นักวิจัย ม.มหิดล เผย!!ไทยสามารถพัฒนาวัคซีนต้นแบบป้องกันโรคไข้เลือดออกได้สำเร็จแล้ว เสียแต่ยังไม่มีโรงงานผลิตวัคซีนทดสอบเป็นของตัวเอง จึงจำเป็นต้องร่วมทุนกับญี่ปุ่นและอินเดีย เพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรม ย้ำ!หากไทยจะก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านวัคซีนในอาเซียน รัฐบาลและผู้นำประเทศต้องเห็นความสำคัญของงานวิจัยด้านวัคซีน ต้องให้การสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
รศ.ดร.นพ.สุธี ยกส้าน หัวหน้าหน่วยศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน มหาวิทยาลัยมหิดลได้กล่าวในการประชุมวิชาการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ซึ่งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ(องค์การมหาชน)เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่โรงแรมดิเอมเมอรัลด์รัชดา กรุงเทพฯ ในหัวข้อ "การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและการวิจัยพัฒนาวัคซีนในทศวรรษหน้า : การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน" ว่ามหาวิทยาลัยมหิดลได้ทำการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2524 เป็นวัคซีนต้นแบบของเชื้อไวรัสเดงกี่ทั้ง 4 สายพันธุ์ ซึ่งได้ผ่านกระบวนการทดลองในห้องปฏิบัติการ ในหลอดทดลอง สัตว์ทดลองโดยวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกชุดนี้ถือว่าเป็นวัคซีนต้นแบบชุดแรกที่พบว่าได้ผลดี มีความปลอดภัยสูง
แต่หลังจากที่เราสามารถพัฒนาวัคซีนต้นแบบได้สำเร็จ กลับพบปัญหาที่เกิดขึ้นคือประเทศไทยยังไม่มีโรงงานผลิตวัคซีนทดสอบที่ได้มาตรฐานตามหลักจีเอ็มพี ดังนั้นเพื่อมิให้งานวิจัยเรื่องดังกล่าวเป็นการสูญเปล่าทางวิชาการ จึงจำเป็นต้องร่วมมือกับบริษัทยาแห่งหนึ่งในประเทศเพื่อต่อยอดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก แต่ปรากฏว่าต้องยกเลิกการวิจัยดังกล่าวออกไป เนื่องจากต้องใช้เวลานาน ผลตอบแทนที่ได้กับบริษัทผู้ผลิตไม่สมดุลกัน แต่ก็นับว่ายังโชคดีที่บริษัทในประเทศญี่ปุ่นและอินเดียได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าโรคไข้เลือดออกยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศในเขตภูมิภาคอาเซียนที่ต้องได้รับความสนใจในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง จึงทำให้เกิดการร่วมมือในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกขึ้นมา
"บางคนอาจมองว่าเราขายองค์ความรู้ให้กับต่างชาติ ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ใช่การขายชาติ เมื่อประเทศไทยยังไม่พร้อมในการผลิต ก็ต้องนำความรู้ที่มีไปให้กับประเทศที่มีความพร้อมกว่า เพื่อไม่ให้งานวิจัยที่ทำมาด้วยความยากลำบากต้องไปอยู่บนหิ้งเพียงอย่างเดียว และการร่วมมือในครั้งนี้ก็ได้มีข้อตกลงต่างๆที่จะไม่ทำให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์ หากเมื่อใดที่ประเทศไทยพร้อมและสามารถผลิตวัคซีนเองได้ ก็สามามรถนำงานวิจัยไปใช้ได้ทันที อย่างไรก็ตามคาดว่า กว่าการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกสำเร็จและสามารถผลิตออกจำหน่ายได้ คงต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6-8 ปีขึ้นไป"
รศ.ดร.นพ.สุธีกล่าวต่ออีกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านจะเห็นว่าขณะนี้ ทั้งอินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย สิงคโปร์ ต่างก็มีโรงงานวัคซีนเป็นของตัวเอง เกิดขึ้นแยกจากโรงงานผลิตยา อีกทั้งยังรับจ้างผลิตวัคซีนส่งขายในต่างประเทศด้วย ขณะที่ฟิลิปปินส์โรงงานวัคซีนก็กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ หากประเทศไทยมีโรงงานวัคซีนเป็นของตัวเองบ้าง คงเป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยเสริมศักยภาพการผลิตวัคซีนของไทยให้เทียบกับนานาชาติได้
“การที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำด้านวัคซีนในภูมิภาคอาเซียนได้นั้น นอกจากจะมีบุคลากรด้านวัคซีนที่มีคุณภาพแล้ว ประเทศไทยจะต้องมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลเหมือนเหยี่ยว และต้องมีการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยด้านวัคซีนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพราะการวิจัยด้านวัคซีนนั้นเป็นงานที่ต้องใช้เวลานานและต้องทำอย่างต่อเนื่อง เป็นงานที่เห็นผลช้าและเมื่อผลิตในรูปแบบอุตสาหกรรมแล้วมักจะถูกมองว่าผลตอบแทนที่ได้น้อยและไม่คุ้มค่า หรือเห็นผลเร็วเหมือนกับการผลิตยาขาย จึงทำให้บริษัทยาต่างๆที่มีความสามารถไม่เห็นความสำคัญของการผลิตวัคซีน” รศ.ดร.นพ.สุธีกล่าวทิ้งท้าย
--มติชน ฉบับวันที่ 1 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 4 views