ในปัจจุบันด้วยความจำเป็นหลายประการในชีวิต ทำให้เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยหลายท่านต้องหันไปซื้อหายาตามร้านขายยามารับประทานเองแทนการไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ซึ่งท่านผู้อ่านเคยทราบหรือไม่ครับว่า ในประเทศไทยเรานั้นมีร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำอยู่มากกว่า 4,000 ร้าน อย่างใน กทม.เองก็มีถึงประมาณ 1,200 ร้าน...ใช่แล้วละครับ วันนี้ผมจะมาพูดคุยให้ทุกท่านทราบว่าทำไมเราจึงจำเป็นต้องไปซื้อยา ณ ร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำ หรือร้านขายยาที่อยู่ในเครือข่าย "ร้านยาคุณภาพ"
เภสัชกรวิชัย นาคสุวรรณ สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลว่า โดยปกติแล้วผู้ป่วยที่มาร้านขายยานั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่ม คือ
1. ผู้ป่วยที่วินิจฉัยอาการของตัวเองมาเรียบร้อยแล้ว จึงมาซื้อยาที่ร้านขายยา เช่น มาซื้อยาแก้อักเสบ (ตัวไหนก็ได้)
2. ผู้ป่วยที่วินิจฉัยตัวเองมาแล้ว และจัดยาให้ตัวเองเรียบร้อยแล้ว ก็จะมาซื้อยาโดยระบุชื่อยี่ห้อยาอย่างชัดเจน เช่น มาซื้อยาแก้อักเสบ "อะม็อกซี่"
3. ผู้ป่วยมาร้านขายยาแล้วบอกอาการที่เป็นโดยให้เภสัชกรจัดยาให้
"แต่ไม่ว่าผู้ป่วยที่มาร้านยาจะบอกอาการที่เป็น บอกว่าตัวเองเป็นโรคอะไรอย่างชัดเจน หรือบอกว่าต้องการซื้อยาชนิดไหน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องน่ากังวลนะครับ ว่าสิ่งที่ผู้ป่วยบอกนั้นจริงเท็จแค่ไหนอย่างไร ดังนั้นการดูแลที่สำคัญคือ ต้องรู้ให้ได้ก่อนว่าใครเป็นผู้ป่วย เพราะบ่อยครั้งเราพบว่าผู้มาซื้อยานั้นไม่ได้เป็นผู้ป่วยเอง แต่เป็นการฝากมา เช่น อาจจะซื้อไปให้เด็กหรือให้คนแก่ หรือบางครั้งอาจเป็นเพื่อนบ้านที่ฝากมาซื้อ สังเกตง่าย ๆ คือพอเราซักอาการไปเรื่อย ๆ เขาก็บอกไม่ได้ จนต้องโทรฯ กลับไปถามผู้ป่วยที่บ้าน...ดังนั้นถ้าจะมาซื้อยารับประทานเองหรือซื้อให้คนอื่น ก็ควรที่จะต้องทราบประวัติของผู้ป่วยด้วย มิฉะนั้นแล้วอาจมีโทษได้เพราะอาจได้ยาไม่ต้องกับโรคหรืออาการที่เป็นนอกจากนี้ เภสัชกรอาจต้องมีการซักประวัติเพิ่มเติมด้วยว่าแพ้ยาหรือไม่ แพ้ยาใดบ้าง มีผลข้างเคียงกับยาหรือไม่ เหล่านี้คือรายละเอียดที่จำเป็นและสำคัญ
ต่อไปก็คือเราต้องรู้ว่าผู้ป่วยมีอาการอย่างไรหรือเป็นโรคอะไร คือ ผู้ป่วยอาจจะบอกอาการหรือบอกโรคที่สงสัยว่าตัวเองเป็น แต่ จริง ๆ แล้วอาจจะเป็นอีกโรคหนึ่ง ก็เป็นได้ และ สุดท้ายคือต้องรู้ให้ได้ว่าโรคที่ผู้ป่วยเป็นนั้นเกิดจากสาเหตุใด...เมื่อเรารู้ทั้งหมดแล้วเราก็สามารถจะจัดยาให้ผู้ป่วยได้ ผู้ป่วยก็จะได้รับยาที่ตรงกับโรคหรืออาการที่เป็นมากที่สุด ได้รับคำแนะนำการใช้ยาที่ถูกต้อง รวมถึงได้ทราบวิธีการดูแลตัวเองเพื่อให้หายจากอาการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น"
