รมว.สธ.เผยผลสำรวจอาหารทะเล 8 ตัวอย่างจากตลาดบ้านเพ ยันไม่พบสารปนเปื้อนน้ำมันรั่ว ทั้งสารไฮโดรคาร์บอนก็ไม่มี ส่วนสารปรอทก็พบในปริมาณไม่เกินค่ามาตรฐาน รอผลตรวจสอบตะกั่ว แคดเมียม และสารหนู ด้านรมว.ทรัพยากรฯ ลุยเกาะเสม็ดกินปูม้าโชว์ ยันไร้สารพิษ เผยอีก 10 วันรีสอร์ตอ่าวพร้าวเปิดบริการได้ เตรียมถกปตท.วางแผนช่วยเยียวยาผู้ประกอบการ ด้านปตท.นัดประชุม 5 ส.ค.หลังถูกสังคมด่าเละจากกรณีน้ำมันรั่ว พร้อมเตรียมแผนเยียวยา
เมื่อวันที่ 4 ส.ค. นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับ ความคืบหน้าการเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพประชาชน จากปัญหาน้ำมันดิบไหลลงทะเล ที่จังหวัดระยองว่า กระทรวงสาธารณสุขตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์ที่สำนักงานสาธารณสุข จ.ระยอง ประชุมผู้เกี่ยวข้องด้านการแพทย์และสาธารณสุขร่วมกับบริษัท ปตท. เพื่อวางแผนเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ และผู้เสี่ยงสัมผัสกับสารที่อยู่ในน้ำมันดิบ การปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทั้งในอาหารทะเล น้ำบริโภค ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวอย่างรัดกุม ดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชนอย่างเต็มที่
นพ.ประดิษฐกล่าวว่า จากการเก็บตัวอย่างอาหารทะเลประเภทหอยแมลงภู่สด ปลาสด 8 ตัวอย่าง จากตลาดเพ และ ต.แกลง ส่งตรวจหาสารโพลีไซคลิกอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน หรือสารพีเอเอช (PAH: Polycyclic Aromatic Hydrocarbon) และโลหะปนเปื้อน 4 รายการ ได้แก่ สารปรอท ตะกั่ว แคดเมียม และสารหนู ขณะนี้ทราบผล 2 รายการ คือ 1.สารพีเอเอช ไม่พบทุกตัวอย่าง 2.สารปรอท ไม่พบในหอย ส่วนในปลาพบระหว่าง 0.019-0.203 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ไม่เกินมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 98 พ.ศ.2529 ที่กำหนดให้อาหารทะเลมีปริมาณปรอทได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สารปรอทที่ตรวจพบในปลาทะเลนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เนื่องจากสามารถพบได้ในธรรมชาติและปนเปื้อนในอาหารได้อยู่แล้ว แม้ว่าจะไม่มีเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วลงทะเลก็ตาม ส่วนที่เหลืออีก 3 รายการคือ ตะกั่ว แคดเมียม สารหนู รวมทั้งน้ำบริโภคอยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะทราบผลทั้งหมดภายในสัปดาห์หน้า
สำหรับผลการเฝ้าระวังการสัมผัสสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะสารอนุพันธ์ของเบนซิน หรือ สารที-ที มิวโคนิก แอซิด ในปัสสาวะ (t-t muconic acid in urine) ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ปฏิบัติงานเก็บ ทำลายคราบน้ำมันดิบทุกคน ประชาชนในพื้นที่ และบุคคลอื่นๆ เช่น สื่อมวลชน อาสาสมัคร ผู้บริหาร ที่เข้าไปในพื้นที่อ่าวพร้าว ขณะนี้เก็บปัสสาวะตรวจแล้ว 1,522 คน ทราบผลแล้ว 252 คน พบว่าค่าไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดทุกตัวอย่าง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขขึ้นทะเบียน วางแผนติดตามตรวจสุขภาพต่อเนื่องในอีก 1 ปี และทุก 5 ปีทุกราย และหากรายใดที่มี ค่าเกินค่ามาตรฐานก็จะตรวจเลือดวิเคราะห์การทำงานของตับ ไต ต่อไป
