มซับซ้อน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของกลุ่มเป้าหมายหลักนั่นเอง”
นพ.วินัย กล่าวว่า ขณะเดียวกัน เพื่อให้ผู้ป่วยในพื้นที่ที่เข้าถึงการรักษายาก เช่น พื้นที่ทุรกันดาร และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน เข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น ได้ปรับวิธีการให้สามารถเบิกจ่ายโดยใช้งบผู้ป่วยในของแต่ละเขตได้ ในกรณีที่แต่ละเขตมีการทำการผ่าตัดเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ วิธีนี้จะทำให้ไม่ต้องกังวลกับงบประมาณว่าจะมีให้หรือไม่ เนื่องจากสามารถใช้งบผู้ป่วยในได้ ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดนั้น ผู้ป่วยไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่อย่างใด มีเพียงจ่ายค่าธรรมเนียม 30 บาทต่อครั้งเท่านั้น หากไม่ประสงค์จ่ายก็สามารถทำได้ แต่การปรับวิธีการนี้จะทำให้สถานพยาบาลทำงานได้สะดวกและคล่องตัวมากขึ้นเพื่อให้การผ่าตัดตาต้อกระจกครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย และลดจำนวนผู้ป่วยสะสมนั่นเอง
- 2 views