ภก.วิชัย ยกตัวอย่างผู้ป่วยรายหนึ่งให้ฟังว่า "ผู้ป่วยมาถึงร้านขายยาก็บอกว่าตัวเองท้องเสียมา 2 วันแล้ว ปวดท้องตลอดเวลา เข้าห้องน้ำทั้งวัน ถ่ายเป็นน้ำ ไม่มีมูก ไม่มีเลือด ไม่มีไข้ เภสัชกรก็ถามว่าแล้วถ่ายครั้งสุดท้ายตอนไหน ผู้ป่วยก็ตอบว่าเมื่อเช้านี้แต่ไม่ได้ถ่ายเป็นน้ำ เมื่อซักไป-ซักมาก็ได้ความว่า จริง ๆ แล้วผู้ป่วยถ่ายเหลวเป็นน้ำครั้งสุดท้ายก็คือเมื่อวานนี้ตอนเที่ยง ...สรุปคือตอนนี้ผู้ป่วยหายท้องเสียแล้ว แต่ยังมีอาการปวดท้องอยู่ แต่ว่าปวดท้องจากอะไรนั้นเป็นเรื่องที่เราต้องค้นหากันต่อ และเมื่อเภสัชกรซักถามเพิ่มเติมก็ได้ข้อมูลว่า โดยปกติแล้วผู้ป่วยจะทานข้าววันละ 2 ครั้ง คือ 11.00 น. หนึ่งมื้อ และ 17.00 น. หนึ่งมื้อ ส่วนตอนเช้าผู้ป่วยจะดื่มกาแฟทุกวัน วันละ 1-2 แก้ว มีการดื่มเหล้า-เบียร์เป็นบางวัน แต่ว่าชอบทานอาหารรสเผ็ดจัด มีความ เครียดบ้างเล็กน้อย...เมื่อสรุปจากข้อมูล ที่ได้มาทั้งหมดก็คือ ผู้ป่วยไม่ได้มีอาการท้องเสียแล้ว แต่ที่ปวดท้องก็เพราะ มีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไปเนื่องจากดื่ม กาแฟทุกวัน บวกกับดื่มเหล้า-เบียร์ ชอบทานอาหารรสจัด และมีความเครียด ซึ่งปัจจัยหลาย ๆ อย่างรวมกันนี้ทำให้ผู้ป่วยมีกรดในกระเพาะอาหารมาก ทำให้มีอาการปวดท้องดังกล่าว
ดังนั้นการให้ยารับประทานเพียงอย่างเดียว ผู้ป่วยอาจจะหายช้า หรือเป็น ๆ หาย ๆ เพราะยาที่ให้ก็จะเป็นยาลดกรด ยาขับลมและยาช่วยย่อย ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการให้หายได้เป็นครั้งคราว แต่ เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเอง ก็จะทำให้อาการเหล่านั้นกลับมาอีก ดังนั้นก็ต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ป่วยให้ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตและ การรับประทานอาหารร่วมกับการทานยาด้วย เพราะถ้าหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ได้ อาการต่าง ๆที่เป็นก็จะหายได้เร็วขึ้น" และถ้าซื้อยาไปทานได้ระยะหนึ่งแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรต้องพบแพทย์ค้นหาโรคต่อไป
ใช่แล้วครับ การปรับพฤติกรรมแม้จะเป็นเรื่องเล็ก หรืออาการที่ผู้ป่วยเป็นอยู่อาจจะไม่มากมาย แต่จริง ๆ แล้วมันอาจจะลุกลามไปจนมีอาการ ที่มากมายหรือกลายเป็นโรคร้ายแรงก็ได้ การมาใช้บริการร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำนั้นมีประโยชน์ครับ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ มาถึงร้านแล้วบอกเภสัชกรเพียงแค่ว่า มา ซื้อยาชนิดไหนหรือยาแก้โรคอะไร แต่จะมีประโยชน์มากกว่าถ้าได้มาพูดคุยและเล่าอาการโดยละเอียด เพื่อให้เภสัชกรฟังดูว่าอาการที่ เป็นอยู่สอดคล้องกับยาที่มาขอซื้อหรือไม่ พร้อม ทั้งยังจะได้รับคำแนะนำอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย ครับ ไม่ว่าจะเป็นคำแนะนำในการหลีกเลี่ยงหรือปรับพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ร่วมกับการใช้ ยารับประทาน ซึ่งโดยส่วนใหญ่อาการก็จะดี ขึ้น แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นในระยะเวลาที่เภสัชกรแนะนำก็ให้สันนิษฐานว่าอาจจะมีโรคยาก ๆ เกิดขึ้น เภสัชกรก็จะแนะนำให้ไปพบแพทย์ยังโรงพยาบาลครับ
