รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะกรรมการกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการแพทย์ในระดับสากล เพื่อคุ้มครองและสร้างความมั่นใจชาวต่างชาติที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในไทยทั้งรัฐและเอกชน ยึดหลักความถูกต้องทางวิชาการทางการแพทย์ ความสมเหตุสมผลทางการเงิน เป็นการพัฒนายกระดับมาตรฐานคุณภาพบริการของสถานพยาบาลไทยสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ใช้เวลาดำเนินการยุติเรื่องภายใน 90 วัน โดยเปิดช่องทางแจ้ง/ร้องเรียน 3 ช่องทาง
วันนี้ (8 สิงหาคม 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวเรื่อง “การพัฒนาระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการแพทย์ (Medical Mediator)” ว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศให้นโยบาย เมดิคัล ฮับ (Medical Hub) เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ สนับสนุนหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน พัฒนาธุรกิจบริการและผลิตภัณฑ์สุขภาพให้มีคุณภาพมาตรฐาน สามารถแข่งขันนานาชาติได้ ความสำเร็จของ Medical Hub ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้ความนิยมเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทย รวมทั้งได้มีข้อมูลเรื่องการร้องเรียนเข้ามา กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาให้มีระบบการไกล่เกลี่ยกรณีข้อพิพาททางการแพทย์ (Medical Mediator) ซึ่งกลไกดังกล่าวเป็นกลไกที่ได้ดำเนินการแล้วในต่างประเทศ หากเกิดกรณีข้อร้องเรียนหรือข้อพิพาททางการแพทย์ ทั้งในด้านคุณภาพการรักษาพยาบาล และอัตราค่าบริการ ระหว่างผู้ใช้บริการชาวต่างชาติกับสถานพยาบาลในประเทศไทยทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นระบบที่จำเป็นในการแก้ไขความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ โดยใช้ระบบการไกล่เกลี่ยเป็นหลัก เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและสร้างความเชื่อมั่น ความเข้าใจอันดีให้ชาวต่างชาติที่เข้ามารักษาตัวในประเทศไทย
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า ระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทฯในเบื้องต้นนี้ เน้นรองรับชาวต่างชาติที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ต้องจ่ายค่ารักษาเองทั้งหมดก่อน ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ประมาณร้อยละ 80 ในการดำเนินงานจะใช้ในรูปแบบคณะกรรมการกลาง ซึ่งได้แต่งตั้ง 1 ชุด มี 18 คน มีอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมโรงพยาบาลเอกชน แพทยสภา กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์คลินิกไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สมาคมประกันชีวิตไทย กระทรวงการต่างประเทศ มีสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นเลขานุการ รวมทั้งยังมีคณะอนุกรรมการวิชาการ คณะอนุกรรมการด้านการเงิน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมในแต่ละสาขามาร่วมดำเนินการในบทบาทหน้าที่ตามข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้อง
คณะกรรมการดังกล่าว ทำหน้าที่พิจารณา เจรจาไกล่เกลี่ย ทบทวนให้ข้อคิดเห็นโดยยึดหลักความถูกต้องทางวิชาการทางการแพทย์ในระดับสากล รวมทั้งความสมเหตุสมผลในด้านการเงิน เป็นการยกระดับการพัฒนาระบบการไกล่เกลี่ยทางการแพทย์ของไทยสู่ระดับสากล มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการกรณีเกิดข้อพิพาททางการแพทย์ ซึ่งหากทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องยินยอมเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และกำหนดระยะเวลาดำเนินการทั้งระบบไม่เกิน 90 วัน หากไม่ยินยอมจะส่งเรื่องให้สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะกรณีเป็นโรงพยาบาลเอกชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปโดยเปิดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และได้เพิ่มช่องทาง 3 ช่องทางเฉพาะในการรับเรื่องร้องเรียนเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยเพิ่มจากช่องทางปกติเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น ได้แก่ 1.Web Portal : www.thailandmedicalhub.net , E-mail : medicalhub702@gmail.com 2. Call Center กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หมายเลข 02-193-7999 ตลอด 24 ชั่วโมง 3.รับเรื่องร้องเรียนโดยตรงผ่านทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมีข้อร้องเรียนที่เข้าสู่กลไก Medical Mediator แล้วและประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน
ทั้งนี้จากข้อมูลการร้องเรียนการให้บริการด้านการแพทย์ของไทย ปี 2555 พบว่ามีการร้องเรียนเกี่ยวโรงพยาบาลร้อยละ 59 และร้องเรียนเกี่ยวกับคลินิกร้อยละ 41 เรื่องที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดคือ ระบบการให้บริการของสถานพยาบาลร้อยละ 40 การรักษาพยาบาลร้อยละ 15 ค่ารักษาพยาบาลแพงร้อยละ 9 ร้องเรียนพฤติกรรมบุคลากรทางการแพทย์ร้อยละ 9 และคลินิกเถื่อน/หมอเถื่อนร้อยละ 8 รัฐบาลได้คุ้มครองผู้บริโภคคนไทยด้านสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน โดยเปิดช่องทางปกติเพื่อรับเรื่องร้องเรียน 8 ช่อง ดังนี้
1.ตู้ ปณ. 1111 สำนักนายกรัฐมนตรี 2.สายด่วน 0- 2193 -7999 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 3.เว็บไซต์ www.hss.moph.go.th 4.ไปรษณีย์ถึงศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อาคาร 5 ชั้น 5 กระทรวงสาธารณสุข อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 5.ตู้รับเรื่องร้องเรียนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 6.ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สำนักกฎหมาย สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 7.โทรศัพท์หมายเลข 0 2149 5652 โทรสารหมายเลข 0 2149 5652 และ8.อีเมลล์ law_hss@hss.mail.go.th ซึ่งแนวทางในการพัฒนาระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการแพทย์ในครั้งนี้ จะเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในการพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ สร้างความยอมรับ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติ
- 17 views