โรคมาลาเรียระบาดหนักที่ชายแดนไทย-พม่า โดยเฉพาะ 5 อำเภอของ จ.ตาก เข้ารักษาที่คลินิกหมอซิเทียวันละกว่า 300 ราย ด้านสาธารณสุขเผยพบผู้ป่วยเกือบหมื่นราย
วันที่ 20 ก.ค.2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ไข้มาลาเรียและไข้เลือดออก ที่ชายแดนไทย-พม่า 5 อำเภอชายแดน ได้แก่ แม่สอด, พบพระ, อุ้มผาง, แม่ระมาด และท่าสองยาง จ.ตาก เริ่มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มคนต่างด้าวชาวกะเหรี่ยงสัญชาติพม่าที่เข้ามาขายแรงงาน และยังพบว่ามีผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงในศูนย์อพยพชายแดนไทย มีเชื้อและป่วยจากไข้มาลาเรียและไข้เลือดออก ทำให้ สสจ.ตาก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้ององเร่งระดมป้องกัน ทั้งในส่วนของการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ และวิธีการป้องกันการแพร่ระบาด
ขณะที่ คลินิกแม่ตาว ของ พ.ญ.ซินเทีย หม่อง ซึ่งเป็นสถานพยาบาลไร้พรมแดน ที่ดูแลตรวจรักษาชาวกะเหรี่ยงสัญชาติพม่า ที่บ้านแม่ตาว ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก นั้น มีคนต่างด้าวเดินทางมาขอเข้ารักษาตัวจากอาการป่วยจำนวนมากวันละไม่ต่ำกว่า 300 ราย พ.ญ.ซินเทีย หม่อง จึงให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรประจำคลินิกได้ติดตามและเฝ้าระวัง สถานการณ์โรคติดต่อที่นำโดยยุงเป็นพาหนะแพร่เชื้ออย่างใก้ลชิด ซึ่งว่ามีสถิติเพิ่มมากขึ้นจากปี 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งทางคลินิกแม่ตาวได้จัดเตรียมยาและเวชภัณฑ์ ในการตรวจรักษาและให้การดูแลอย่างเต็มที่ ซึ่งในขณะนี้ยังสามารถรับผู้ป่วยได้อยู่ แต่หากมีผู้ป่วยมากกว่านี้ ก็ต้องขอความร่วมมือและช่วยเหลือไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้อง ในการสำรองยาและเวชภัณฑ์ ในการรองรับผู้ป่วยที่อาจจะเพิ่มขึ้นด้วย
ด้าน นายประเสริฐ สอนเจริญทรัพย์ สาธารณสุขอำเภอแม่สอด จ.ตาก ได้นำเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เปิดศูนย์รณรงค์ป้องกันโรคมาลาเรีย ให้กับประชาชนทั้งไทยและพม่าที่บริเวณ บ้านห้วยมหาวงศ์ หมู่ที่ 9 ต.มหาวัน อ.แม่สอด มีชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพม่าบ้านมินลาป่าน ซึ่งอยู่ตรงข้ามฝั่งไทยจำนวนกว่า 200 คน เดินทางข้ามแม่น้ำเมยมารับบริการตรวจหาเชื้อไข้มาลาเรีย
โดย นายประเสริฐ กล่าวถึงสถานการณ์โรคระบาดจากยุง เป็นพาหนะในช่วงฤดูฝน ว่า จากสถิติของ สสจ.ตาก ระบุว่า โรคมาลาเรียและโรคติดต่อโดยแมลงหรือยุง ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของจังหวัดตาก เนื่องจากยังพบผู้ป่วยมาลาเรียสูงที่สุดของประเทศมาโดยตลอด โดยในปี 2556 ตั้งแต่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.2556 มีผู้ป่วยทั้งประเทศจำนวน 22,546 ราย เป็นผู้ป่วยด้วยโรคมาลาเรียในพื้นที่ จ.ตาก 8,901 ราย เป็นผู้ป่วยชาวไทย 3,299 ราย ชาวพม่า 5,602 ราย
ปัญหาที่สำคัญ ได้แก่ การอพยพเคลื่อนย้ายของประชากรทั้งชาวไทยและต่างชาติ ตามแนวชายแดนไทย-พม่า ทำให้มีการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรียเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง อีกทั้งแรงงานต่างชาติยังขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ประกอบกับงบประมาณสำหรับควบคุมป้องกันไข้มาลาเรียในประเทศไทยได้ลดลงอย่างมาก ทำให้ไม่เพียงพอต่อการให้บริการครอบคลุมในประชากรกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว การมาเปิดรณรงค์ในครั้งนี้เพื่อลดปัญหาการเกิดโรคมาลาเรียในประชาชนกลุ่มเสี่ยงและแรงงานต่างด้าวในพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณชายแดน
นอกจากนี้ ยังได้มีการตรวจเลือดประชาชนทั้งชาวไทยและพม่า มีการแจกมุ้งป้องกันยุงและน้ำยาชุบมุ้งและทรายอะเบท เพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
ที่มา: http://www.siamrath.co.th
- 306 views