นพ.ประดิษฐกล่าวต่อไปว่า ผลกระทบ ต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ซึ่งมีหน่วยปฐมพยาบาล ปฏิบัติงานดูแลที่อ่าวพร้าวต่อเนื่องทุกวัน จนถึงวันนี้ให้บริการตรวจรักษารวม 414 ราย พบอาการที่เกี่ยวข้องกับสารเบนซิน เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เจ็บคอ ผื่นคัน รวม 190 ราย ส่วนด้านสุขภาพจิตพบบางส่วนมีความวิตกกังวล นอนไม่หลับบ้าง ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปหลังเหตุการณ์ ได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ และอสม. เฝ้าระวังดูแลช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องต่อไป 2 สัปดาห์
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผอ.สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เผยว่า ในวันที่ 5 ส.ค.จะมีการประชุมคณะกรรมการ ปตท. (บอร์ด ปตท.) ที่มีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร เป็นประธาน ซึ่งเป็นการประชุมกรณีพิเศษเพื่อติดตามสถานการณ์กรณีเกิดเหตุท่อส่งน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี บริษัทในกลุ่ม ปตท. เกิดการรั่วทำให้มีน้ำมันดิบไหลลงสู่ทะเล เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2556 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผล กระทบต่อสภาพท้องทะเลและชายหาดอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง โดยผู้บริหาร ปตท. จะรายงานสถานการณ์ล่าสุดในการกำจัดคราบน้ำมันทั้งในทะเลและชายหาด รวมถึงมาตรการเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบ
นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ในฐานะผอ.ศูนย์อำนวยการจัดการเหตุฉุกเฉินและภาวะวิกฤต กลุ่มปตท.เปิดเผยความคืบหน้าการทำความสะอาดชายหาดและฟื้นฟูเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการ ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบ ในพื้นที่เกาะเสม็ดว่า ล่าสุดสภาพชายหาดอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด มีสภาพที่สะอาดใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยพยายามขนย้ายถุงบรรจุคราบน้ำมันออกจากอ่าวพร้าวให้หมดภายในวันนี้ ทั้งนี้ ลำเลียงถุงบรรจุคราบน้ำมันไปรวมไว้ที่โรงกลั่นน้ำมันเพื่อรอการตรวจสอบ แยกประเภท และส่งกำจัดตามมาตรฐานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดไว้ตามกฎหมาย โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ส่วนการทำความสะอาดคราบน้ำมันบริเวณก้อนหินต่างๆ ใช้วิธีฉีดน้ำแรงดันสูงอย่างระมัดระวัง และเช็ดคราบสกปรก เพื่อให้ชายหาดกลับคืนสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด นอกจากนั้นยังคงมีมาตรการเฝ้าระวัง ติดตาม และกำจัดฟิล์มน้ำมันที่อาจหลงเหลือถูกพัดมากับคลื่นเข้าสู่ชายหาดให้หมดไป
สำหรับการฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่เกาะเสม็ดนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ส.ค. กลุ่ม ปตท.ร่วมประชุมกับผู้ประกอบการเพื่อหาข้อสรุปแนวทางการฟื้นฟูเยียวยาโดยกำหนดคณะกรรมการรับผิดชอบแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ประกอบด้วยกลุ่มรีสอร์ตและที่พัก กลุ่มร้านค้าและร้านอาหาร กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย และกลุ่มชุมชนชาวบ้าน โดยก่อนหน้านี้กลุ่ม ปตท.จัดส่งทีมชุมชนสัมพันธ์เข้าพบชุมชนในพื้นที่รอบเกาะเสม็ดครบถ้วนทั้งหมดแล้วเพื่อแสดงความเสียใจและน้อมรับฟังผลกระทบ ที่ชุมชนได้รับและนำข้อมูลมาประกอบการจัดทำแผนฟื้นฟูเยียวยาอย่างบูรณาการร่วมกับจังหวัดและประชาชนในท้องที่ต่อไป
"กลุ่ม ปตท.ขอโทษและขอแสดงความรู้สึกเสียใจอีกครั้งต่อเหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันรั่วของพีทีจีซีในครั้งนี้ ผมขอขอบคุณทุกความร่วมมือทั้งจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐและอาสาสมัครทุกท่านที่ได้ร่วมดำเนินการทำความสะอาดพื้นที่อ่าวพร้าวอย่างต่อเนื่องเต็มกำลัง" นายณัฐชาติกล่าว
