ความพยายามหาสวัสดิการให้ประชาชน เพื่อลดภาระของรัฐบาลในระยะยาว ได้ดำเนินการผ่านการประกันภาคบังคับในกองทุนประกันสังคม ส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่การประกันภาคสมัครใจนั้นก็ได้มีความพยายามหาประกันภัยราคาถูกมานำเสนอจูงใจให้ประชาชนได้ซื้อ
สำหรับรัฐบาลนี้ ในเดือน ก.ย.จะมีการเปิดตัว ประกันภัย 200 ซึ่งเป็นประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล จ่ายเบี้ยประกันภัยปีละ 200 บาท เป็นประกันแบบสมัครใจ
ประกันราคาถูกนี้จะคุ้มครองกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตาหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงเนื่องจากอุบัติเหตุ 1 แสนบาท คุ้มครองกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตาหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงจากการถูกฆาตกรรม ลอบทำร้ายร่างกาย และ/หรือจากขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ 5 หมื่นบาท ให้ค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย 1 หมื่นบาท ยกเว้นกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 120 วันแรก
จะรับประกันผู้ที่มีอายุระหว่าง 20-60 ปี ให้ซื้อได้คนละไม่เกิน 2 กรมธรรม์ โดยจะเปิดขายตามร้านสะดวกซื้อและตามจุดต่างๆ ที่มีประชาชนเข้าไปใช้บริการจำนวนมาก
เรียกว่าอยากซื้อเมื่อไหร่ก็ได้ มีขายทุกหัวถนน
ในแง่ของประชาชนถือว่าได้ของดีราคาถูก และหากเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย ก็จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันภัยส่งต่อไว้ให้ลูกหลาน เพิ่มความมั่นคงให้กับครอบครัว
แต่การออกประกันราคาถูก ควรสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงของภาคเอกชนที่เข้ามารับความเสี่ยง หากไม่มีความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ ก็ยากที่ประกันจะยืนราคาขายประกันราคาถูกให้ประชาชนได้ใช้บริการนานๆ
บทเรียนมีให้เห็นจากประกันภัยเอื้ออาทร 365 บาท สมัยอดีตนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เปิดตัวประกันภัยวันละบาทขายให้ประชาชน วันแรกที่คิกออฟมีประชาชนต่อแถวซื้อหลายพันคน เพราะมีของแถมคือเสื้อราคาประมาณ 200 บาท
แต่บริษัทประกันภัยทนทู่ซี้ขายประกันภัยเอื้ออาทรอยู่ได้เพียงไม่กี่ปีก็ต้องปิดตัว เพราะขาดทุน เนื่องจากมีคนซื้อน้อย จากที่ประมาณการไว้ 10 ล้านคน แต่มีคนซื้อจริงแค่ 45 แสนคน ในขณะที่จ่ายสินไหมทดแทนเกินเบี้ยที่ได้รับ ขาดทุนตั้งแต่ปีแรกกันเลย
ทำไมถึงขาดทุน
หากย้อนกลับมาดูต้นทุนของบริษัทประกันภัย แจกแจงออกมาแล้วต้นทุนจากค่ากระดาษ ค่าพิมพ์กรมธรรม์ ค่าพิมพ์รายชื่อลูกค้าเข้าระบบ ค่านายหน้า และประชาสัมพันธ์ เฉลี่ยต่อกรมธรรม์ 1 ฉบับจะอยู่ประมาณ 500 บาท
แต่ประกัน ประชานิยมที่ออกมาต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง
หากนำมาเทียบเคียงกับประกันภัย 200 บาท ที่เตรียมจะนำออกมาขายกันนั้น เก็บเบี้ยประกันต่ำกว่าเดิมอีก จ่ายค่าสินไหมกรณีเสียชีวิตคนละ 1 แสนบาท
กรณีประกันภัย 200 บาท ทางภาครัฐคาดว่าในปีแรกจะมีประชาชนซื้อจำนวน 3 แสนคน
ฉะนั้น อาการประกันเอื้ออาทรภาค 2 นี้ ดูไปก็คล้ายกับเวอร์ชั่นแรก หากมีประชาชนซื้อ 3 แสนคนตามคาดการณ์จริง ก็จะมีเบี้ยรับอยู่ที่ 60 ล้านบาท ดังนั้นหากจ่ายสินไหมกรณีเสียชีวิต จะต้องมีไม่เกิน 600 คน
นี่ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน แต่ถ้าอัตราการเคลมสินไหมสูงกว่า 600 คน ก็ขาดทุน และประกันนี้ก็จะอยู่ไม่รอด
ทางภาครัฐเองก็เห็นแนวโน้มขาดทุน จึงเปิดทางไว้ให้ 1 ปี หลังจากนั้นให้ทบทวนตามความเป็นจริง
ปีแรก ขอเป็นการประชาสัมพันธ์และกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตระหนักในประโยชน์ของการมีประกันภัย
หากเปิดขายประกันภัยราคาถูกแบบไม่ต่อเนื่องออกมาเช่นนี้ การที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจในการทำประกัน อันเป็นหลักประกันหนึ่งของครอบครัวคงจะไม่ประสบความสำเร็จง่ายๆ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังเตรียมจะทำประกันภัยราคาถูกสำหรับกลุ่มรากหญ้าอีก คือ ประกันภัยนาข้าว ที่กระทรวงการคลังคิดจะขายพ่วงไปกับโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล เพื่อลดความเสี่ยงของการเพาะปลูกที่จะได้รับจากภัยธรรมชาติต่างๆ
แต่ประกันภัยนาข้าวภาคสมัครใจที่ได้มีการขายให้กับเกษตรกรก็ประสบปัญหาขาดทุนเช่นเดียวกัน เพราะราคาที่ 120 บาทต่อปี คุ้มครอง 1,111 บาทต่อไร่ จากที่ประมาณการว่าจะมีผู้ซื้อประกัน 10 ล้านไร่ แต่ถึงเวลามีผู้ซื้อเพียง 8 แสนไร่ และเป็นความเสี่ยงกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม
เมื่อบริษัทประกันภัยทำธุรกิจแล้วไม่ได้กำไร ก็จะหยุดขายทันที ไม่ได้มองว่ายังมีประกันภัยอื่นๆ ที่มีกำไรชดเชย
เมื่อบริษัทประกันภัยขาดทุน ผลจะย้อนกลับมาทำร้ายผู้บริโภค การบริการสินไหมจะล่าช้า เพราะเงินที่มีอยู่ร่อยหรอลงทุกวัน แม้จะไม่ถึงขั้นปิดบริษัทจากการที่มีมาตรการแก้ปัญหาเข้มงวด แต่โครงการที่มีความต่อเนื่องจะสร้างความตระหนักให้ประชาชนได้ดีกว่า
ไม่ใช่ออกโครงการเพื่อเรียกคะแนนนิยมและสร้างภาพเพียงชั่วครั้งชั่วคราว เงินทุนหมดเมื่อไหร่ ก็หยุดโครงการเมื่อนั้น หรือเปลี่ยนรูปแบบใหม่ไปเรื่อยๆ
ถ้ามีนโยบายระยะสั้นๆ ควรจะประกาศไปเลยว่า ขายราคานี้แค่ปีเดียวเท่านั้น
การทำประชานิยมโดยให้รัฐรับภาระ โครงการจะไม่มีวันล้ม แต่การทำประชานิยมให้เอกชนรับภาระ ไม่มีวันที่โครงการจะอยู่ได้นาน
ที่มา: http://www.posttoday.com
- 358 views