ความเสี่ยงด้านการคลังจากด้านสวัสดิการทะยาน 16.5 ล้านล้านชดเชยแบงก์รัฐเพียบ
งานสัมมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประจำปี 2556 เรื่อง"ความเสี่ยงทางการคลัง : ความท้าทายเชิงนโยบาย" ได้มีการเสนอผลงานทางวิชาการเรื่องความเสี่ยงทางการคลังจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ว่าภาระทางการคลังด้านสวัสดิการของไทยจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 7.7% โดยใน 50 ปีข้างหน้า งบสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลจะเพิ่มสูงขึ้นจาก 2.32 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2557 เป็น 2.15 ล้านล้านบาท ในปีงบประมาณ 2606
ดังนั้น รัฐบาลควรดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น จัดตั้งองค์กรกลางเพื่อกำกับดูแลและเจรจาต่อรองการซื้อบริการจากสถานพยาบาล และการขยายความครอบคลุมของระบบประกันสังคม เพื่อลดภาระของกองทุนหลักประกันสุขภาพ
งานวิจัยพบว่า ภาระงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ภาระทางการคลังขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงมากในอนาคต โดยภาพรวมภาระทางการคลังจะเพิ่มขึ้นจาก 2.91 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2557 เป็น 16.5 ล้านล้านบาท ในปี 2606
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีความเสี่ยงจากการประสบปัญหาทางการเงินของกองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2595 ดังนั้น รัฐบาลควรปรับปรุงรูปแบบการดำเนินการของกองทุนประกันสังคมให้มีความยั่งยืนทางการเงิน ควบคู่ไปกับการเพิ่มอายุเกษียณ และการส่งเสริมการออมเงินเพื่อการชราภาพ
ขณะเดียวกัน ยังมีความเสี่ยงจากการใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐไปกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจากการศึกษาพบว่าจะทำให้เป็นภาระทางการคลังในปีงบประมาณ 2558-2562 ประมาณ1-1.2% ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอยู่ที่ระดับ 6-7% ของงบประมาณ เป็นเงินที่ต้องชดเชยปีละ1.6-2.3 แสนล้านบาท
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นโยบายทางการคลังในอนาคตต้องรักษาวินัยการเงินการคลังแต่ก็ต้องมีความกล้าหาญที่จะลงทุน เพื่อที่จะให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวได้ในระยะยาว เพื่อให้ประเทศไทยก้าวจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางเป็นประเทศมีรายได้ระดับสูงให้ได้ภายใน 10 ปี
"คลังประมาณการว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้เฉลี่ยปีละ 4.5% เงินเฟ้อ 3% ใน 7 ปีข้างหน้า แต่ในความเป็นจริงต้องการให้ขยายตัวได้ปีละ 6%" นายอารีพงศ์ กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 3 สิงหาคม 2556
- 1 view