สำหรับการประชุมบอร์ด ปตท.ในวันที่ 5 ส.ค.นี้ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จะรายงานสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุจนถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามีกระแสข่าวที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงบ้างและมีการโจมตี ปตท.มีการปกปิดข้อมูล ไม่ยอมบอกข้อเท็จจริง อย่างกรณีคราบน้ำมันที่เห็นในภาพของจิสด้า ถ้าน้ำมันรั่วมากกว่า 5 หมื่นลิตรอย่างที่เข้าใจกันคงไม่สามารถเคลียร์ได้ภายใน 2 วัน
"ช่วงที่เกิดเหตุการณ์หลายคนฟังจากข่าว ไม่ได้มาเห็นที่หน้างานจริง ก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ เช่น มีการตั้งคำถามทำไม ปตท.ไม่ออกมาเตือนเรื่องอาหารทะเล มีการปกปิดข้อมูล ซึ่ง ปตท.เห็นว่ามีหน่วยงานรัฐออกมายืนยันแล้วว่าอาหารทะเลไม่มีอันตราย อย่างไรก็ตาม การประชุมบอร์ด ปตท.จะเป็นการรายงานข้อมูลทุกอย่างแบบละเอียดเพื่อให้กรรมการทุกคนได้รับทราบ" นายณัฐชาติกล่าว
ขณะที่พล.ร.ท.รุ่งศักดิ์ เสรีสวัสดิ์ ผบ.ทร.ภาคที่ 1 เดินทางโดย ฮ.กองทัพเรือ เพื่อสำรวจคราบน้ำมันทางอากาศ ซึ่งพบว่าเหลือเพียงคราบแผ่นฟิล์มบางๆ เท่านั้น สำหรับการจัดเก็บคราบน้ำมันส่วนใหญ่สำเร็จเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว โดยให้ลำเลียงบิ๊กแบ๊กที่บรรจุคราบน้ำมันและทรายที่ปนเปื้อนคราบน้ำมันจากอ่าวพร้าวเกาะเสม็ด ส่งขึ้นฝั่งที่ท่าเรือมาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อส่งมอบให้ ปตท.ดำเนินการต่อไป โดยกองทัพเรือได้จัดเรือหลวงมันใน บรรทุกบิ๊กแบ๊ก รวม 2 เที่ยว จำนวน 320 ตัน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันยังส่งเรือหลวงอ่างทอง พร้อมเรือลำเลียงพลของเรือหลวงอ่างทอง 2 ลำ และเรือลำเลียงพลของเรือหลวงจักรีนฤเบศร์อีก 2 ลำ เพื่อลำเลียงถุงบิ๊กแบ๊กจากชายหาดขึ้นสู่เรือระบายพลขนาดใหญ่นำขึ้นสู่ฝั่งที่ท่าเรือมาบ ตาพุด จังหวัดระยอง ให้เสร็จสิ้นภายในวันนี้
ที่ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 ต.เพ อ.เมืองระยอง นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม (ทส.) นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายมโนพัศ หัวเมืองแก้ว อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายนพพล ศรีสุข อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและคณะ หยุดพักรับประทานอาหารก่อนเดินทางข้ามไปเกาะเสม็ด ต.เพ อ.เมืองระยอง โดยมีนายวิชิต ชาตไพสิฐ ผวจ.ระยอง นายสุเมธ สายทอง หน.อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด นายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผอ.ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 พร้อมข้าราชการให้การต้อนรับ บนโต๊ะอาหารเป็นเมนูพิเศษคือ ปูม้า เป็นอาหารทะเลที่กำลังส่งผลกระทบกับกลุ่มประมงพื้นบ้านและแม่ค้าอาหารทะเลสวนสนและตลาดสดบ้านเพอย่างรุนแรง นักท่องเที่ยวไม่กล้าซื้อกิน รวมทั้งกรุ๊ปทัวร์ก็งดสั่งอาหารทะเล
นายวิเชษฐ์กล่าวว่า สำหรับเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อมระยะยาว ปตท. และกรมควบคุมมลพิษ และทางจังหวัดต้องดูแลอยู่อย่างต่อเนื่อง เรื่องของน้ำมันที่ซึมเข้าไปในเนื้อทราย ที่ปตท.จะขุดสำรวจเพื่อดูว่ามีน้ำมันตกค้างหรือไม่เป็นการกระทำอย่างต่อเนื่องตามหลักวิชาการ อาจมีเรื่องของการใช้จุลิน ทรีย์ย่อยสลาย ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะ
