Hfocus -3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นับเป็นพื้นที่ซึ่งมีอัตราการตายของแม่และเด็กที่สูงมาก ในช่วงที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุนอกจากปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญ ต่องานส่งเสริมดูแลสุขภาพที่ต้องลงพื้นที่ดูแลชาวบ้านอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีบริบททางวัฒนธรรม ความเชื่อ ที่ทำให้ยากต่อการเข้าถึงเพื่อนำไปสู่การปรับพฤติกรรมให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น และ ต.ยาบี อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่หนึ่งที่ประสบปัญหาดังกล่าว งานป้องกันและส่งเสริมการดูแลสุขภาพที่นี่จึงเป็นงานท้าทาย
ระยะเวลา การทำงานตลอด 9 ปี ของ "นางปาริชาติ แก้วทองประคำ" พยาบาล นักวิชาการสารธารณสุขชำนาญการ ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลยาบี (รพ.สต.ยาบี) แห่งนี้ ไม่เพียงแต่สามารถทำงานป้องกันและส่งเสริมสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิผล แต่ยังช่วยลดอัตราการตายแม่และเด็กที่เป็นปัญหาเรื้อรังในพื้นที่จนเป็นที่ ยอมรับ เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ แม้จะเป็นชาวไทยพุทธซึ่งทำงานท่ามกลางชาวมุสลิมก็ตาม ด้วยการยึดหลักการง่ายๆ ในการทำงานคือ ยอมรับวัฒนธรรมและวีถีชีวิตของคนที่นี่ด้วยความเข้าใจ ใช้ศาสนานำการสาธารณสุข ปรับหลักการดูแลสุขภาพให้เข้ากับบริบททางสังคม ซึ่งทั้งหมดต้องใช้เวลา
ช่วงแรกของการย้ายเข้ามาทำงานในพื้นที่เมื่อ ปี 2547 นางปาริชาติ เริ่มต้นเล่าว่า เริ่มจากการวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพของชาวบ้าน ต.ยาบี และพบว่าพื้นที่นี้มีปัญหาสุขภาพแม่และเด็กค่อนข้างมาก แต่ละปีมีทารกตาย 2-3 คน ไม่รวมทารกที่ตายในระหว่างตั้งครรภ์ สาเหตุสำคัญมาจากขาดการดูแลที่ดี ไม่มีการฝากครรภ์ ภาวะโภชนาการที่ไม่เหมาะสม หลายอย่างมาจากความเชื่อที่มีอยู่เดิม การคลอดลูกต้องคลอดที่บ้าน ไม่คลอดที่โรงพยาบาล รวมถึงผู้หญิง ต.ยาบี ส่วนใหญ่มีลูกมาก เฉลี่ย 4-6 คน บางครอบครัวมีถึง 12 คน และจากฐานะที่ค่อนข้างยากจนเพราะส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา การดูแลครรภ์ การดูแลลูกๆ จึงทำได้ไม่พอ
ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มต้นทำงานมุ่งแก้ปัญหาอนามัยแม่และเด็กก่อน ซึ่งวิธีการนั้น หากให้ชาวบ้านทำตามที่เราบอกให้ปรับเปลี่ยนคงเป็นไปได้ยาก แต่เนื่องจาก ต.ยาบี มีวัฒนธรรมที่ยอมรับผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา จึงใช้วิธีเข้าหาผู้นำที่ชาวบ้านเชื่อถือแทน โดยนำข้อมูลปัญหาที่พบไปบอกให้รับรู้ ขอให้ช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหา ซึ่งหากผู้นำมีความเห็นและตัดสินใจอย่างไร ชาวบ้านก็จะรับฟังพร้อมทำตาม
ทั้งนี้นอกจากการเข้าหาผู้นำแล้ว งานผดุงครรภ์ดูแลแม่และเด็กของชาวมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะนับถือ "นักผดุงครรภ์โบราณ" มาก เรียกกันว่า "โต๊ะบีเด" ดังนั้นจึงได้เข้าหาโต๊ะบีเดด้วย เพื่อให้เป็นผู้ทำหน้าที่สื่อสารการดูแลครรภ์ ทั้งก่อนและหลังคลอดที่ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยแม่และลูกเอง โดยเราต้องเป็นฝ่ายเข้าหาโต๊ะบีเดก่อน แสดงความจริงใจ ให้ข้อมูลความรู้วิธีคลอดลูกและการดูแลครรภ์ที่ดี การฝากครรภ์ที่เป็นเรื่องจำเป็น เพื่อที่โต๊ะบีเดจะนำไปปรับใช้พร้อมถ่ายทอดความรู้ให้ผู้หญิงในหมู่บ้าน ซึ่งช่วยแก้ปัญหาได้
