อินเดียเคยเป็นประเทศลำดับต้นๆ ในกลุ่มตลาดใหม่ (emerging markets) ที่เป็นผู้นำเข้ายาและเวชภัณฑ์จากต่างประเทศ แต่ปัจจุบัน อุตสาหกรรมการผลิตยาและเวชภัณฑ์เพื่อการส่งออกที่กำลังขยายตัวของอินเดียเอง กำลังจะเปลี่ยนบทบาทให้กลายเป็นประเทศต้นๆ ในการผลิตเพื่อการส่งออกกับเขาบ้าง
ตลาดใหม่ของอุตสาหกรรมยาทั่วโลก เดิมมีกลุ่มประเทศ BRIC คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน (ไม่รวมแอฟริกาใต้ที่จัดเป็นกลุ่มแอฟริกาในตลาดใหม่) รวมถึงเม็กซิโก และตุรกี ปัจจุบันเป็นตลาดที่อิ่มตัวแล้ว และหลายประเทศโดยเฉพาะอินเดีย กำลังปรับบทบาทเป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออก ไปยังตลาดใหม่ที่กำลังเป็นที่หมายตาของอุตสาหกรรมนี้ คือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรปตะวันตก กลุ่มประเทศที่เคยอยู่ใต้อดีตสหภาพโซเวียต ลาตินอเมริกา และประเทศแอฟริกา
สัดส่วนของตลาดใหม่นี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ของโลกในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยเพิ่มจาก 20% ในปัจจุบัน มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดจะมีสูงถึง 3.57 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (10.71 ล้านล้านบาท) ซึ่งอินเดียที่มีศักยภาพการผลิตสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ก็มีแผนจะชิงส่วนแบ่งในตลาดใหม่นี้เพิ่มขึ้น
ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกยาและเวชภัณฑ์อินเดียในช่วงปี 2549-2555 คือ 1.27 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3.81 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าตัวจากช่วงเดียวกันก่อนหน้า ที่มีมูลค่าเพียง 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (8.1 แสนล้านบาท) แสดงให้เห็นว่าอินเดียกำลังจะแปลงร่างจากผู้รับในอุตสาหกรรมนี้ มาเป็นผู้เล่นที่เอาจริงเอาจัง
แต่เดิมอินเดียเป็นประเทศรับจ้างผลิตยาให้แก่บริษัทยารายใหญ่ของโลกเน้นการส่งออก รวมทั้งผลิตยาสามัญ (generic drug) สำหรับผู้ป่วยภายในประเทศ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2555 รัฐบาลอินเดียประกาศบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา หรือ Compulsory Licensing (CL) เป็นครั้งแรก แก่บริษัทท้องถิ่น Natco ในการผลิตยาสามัญจากสิทธิบัตรของยาต้นแบบ (original drug) ชื่อ Nexavar (Sorafenib) ของบริษัท Bayer จากเยอรมนี ที่ใช้รักษามะเร็งในตับและในไต
อุตสาหกรรมภายในประเทศ รวมถึงภาคประชาสังคมของอินเดีย เห็นว่า การประกาศ CL ยา Nexavar จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมยาอินเดียปรับตัวจากที่เคยเป็นผู้รับจ้างผลิตยา มาลงทุนวิจัยและพัฒนา สร้างสมรรถนะตัวเองในการผลิตยาสามัญจากยาต้นแบบมากขึ้น
สถิติบอกว่า สิทธิบัตรของยากว่า 40% ในท้องตลาดปัจจุบัน จะหมดอายุลงในอีก 2 ปีข้างหน้าหรือปี ค.ศ. 2015 อุตสาหกรรมยาอินเดียที่เริ่มจะรู้ knowhow ในเรื่องนี้ ก็กำลังรออย่างใจจดใจจ่อ พร้อมๆ กับที่วางยุทธศาสตร์จ่อตลาดใหม่ๆ ในประเทศที่มีผู้บริโภคและผู้ป่วยรายได้ระดับกลางและต่ำ