เรื่องของปะการัง และแพลงตอน สัตว์น้ำทะเล ได้สำรวจเบื้องต้นยังไม่พบว่ามีปะการังหรือปู ปลาทะเลตาย การที่ปะการัง สร้างเมือกห่อหุ้ม จะมีการตรวจสอบทางวิทยา ศาสตร์ต่อไป ในส่วนของความกังวลเรื่องสารที่ใช้ในการย่อยสลายคราบน้ำมันโดยการโปรยสารเคมีที่ระบุ เป็นสถานการณ์ทางเลือกที่ดีที่สุดที่ทั่วโลกใช้ สารจะไปรวมจับคราบน้ำมันย่อยสลายลงไปเป็นตะกอนตกไปในท้องทะเล ย่อยสลายได้โดยแบคทีเรียในท้องทะเล และแสงอาทิตย์ย่อยสลายตามหลักวิชาการก็เป็นอาหารของสัตว์ในท้องทะเล และจะได้ให้นักประดาน้ำลงดูว่ามีผลกระทบหรือไม่อย่างไร
ทั้งนี้ อีกประมาณ 1 สัปดาห์อ่าวพร้าวก็สามารถเปิดทำการ นักท่องเที่ยวก็สามารถพักได้ตามปกติแล้ว และขอให้ทางปตท.ใช้อ่าวพร้าวเกาะเสม็ดเป็นสถานที่การอบรม สัมมนา จัดกิจกรรมทุกประเภท เพื่อเป็นโอกาสที่จะสร้างความเชื่อมั่น สร้างเศรษฐกิจที่ดีขึ้นให้แก่พื้นที่ด้วยการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า ไทย กล่าวถึงกรณีน้ำมันรั่วบริเวณทะเลมาบตาพุด จ.ระยอง และน้ำมันได้ไหลเข้าสู่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง ว่า ปัญหาดังกล่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในภาพรวม แม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งยกเลิกการจองที่พักแล้วก็ตาม เนื่องจากประเมินเบื้องต้นน่าจะกระทบเฉพาะเศรษฐกิจภาพรวมประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท หากจะกระทบต่อเศรษฐกิจก็จะมีมูลค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งตรงนี้จะกระทบ 0.05-0.1 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามในส่วนของภาคการท่องเที่ยวนั้นเชื่อว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวในไทยก็อาจเปลี่ยนไปเที่ยวที่ชายหาดอื่นๆ ดังนั้น เม็ดเงินที่จะสูญเสียที่บริเวณเกาะเสม็ดก็จะไปถูกชดเชยในบริเวณอื่นของประเทศไทยแทน
"หากพิจารณาในพื้นที่ยอมรับว่าเศรษฐกิจในท้องถิ่นที่เกิดปัญหาน้ำมันรั่วจะมีผล กระทบอย่างมาก ทั้งในส่วนของการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมการประมง ซึ่งตรงนี้ก็ต้องเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องหาแนวทางในการเยียวยาต่อไป" นายธนวรรธน์กล่าว
ที่มา --ข่าวสด ฉบับวันที่ 6 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- ประดิษฐ สินธวณรงค์
- กระทรวงสาธารณสุข
- อาหารทะเล
- สารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน
- สารพีเอเอช(PAH: Polycyclic Aromatic Hydrocarbon)
- สารปรอท
- ตะกั่ว
- แคดเมียม
- สารหนู
- อนุพันธ์ของเบนซิน
- สารที-ที มิวโคนิก แอซิด(t-t muconic acid in urine)
- สุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ
- สำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)
- รบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
- ปานปรีย์ พหิทธานุกร
- ณัฐชาติ จารุจินดา
- กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท.
- ศูนย์อำนวยการจัดการเหตุฉุกเฉินและภาวะวิกฤต กลุ่มปตท.
- รุ่งศักดิ์ เสรีสวัสดิ์
- ทร.ภาคที่ 1
- วิเชษฐ์ เกษมทองศรี
- นายโชติ ตราชู
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- มโนพัศ หัวเมืองแก้ว
- กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
- นพพล ศรีสุข
- กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
- ธนวรรธน์ พลวิชัย
- ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
- มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
- น้ำมัน
- อ่าวพร้าว
- เกาะเสม็ด
- ระยอง
- 45 views