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือประสิทธิภาพอย่างหนึ่งของร้านขายยาซึ่งมีเภสัชกรประจำครับ นั่นก็คือการคัดกรองในเบื้องต้นว่าผู้ป่วยเป็นโรคที่สามารถรักษาด้วยยาก่อนได้หรือไม่, ระงับอาการได้หรือไม่, ปรับพฤติกรรมแล้วดีขึ้นหรือไม่, เป็นโรคเรื้อรังหรือไม่ และจำเป็นที่จะต้องดูแลอย่างต่อเนื่องอย่างไร
เภสัชกรหญิงอารีรัตน์ ศิรจตุธรรม สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลว่า ตอนนี้ร้านยาคุณภาพมีโครงการคัดกรองผู้ป่วยที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งเป็นความร่วมมือของสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) กับ สปสช. โดยมี การคัดกรองโรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, ภาวะอ้วนลงพุง และภาวะซึมเศร้า ซึ่งผู้ ที่สนใจและมีลักษณะอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น สูงอายุ หรือน้ำหนักเกินมาตรฐาน เมื่อไปถึง ร้านยาคุณภาพก็สามารถแจ้งความประสงค์ เข้าร่วมโครงการและตรวจคัดกรองสุขภาพ ได้เลย
หรือในกรณีที่มีภาวะของโรคเรื้อรังแล้ว ได้รับการรักษาและได้ยารับประทานจากโรงพยาบาลแล้ว แต่ไม่เข้าใจเรื่องการรับประทานยา หรือไม่เข้าใจว่าทานยาแล้วมีผลข้างเคียงอย่างไร ก็สามารถนำยาที่ได้รับมาสอบถามที่ร้านขายยาได้ ซึ่งที่ร้านยาจะมีข้อมูลประวัติผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการเก็บไว้ พร้อมทั้งมีสมุดบันทึกประวัติผู้ป่วยให้กับผู้ป่วยติดตัวไว้ เพื่อให้ได้บันทึกข้อมูลการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสมุดนี้เภสัชกรจะเป็นผู้กรอกให้โดย ผู้ป่วยจะต้องนำติดตัวมาที่ร้านยาทุกครั้ง เมื่อไปซื้อยาและบอกชื่อ-นามสกุล เภสัชกรก็สามารถที่จะเปิดประวัติผู้ป่วยดูได้เพื่อดูว่ายาแต่ละชนิดที่จ่ายให้ผู้ป่วยนั้นมีผลระหว่างกันของยาหรือไม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาระหว่างกันของยา พร้อมทั้งให้คำแนะนำในเรื่องของการปฏิบัติตัว และการปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยด้วย นอกจากนี้ยังมีการบันทึกค่าความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือด ไว้ในสมุดเล่มนี้ด้วย ซึ่งผู้ป่วยสามารถนำข้อมูลจากสมุดบันทึกนี้ไปใช้เพื่อการวินิจฉัยของแพทย์ยังโรงพยาบาลได้ด้วย
ที่มา --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 4 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 2281 views