"เราจะไม่ใช้วิธีห้ามทำ แต่จะให้ข้อมูลไปเรื่อยๆ เพื่อปรับความเชื่อที่มีอยู่เดิม ผู้หญิงบางคนเคร่งศาสนามาก จะให้โต๊ะบีเดทำคลอด เราก็ไม่ห้าม แต่พยายามขอให้ไปคลอดที่โรงพยาบาล จะให้โต๊ะบีเดไปด้วยได้ และโต๊ะบีเดส่วนใหญ่อายุมากแล้ว ทำคลอดไม่ไหว การส่งไปคลอดที่โรงพยาบาลน่าจะดีกว่าทำคลอดเองที่บ้านที่มีความเสี่ยง มากกว่า ทำให้ชาวบ้านไปคลอดที่โรงพยาบาลมากขึ้น " พยาบาล รพ.สต.ยาบี กล่าวและเล่าต่อว่า หลังจากที่คลอดลูกแล้ว ยังมีงานติดตามดูแลทั้งแม่และลูกต่อ ซึ่งผู้หญิงหลังคลอดมักนิยมอยู่ไฟ นอนบนแคร่ไม้ไผ่นานถึง 21 วัน เพื่อขับน้ำคาวปลา มักมีปัญหาติดเชื้อ เราไม่ห้ามทำเช่นกัน แต่จะช่วยดูแลแนะนำการรักษาความสะอาดเพื่อป้องกัน รวมถึงแนะนำการกินอาหาร การให้นมแม่กับลูกแรกคลอดถึง 6 เดือน การเลี้ยงดูลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ
นางปาริชาติ บอกต่อว่า งานที่ทำเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ ให้ข้อมูลผ่านผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา โต๊ะบีเด และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ นอกจากงานแม่และเด็กแล้ว ยังได้ทำงานป้องกันและส่งเสริมการดูแลสุขภาพ ซึ่งจะมีการบริการทั้งที่ รพ.สต. และการออกเยี่ยมบ้านตามหมู่บ้านต่างๆ ทุกเดือน เพื่อสำรวจสุขภาพ ติดตามผู้ป่วยเรื้อรัง และฟื้นฟูผู้พิการ ทำให้ชาวบ้าน ต.ยาบี ร้อยละ 80 เข้าถึงบริการสุขภาพ เหลือเพียงร้อยละ 20 เป็นกลุ่มที่เดินทางไปทำงานประเทศมาเลเซีย
"งานป้องกันบางอย่างต้อง ใช้เวลาเช่นกัน อย่างการตรวจมะเร็งปากมดลูก คนมุสลิมจะถือว่าร่างกายตั้งแต่สะดือจนถึงหัวเข่าเป็นสิ่งต้องห้าม ไม่ให้คนอื่นเห็น ต้องค่อยๆ ให้ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าเป็นการตรวจเพื่อป้องกัน ไม่ให้ลุกลามเป็นโรคร้าย ซึ่งมีชาวบ้านบางคนเริ่มเข้าใจ"
อย่างไรก็ ตามจุดแข็งสำคัญของ รพ.สต.ยาบี ที่ทำให้งานที่ทำประสบความสำเร็จ คือ ผู้อำนวยการ รพ.สต.ยาบี ซึ่งเป็นคนที่เกิดในพื้นที่ ทำให้ทราบข้อมูลพื้นที่ในทุกจุด ช่วยวางแผนในการทำงานได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีผู้นำชุมชน นายก อบต.ยาบี ที่ให้ความสำคัญต่องานดูแลสุขภาพในทุกด้าน ให้งบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็น อย่างยูนิตทำฟัน ซึ่ง รพ.สต.ยาบี นับเป็นสถานีอนามัยแห่งแรกใน จ. ปัตตานี ที่มียูนิตทำฟันไว้บริการ
แม้ว่าที่ รพ.สต.แห่งนี้ จะเป็นพยาบาลไทยพุทธเพียงคนเดียว แต่ความต่างของศาสนาไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงาน นางปริชาติ กล่าวว่า ตรงกันข้ามกลับได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ทั้งจากเจ้าหน้าที่ด้วยกันที่คอยช่วยเหลือในการทำงาน ชาวบ้านที่เห็นเราเป็นเหมือนญาติคนหนึ่ง ทุกครั้งที่ออกเยี่ยมบ้าน มักได้รับของกินเล็กๆ น้อยๆ หรือผลไม้ติดไม้ติดมือมาเสมอ ถึงแม้เราจะพูดภาษามาลายูไม่ได้ ฟังไม่ออก จะมีน้องๆ พยาบาลมุสลิมช่วยแปลให้ บางครั้งชาวบ้านจะเอามือมาแตะตัวเราเบาๆ เพื่อบอกว่าเขารู้สึกดีกับเรา และทำให้เรารู้สึกดีไปด้วย ซึ่งตอนนี้พอพูดภาษามาลายูได้บ้างแล้ว แต่เป็นคำสั้นๆ