ตอนนี้ บริษัทเอกชนอินเดียหลายราย เริ่มยื่นขอให้รัฐบาลอินเดียประกาศ CL ของยาต้นแบบหลายตัว โดยเฉพาะที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง ในขณะที่รัฐบาลก็เริ่มตื่นตัว มองหายาที่จำเป็นจะต้องใช้มาตรการ CL เพื่อให้ผู้ป่วยโดยเฉพาะในประเทศได้มีโอกาสเข้าถึง เช่น เริ่มมีการเสาะหาและมอบ CL แก่ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมภายใน ที่ต้องการผลิตยา Trastuzumab ที่ใช้รักษามะเร็งเต้านม ที่เป็นสิทธิบัตรของบริษัท Roche ของสวิตเซอร์แลนด์
อุตสาหกรรมยาภายในประเทศที่มีมูลค่าประมาณ 7 แสนล้านรูปี (1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 4.2 แสนล้านบาท) น่าจะตอบรับเรื่องนี้ได้ดี ธุรกิจยาก็เริ่มปรับตัวกับนโยบายเอาจริงของรัฐบาล บริษัทต่างชาติกับท้องถิ่นจับมือกันลดราคายาลง เช่นบริษัท Roche ที่จับมือกับบริษัท Emcure ของอินเดีย ลดราคายา Heclon แต่ประโยชน์ที่เกิดจากการแข่งขันและการปรับตัวของเอกชนในเรื่องนี้ ย่อมตกอยู่กับผู้ป่วยและผู้ต้องการใช้ยาวันยังค่ำ
จากประสบการณ์ส่วนตัวของผม ที่ได้เดินทางไปดูงานโรงงานผลิตยาของบริษัท Aurobindo Pharma จำกัด ที่ตั้งอยู่ที่เมืองไฮเดอราบัด ในรัฐอานธรประเทศของอินเดีย เห็นว่าอินเดียตั้งเป้าหมายไว้สูงและน่าจะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ เพราะมีประสบการณ์การผลิตยาให้กับตลาดสำคัญๆ ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรปมาแล้ว ทั้งยังได้รับการรับรองจากสถาบันการแพทย์และควบคุมยาชั้นนำ จึงมีความสะอาดและปลอดภัย ที่สำคัญคือ อินเดียสามารถทำได้ในต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า
Aurobindo ติดอันดับบริษัทยาชั้นนำ 10 บริษัทของอินเดีย ยักษ์ใหญ่ในอันดับต้นๆ คือ Cipla, Natco และ Lupin แม้จะยังไม่ใหญ่พอจะมีกำลังขอให้รัฐบาลประกาศ CL ยาต้นฉบับและมีสิทธิบัตรให้ตัวเองผลิตได้ แต่เป้าหมายจะเพิ่มยอดขายในตลาดใหม่ของโลกในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะเมื่อจำนวนยาเกือบครึ่งที่สิทธิบัตรจะหมดอายุภายในอีกเพียง 2 ปีต่อจากนี้ ก็แสดงให้เห็นว่าเขามั่นใจในมาตรฐานการผลิต ทำให้มีวิสัยทัศน์มองยาวและมองไกลระดับโลก
ปัจจุบัน ยาสามัญ (Generic Drug) หลายชนิดมีวางขายในอินเดีย สามารถซื้อหาได้ทั่วไปตามร้านขายยาโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเห็นนักท่องเที่ยวแวะเลือกซื้อยาตามร้านขายยาในตลาดท้องถิ่น มากพอๆ กับตลาดขายของที่ระลึก สินค้ายาของอินเดียที่ถูกและมีคุณภาพ นอกจากจะเป็นตัวช่วยส่งเม็ดเงินกลับมาอินเดียแล้ว ยังน่าจะช่วยชีวิตของคนในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศที่รอความหวังจากยารักษาโรคร้ายหลายชนิดอยู่
วิสัยทัศน์แปรบทบาทจากผู้รับจ้างผลิตมาเป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออกแบบนี้ เอกชนไทยจะเอาไปใช้บ้างก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ถ้ามีโอกาสจะลองหาเรื่องอุตสาหกรรมยาสมุนไพรอายุรเวทที่อินเดียภูมิใจมาเล่าสู่กันฟังต่อไปครับ
ผู้เขียน : คณิน บุญญะโสภัต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 11 - 14 ส.ค. 2556
- 1191 views