ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน * "นักวิชาการ" เผย งานวิจัยจากญี่ปุ่นระบุชัดข้าวสารซาวน้ำ-หุงช่วยลดสารเมทิลโบรไมด์แค่ครึ่ง ด้าน "ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตร" ชี้แค่การหาโดสเพื่อปราบแมลงจากกลางเมล็ดข้าว เผยไทยเตรียมใช้อีโคฟูม-สารซัลฟูริล ฟลูออไรด์" 2 สารตัวใหม่ฆ่าแมลง

รศ.ดร.จิราภรณ์ ลิ้มปานานนท์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม ประธานมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวในงานเสวนาเรื่องความจริงเรื่องเมทิลโบรไมด์ และโบรไมด์อิออน ว่า ข้าวเป็นหัวใจของคนไทย เพราะว่าต้องรับประทานทุกวันในปริมาณมาก ดังนั้นการที่ออกมาบอกว่าเพียงซาวน้ำและนำไปหุงก็สามารถทำลายสารรมควันเมทิลโบรไมด์ได้หมดนั้น ก่อให้เกิดความสงสัยและคิดว่าต้องมีการหารือกันโดยอยู่บนพื้นฐานข้อมูลงานวิจัย ซึ่งตนค้นคว้าพบว่ามีงานวิจัยของนายนากามูระ และคณะจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2536 ได้ทำการศึกษาเพื่อหาระยะเวลาที่สารเมทิลโบรไมด์ตกค้างนานเท่าไหร่ ซึมผ่านเข้าไปในเมล็ดข้าวหรือไม่ ในกลุ่มข้าวเปลือกและข้าวกล้อง โดยในกรณีข้าวเปลือกจะใช้ตัวอย่างข้าวเปลือก 2 กก. รมด้วยเมทิลโบรไมด์นาน 48 ชั่วโมง จากนั้นนำข้าวไปเก็บไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 84 วัน

จากนั้นนำข้าวสาร 150 กรัม ซึ่งมีเมทิลโบรไมด์ 100% มาซาวน้ำ 3 ครั้ง นานครั้งละ 5 นาที ปล่อยให้แห้งอีก 1 ชั่วโมง และแบ่งข้าวในส่วนนี้ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 นำไปหุงซาว 3 ครั้ง ออกไป 49% เหลือ 51% พอหุงเสร็จพบว่าสารไม่ลดเท่าไหร่ ยังเหลืออยู่ประมาณ 41.2% ดังนั้น ไม่ใช่ซาวข้าวแล้วหุงแล้วสารตัวนี้จะหมดไป ซึ่งผลการทดลองดังกล่าวบ่งบอกว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องกำหนดค่าความปลอดภัยตามมาตรฐานโคเด็กซ์ 2.ได้ทดลองนำข้าวดังกล่าวไปทำเส้นก๋วยเตี๋ยวโดยโม่เป็นแป้ง พบว่าสารเมทิลโบรไมด์ยังคงเหลือเท่าเดิม และหลังจากนำไปอบไอน้ำ 15 นาที พบว่าสารตัวนี้เหลือ 40% พอนวดเป็นเส้นและอบไอน้ำต่ออีก 20 นาที สารลดลงเหลือ 7.2% จากนั้นนำไปต้มอีก 5 นาที ลดลงเหลือ 5.2% ล้างน้ำและอบให้แห้งด้วยอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส

"ชัดเจนว่าเมทิลโบรไมด์ที่เรารมนั้นมันผ่านเปลือกเข้าไปในรำ และผ่านเข้าไปในเนื้อเมล็ด ข้าวสาร ปรากฏว่ามันไปกระจายในเนื้อข้าวสารได้นานและดีด้วย เนื่องจากไปจับกับคาร์โบไฮเดรตในข้าวสารและอยู่ในนั้นเลย ซึ่งมันจะเข้าไปในวันที่ 34 ของการทดลอง การซาวน้ำทำให้สารตัวนี้หายไปเพียงบางส่วน แม้หุงสุกแล้วสารก็ยังอยู่ ในกรณีข้าวกล้องก็ไม่แตกต่าง โดยพบว่าสารเมทิลโบรไมด์กระจายอยู่ในเนื้อข้าว 70%" รศ.ดร.จิราภรณ์กล่าว และว่า ในกระบวนการรมข้าวของไทยแม้จะเป็นระยะเวลาสั้นกว่าที่มีการทดลอง แต่การปล่อยให้สารระเหยไปหมดนั้น ทางที่ดีควรปล่อยเวลาทิ้งไว้ให้นานๆ