"ช่วงแรกลง พื้นที่ ชาวบ้านจะค่อนข้างระวังที่จะพูดคุยและให้ข้อมูลอยู่บ้าง เพราะเราเป็นคนนอกพึ่งเข้ามาอยู่ใหม่ แถมมีสามีเป็นทหาร เป็นครอบครัวทหารด้วย แต่หลังจากที่มุ่งมั่นแสดงความจริงใจว่า อยากมาทำงานเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพให้กับพื้นที่จริงๆ เราจะไม่ถามหรือพูดถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านเพื่อไม่ให้ เกิดความระแวงกัน ถามไถ่เฉพาะทุกข์สุขและสุขภาพเท่านั้น ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันจึงค่อยๆ เกิดขึ้น จนกลายเป็นเหมือนญาติพี่น้อง"
นางปาริชาติ เล่าต่อว่า นอกจากนี้ในการทำงานต่างๆ จะดึงชาวบ้านร่วมวางแผน นอกจากจะทำให้การทำงานราบรื่น ไม่มีปัญหาแล้ว ยังได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านอย่างดี เห็นได้จากเวลาเชิญประชุมหรือจัดกิจกรรมสุขภาพจะมีชาวบ้านมาร่วมเป็นร้อย เป็นพันคน ขณะเดียวกันเราก็ไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ชาวบ้านจัดขึ้นด้วย เป็นการสร้างความคุ้นเคย นอกจากนี้การทำงานยังเน้นที่ความเสมอภาคไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธหรือมุสลิม การบริการ การดูแลต้องเท่าเทียมกัน ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ชาวบ้านจะคอยดูจุดนี้อยู่ ซึ่ง ต.ยาบี มี 6 หมู่บ้าน มีหมู่บ้านเดียวที่ดป็นไทยพุทธ
สำหรับปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น นั้น นางปาริชาติ บอกว่า แม้จะอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ ต.ยาบี ถือเป็นพื้นที่ไข่แดง เพราะแม้โดยรอบจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่ที่นี่กลับไม่มีความรุนแรง อีกทั้งผู้นำชุมชนได้ให้คำรับรองความปลอดภัยว่า ใน ต.ยาบี สามารถเดินไปได้ทุกที่ ไม่มีปัญหา ทำให้รู้สึกผ่อนคลายความกลัวลงได้บ้าง อีกทั้งยังคอยเยียวยาบอกกับตัวเองว่า เราเป็นพยาบาลดูแลรักษาชาวบ้าน ไม่ใช่เป็นกลุ่มเป้าหมายความรุนแรง จึงไม่น่าเป็นอันตรายอะไร แต่ยอมรับว่าเครียดอยู่บ้างหากต้องออกนอกพื้นที่ ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ
"เวลาออกนอกพื้นที่ก็ออกไปตามปกติ แต่จะดูเวลา ดูถนนก่อน หากมีชาวบ้านบอกให้ไปทางไหน เราจะไปทางนั้น คอยสังเกต คอยฟังเสียงคนในชุมชนทัก ต้องไม่ประมาท แต่หากอยู่ในชุมชนไม่มีปัญหา"
นางปาริชาติ บอกทิ้งท้ายว่า แม้จะอยู่ท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่ยังอยากทำงานในพื้นที่นี้ต่อไป เพราะมีงานต้องทำต่อเนื่อง และที่ผ่านมาได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่มาเกือบ 10 ปีแล้ว รู้สึกเป็นเหมือนส่วนหนึ่งในพื้นที่ ทั้งนี้มักถูกถามเสมอว่า อยู่ ต.ยาบี ไม่กลัวเหรอ แต่หากใครมาอยู่จะรู้ว่า ต.ยาบี เป็นพื้นที่เข้มแข็ง ดูแลปกครองเหมือนพี่กับน้อง ไม่แบ่งแยกว่าเป็นไทยพุทธหรือมุสลิม ทำให้อยู่ในพื้นที่และทำงานอย่างมีความสุขจนถึงทุกวันนี้
- 31 views