หมอซินเทีย เจ้าของรางวัลแมกไซไซ ชูงานแก้ปัญหาระบบสุขภาพตะเข็บชายแดนหนึ่งในตัวอย่างการพัฒนาระบบสุขภาพ เผยสถานการณ์สุขภาพชายแดนไทย-พม่าเริ่มดีขึ้น หลังไทยมีนโยบายให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพคนชายขอบมากขึ้น ในงานประชุมวิชาการสังคมและสุขภาพ ปี 56
สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ และสมาคมนักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาสยาม (สสมส. Siamese Association of Sociologists and Anthropologists, SASA) จัดการประชุมวิชาการสังคมและสุขภาพ ประจำปี 2556 หัวข้อ “แนวรบสุขภาพ : พรมแดนวัฒนธรรมกับการรุกของทุน” เปิดการประชุมด้วยปาฐกถาของ พญ.ซินเทีย หม่อง แพทย์ผู้ก่อตั้งคลินิกแม่ตาวและได้รับรางวัลแมกไซไซ พร้อมการแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการในหัวข้อด้านสังคมศาสตร์และสุขภาพ สิทธิของผู้ด้อยโอกาส และทางเลือกสุขภาพในโลกทุนนิยม ในวันที่ 6-7 สิงหาคม 2556 ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ
พญ.ซินเทีย หม่อง ผู้ก่อตั้งคลินิกแม่ตาว และเจ้าของรางวัลแมกไซไซ กล่าวว่า ภายหลังประกาศข้อตกลงหยุดยิง สถานการณ์ของระบบสุขภาพมีแนวโน้มค่อนข้างดีขึ้น สภาพการรักษาผู้ป่วยปัจจุบัน ไม่ใช่ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการสู้รบ แต่เป็นคนที่มาแสวงหาระบบสุขภาพที่ดีกว่า และเป็นแรงงานข้ามชาติทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย ทั้งนี้ปัญหาสุขภาพได้เปลี่ยนจากโรคติดต่อแบบเดิม เช่น โรคมาลาเรีย เป็นปัญหาอื่นๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพของแม่และเด็ก เช่น การคลอดก่อนกำหนด สุขภาพเด็กหลังคลอด การทำแท้ง ฯลฯ แต่โดยรวมก็นับได้ว่าสถานการณ์การดูแลสุขภาพของประชากรตามเขตชายแดนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีนโยบายให้ความสำคัญกับสิทธิทางสุขภาพของคนชายแดน คนชายขอบ คนข้ามถิ่นมากขึ้น นอกจากนั้น การดำเนินงานที่สำคัญอีกด้านหนึ่งคือ แผนแม่บทความร่วมมือด้านสุขภาพชายแดนไทย ซึ่งทำให้เกิดความร่วมมือด้านสุขภาพของหลายฝ่าย ตลอดจนความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยและพม่า ในการพัฒนาบุคลากรของประเทศพม่าให้กลับไปพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพ เพื่อช่วยลดการข้ามแดนมาประเทศไทย การร่วมกันพิทักษ์สิทธิของผู้คนชายขอบ การแลกเปลี่ยนข้อมูลของการเฝ้าระวังโรคต่างๆ รวมทั้งการดำเนินงานของคลินิกแม่ตาวซึ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิทางด้านสุขภาพ และคุ้มครองความเป็นมนุษย์ของกลุ่มประชากรเขตชายแดนเป็นสำคัญ
ด้าน นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กล่าวว่า สวสส. ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2545 เพื่อบริหารจัดการความรู้และพัฒนาเครือข่ายการวิจัยด้านสังคมศาสตร์และสุขภาพ ตลอดจนการสร้างองค์ความรู้ที่สามารถใช้ขับเคลื่อนนโยบายและสร้างแนวทางปฏิบัติ สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจในมิติของสังคมมากขึ้น และในโอกาสครอบรอบ 10 ปี ของการก่อตั้ง สวสส. รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้าใจเรื่องการจัดการระบบสุขภาพข้ามชาติ รองรับกับสถานการณ์ของรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ สวสส.จึงจัดการประชุมวิชาการสังคมและสุขภาพ ประจำปี 2556 ในหัวข้อ“แนวรบสุขภาพ : พรมแดนวัฒนธรรมกับการรุกของทุน” โดยมีแนวความคิดว่า การแพทย์ก้าวหน้าตลอดเวลา แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำกันของการเข้าถึงสุขภาพที่ดีอยู่ ตามเส้นแบ่งของสังคมและวัฒนธรรม ตะเข็บความขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะคนไร้รัฐ หรือกลุ่มเด็กด้อยโอกาส โดยการประชุมครั้งนี้ มุ่งให้เห็นถึงความสำคัญของสถานการณ์ทางสังคมกับเรื่องสุขภาพที่ไม่สามารถแยกจากกันได้
“การประชุมตลอดทั้งสองวัน มีนักวิจัยและนักวิชาการเข้าร่วมการเสวนาอย่างคับคั่ง อาทิ ดร.ซินเทีย หม่อง ศ.สุริชัย หวันเก้ว ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ฯลฯ กับหัวข้อเสวนาที่น่าสนใจ เช่น “สิทธิสุขภาพ : พรมแดนวัฒนธรรมกับการระบาดวิทยาของความรุนแรง” เพื่อให้เข้าใจความสำคัญของสิทธิสุขภาพและปัญหาของการดำรงชีวิตข้ามพรมแดนในยุคโลกาภิวัฒน์ “การแพทย์ข้ามพรมแดน-การตลาดข้ามโลกของสุขภาพ” เพื่อให้เข้าใจและรู้เท่าทันต่อการจัดการสุขภาพซึ่งถูกระบบเศรษฐกิจยุคปัจจุบันทำให้กลายเป็นสินค้าและบริการตามกลไกตลาด “ความรู้ท้องถิ่น กับการเปลี่ยนแปลงโลกของสุขภาพในอาเซียน” เพื่อให้เข้าใจถึงการจัดการสุขภาพด้วยความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดจากระบบเศรษฐกิจและการค้าข้ามพรมแดนในอาเซียน” ดร.นพ.โกมาตร กล่าว
ทั้งนี้ภายนอกห้องประชุมยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีก เช่น การแสดงดนตรีและเรื่องราวของชาติพันธุ์ (อาเซียน) โดย อ.อานันท์ นาคคง การจัดแสดงนิทรรศการ “เป็นมา เป็นไป แผนงานวิจัยสังคมและสุขภาพ” สะท้อนให้เห็นถึงการวิจัยและการทำงานด้านสังคมศาสตร์และสุขภาพที่ได้ใช้การศึกษาแบบสหวิทยาการ ทั้งสังคมศาสตร์การแพทย์ มานุษยวิทยา ร่วมกับการทำวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษาเรื่องสุขภาพ นิทรรศการ “ภาพถ่ายภัยพิบัติ” โดย อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ และช่างภาพสารคดีระดับแนวหน้าของประเทศไทย ที่ได้รวบรวมภาพถ่ายจากเหตุการณ์ภัยพิบัติในหลายพื้นที่ ได้แก่ เหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กิสที่เมียร์มา ปี 2551 เหตุการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่น ปี 2555 และเหตุการณ์มหาอุทกภัยในประเทศไทย ปี 2554 มาจัดแสดงไว้ในงาน
ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลหลังการประชุมฯ และความเคลื่อนไหวอื่นๆ ด้านสังคมศาสตร์และสุขภาพได้ที่ www.shi.or.th หรือ www.facebook.com/ShiAnnualConference
- 37 views