จากกรณีปัญหาน้ำมันดิบรั่วลงทะเลในพื้นที่ จ.ระยอง ส่งผลให้ประชาชนเกิดความกังวลไม่กล้ากินอาหารทะเล จน นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รมว.ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องกินปูโชว์ ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผลการตรวจวิเคราะห์สารปนเปื้อนและโลหะปนเปื้อนในตัวอย่างอาหารทะเล พบว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บางตัวอย่างแม้พบโลหะหนักบ้าง แต่อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์กำหนดคงทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในการบริโภคมากขึ้น
ประเด็นที่หลายคนอาจจะสงสัยและมีคำถาม คือ ผลการตรวจวิเคราะห์พบ "ทีที มิวโคนิค แอซิด" ในปัสสาวะของผู้ปฏิบัติงานเก็บกู้คราบน้ำมันบางคนมีค่าถึง 723 ไมโครกรัมต่อกรัม สูงกว่าค่าเฝ้าระวัง 500 ไมโครกรัมต่อกรัม สาร"ทีที มิวโคนิค แอซิด" คืออะไร มีความเสี่ยงต่อการเป็น "มะเร็งเม็ดเลือดขาว" จริงหรือไม่?
นายบำรุง คงดี ผอ.สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า "ทีที มิวโคนิค แอซิด" เป็นอนุพันธ์ของ "สารเบนซีน" โดยเบนซีนเป็นสารที่อยู่ในน้ำมันดิบเข้าสู่ร่างกายจากการสูดดม
พิษในเบื้องต้น คือ อาจทำให้ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ มึน ๆ สูดดมมาก ๆ อาจทำให้เป็นลมได้
"สารเบนซีน" มีพิษทำลายไขกระดูก ทำให้เม็ดเลือดแดงลดลง นำไปสู่โรคโลหิตจาง มะเร็งเม็ดเลือดขาว กรณีที่ตรวจพบ "ทีที มิวโคนิค แอซิด" ในปัสสาวะมาก ๆ อาจจะต้องตรวจปัสสาวะซ้ำ รวมถึงตรวจการทำงานของไขกระดูก และดูปริมาณเม็ดเลือดแดง
หากเบนซีนสะสมในร่างกายเป็นระยะเวลานาน อาจเสี่ยงทำให้เป็น "มะเร็งเม็ดเลือดขาว" หรือ "ลูคีเมีย" แต่นั่นหมายความว่าจะต้องสัมผัสด้วยการสูดดมซ้ำ ๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ไม่ได้หมายความว่าสูดดมเพียงครั้งเดียวแล้วทำให้เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวทันที
กรณีที่ตรวจพบอนุพันธ์ของสารเบนซีนสูงกว่าค่าเฝ้าระวังไม่ต้องตกใจมาก นั่นเป็นเพราะร่างกายกำจัดออกทางปัสสาวะ สันนิษฐานได้ว่า อาจมีการสูดดมสารเบนซีนเข้าไปในปริมาณมากนั่นเอง
โดยหลักเมื่อร่างกายของคนเราสูดดมสารเบนซีนเข้าไป สารดังกล่าวจะเข้าไปที่ปอด กระแสเลือด และตับ โดยตับจะเปลี่ยนรูปแบบของสารเบนซีนเป็น "ทีที มิวโคนิค แอซิด" และขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ดังนั้นการดื่มน้ำมาก ๆ อาจช่วยได้
นอกจากการสูดดมสารเบนซีนแล้ว คนที่สูบบุหรี่จัด หรือ รับประทานอาหารที่มีปริมาณสารกันบูดมาก ๆ ก็อาจตรวจพบ "ทีที มิวโคนิค แอซิด"ในปัสสาวะได้เช่นกัน แต่ปริมาณที่ตรวจพบอาจไม่ สูงมาก
สรุปว่าการตรวจพบ "ทีที มิวโคนิค แอซิด" ในปัสสาวะ ไม่ได้มาจากการสูดดมสารเบนซีนในน้ำมันอย่างเดียว จึงควรซักประวัติด้วยว่า สูบบุหรี่จัดหรือไม่ รับประทานอาหารที่มีสารกันบูดหรือไม่
ฟังแบบนี้แล้วก็โล่งใจแทนเจ้าหน้าที่ที่เก็บคราบน้ำมัน ที่ปฏิบัติงานอย่างแข็งขัน!?!
ที่มา --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 10 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 351 views