ด้านนางบุษรา จันทร์แก้วมณี ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตร กล่าวว่า ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยมีการใช้สารรมฆ่าแมลง 3 ประเภท คือ เมทิลโบรไมด์ ฟอสฟีส และคาร์บอนไดออกไซด์ แต่เมทิลโบรไมด์อยู่ในช่วงลด ละ เลิกใช้ เพราะส่งผลกระทบต่อชั้นโอโซน สารตัวนี้มีความเป็นพิษต่อแมลงและสัตว์เลือดอุ่น แต่ไม่มีการตกค้าง เพราะเมื่อไหร่ที่เปิดพลาสติกที่คลุมออกแล้ว สารนี้จะไม่สามารถฆ่าแมลงที่เข้ามาใหม่ได้ ถ้ามาวางไข่ก็สามารถเจริญเติบโตได้อีก ในต่างประเทศที่นำเข้าข้าวจึงต้องมีการรมเมทิลโบรไมด์ซ้ำอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มมีการใช้สารรมฆ่าแมลงตัวใหม่คือ อีโคฟูม (Eco2  Fume) ใช้ระยะเวลาในการรม 3-4 วัน และสารซัลฟูริล ฟลูออไรด์ (Sulfuryl  Fluoride) ซึ่งกำลังพัฒนาให้ใช้รมเพียง 2 วัน สารทั้งหมดนี้ผลิตโดยต่างประเทศที่ได้ทำการวิจัยเรียบร้อยแล้ว

"ไม่ว่าจะเป็นสารตัวเดิมหรือสารตัวใหม่ก็ถือเป็นสารเคมี ย่อมมีการตกค้างในร่างกาย แม้แต่ยาพาราเซตามอลที่เรากินเข้าไปยังไปตกค้างในร่างกาย" นางบุษรากล่าว และว่า ผลงานวิจัยของประเทศญี่ปุ่นที่ รศ.ดร.จิราภรณ์นำมาเสนอที่หาค่าสารเมทิลโบรไมด์ถึงกลางเมล็ดนั้น เข้าใจว่าเพื่อการหาค่าโดสของสารที่ใช้สามารถเข้าไปฆ่าแมลงที่อยู่กลางเมล็ดข้าวได้หรือไม่ เพราะปกติไข่ หรือตัวอ่อนของแมลงนั้นจะเข้าไปกลางเมล็ดข้าวด้วย อีกทั้งการเก็บในอุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส ก็เหมือนกับเก็บในตู้เย็น ทำให้มีปริมาณสารสูงถึง 40% แต่ก็ยังอยู่ในมาตรฐานที่โคเด็กซ์กำหนดที่ 50 PPM แต่อุณหภูมิที่ประเทศไทยแตกต่างกันอยู่แล้ว

นางบุษรากล่าวต่อว่า สำหรับความเป็นพิษของสารเมทิลโบรไมด์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายคือ ปริมาณ 5 PPM ถือว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัย สำหรับบุคคลที่ปฏิบัติงานในพื้นที่วันละ 8 ชั่วโมงติดต่อกัน 5 วัน ปริมาณ 20  PPM ปลอดภัยสำหรับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เป็นระยะเวลาสั้นๆ 15 นาที ปริมาณ 100  PPM ถือว่าเป็นอันตรายต่อชีวิตภายในเวลา 7 ชั่วโมง ปริมาณ 400 PPM เป็นอันตรายต่อชีวิตภายในเวลา 1 ชั่วโมง และปริมาณ 1,000 PPM เป็นอันตรายต่อชีวิตภายใน 1 นาที

ที่มา: http://www.thaipost.net