สพฉ. ถอดบทเรียนเหตุการณ์ทัวร์ประสานงานรถพ่วงชี้เกิดจาก สภาพคนขับ –สภาพถนน-สภาพรถ เสนอมาตรการในการดูแลความปลอดภัยผู้โดยสายบนท้องถนน ระบุควรมีการฝึกอบรมให้พนักงานมีความรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น พร้อมเตรียมขยายการอบรมให้กับกลุ่มอาชีพอื่น “นพ.อนุชา” ระบุการทำงานของกู้ชีพ-กู้ภัยต้องมีความพร้อมและได้มาตรฐาน หมั่นซ้อมแผนเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้าน “ทีมกู้ชีพ” เล่านาทีชีวิตสาเหตุที่มีผู้เสียชีวิตมากเหตุเพราะไม่สามารถหนีออกจากรถได้ แนะทำสื่อสอนผู้โดยสาร เพื่อลดความสูญเสีย
ภายหลังจากที่เกิดกรณีอุบัติเหตุรถทัวร์ชนประสานงากับรถบรรทุกพ่วงบนถนนมิตรภาพ ขาล่องหลัก ก.ม.ที่ 19 ม.9 ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรีจนเกิดไฟลุกไหม้และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากการถูกไฟคลอกเป็นจำนวนมากเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานั้น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ทำการถอดบทเรียนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นซ้ำสองอีก
น.ส. นวพร สุขประเสริฐ ฝ่ายประชาสัมพันธ์มูลนิธิร่วมกตัญญู รหัสนคร 0592 และนักสื่อสารกู้ชีพของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแทนของมูลนิธิที่ได้เข้าร่วมการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุจากเหตุการณ์ในครั้งนี้บอกเล่าข้อมูลของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นว่า เหมือนที่หลายๆ ท่านทราบจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนก่อนหน้านี้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นเพราะคนขับรถเทลเลอร์เกิดอาการหลับในและข้ามเกาะกลางมาชนประสานงากับรถทัวร์ร้อยเอ็ดกรุงเทพ ซึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนี้นั้นได้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 21 คน โดยเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 19 คน และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีก 2 คน ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากนั้นมาจากการโดนไฟบนรถทัวร์คลอกและไม่สามารถหนีออกมาจากรถทัวร์ได้ นอกจากนี้แล้วสถานที่เกิดเหตุนั้นยังมีความลาดชันจึงทำให้ทัศนวิสัยในการขับขี่รถเป็นไปอย่างยากลำบาก
น.ส.นวพร กล่าวอีกว่า จากการเข้าให้การช่วยเหลือของมูลนิธิร่วมกตัญญูจุดสระบุรีในช่วงแรกของเหตุการณ์นั้น เห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้เสียชีวิตบางรายนั้นไมได้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันที แต่การเข้าให้การช่วยเหลือเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ทั้งลักษณะของรถบัสที่เป็นสองชั้นประกอบกับไฟที่โหมกระหน่ำอย่างรุนแรง เราได้ทำการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตอย่างเต็มที่ แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ผู้เสียชีวิตมีจำนวนมาก สิ่งที่สำคัญคือผู้ประสบเหตุเกือบทุกคนไม่รู้วิธีที่จะช่วยเหลือตนเองเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ศพบางศพที่เราเข้าไปเก็บกู้ออกมานั้นระบุลักษณะอาการชัดเจนว่าไม่ได้เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ แต่เสียชีวิตเพราะไม่สามารถออกมจากรถทัวร์ได้จนถูกไฟคลอกเสียชีวิต แม้กระทั่งการมองหาทางออกฉุกเฉินผู้ประสบเหตุยังไม่สามารถทำได้เพราะไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงช่วงไหนอย่างไรบ้าง
“แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นอุบัติเหตุที่ไม่ได้เกิดจากรถทัวร์โดยตรง แต่รถทัวร์เป็นรถโดยสารสาธารณะ จึงควรจะมีวิธีในการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก หรือหากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีกผู้โดยสารก็ควรได้รับรู้ข้อมูลที่จะเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ สิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะรีบดำเนินการคือ ควรฝึกให้พนักงานขับรถหรือพนักงานบริการบนรถทัวร์มีความรู้ในเรื่องของการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และให้ข้อมูลกับผู้โดยสารถึงการเอาตัวรอดหากเกิดเหตุการณ์วิกฤตบนรถทัวร์หรือเกิดอุบัติเหตุบนรถทัวร์ขึ้น รวมถึงวิธีการสังเกตทางออกฉุกเฉินอุปกรณ์ฉุกเฉินและการใช้อุปกรณ์ต่างๆ บนรถทัวร์ หากเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นอาจจะทำออกมาในลักษณะของรูปแบบวีดีโอ หรือหนังสั้น หรือ รูปแบบการ์ตูนเพื่อให้ผู้โดยสายดูและเข้าใจง่าย ก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนรถโดยสารได้”น.ส. นวพรกล่าว
ด้าน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ระบุว่าจากเหตุการณ์ดังกล่าว สพฉ.มีข้อพิจารณาเพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำซาก โดยเบื้องต้นวิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุว่าเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.สภาพคนขับที่ไม่พร้อม มีอาการหลับใน ซึ่งปัญหาเกิดจากการใช้คนขับคนเดียวในระยะทางไกล 2.สภาพรถทัวร์ คือรถที่มีความสูงมากและใช้ความเร็วมักจะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และ 3.สภาพถนน คือถนนสายมิตรภาพมักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นเส้นทางที่มีรถใช้เป็นจำนวนมาก ลักษณะถนนเป็นการขึ้นเนินถี่ และแม้จะวิ่งไม่เร็วก็จะมีแรงส่ง ซึ่งตามหลักแล้วสภาพถนนลักษณะเช่นนี้ไม่ควรวิ่งในความเร็วเกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนอกจากนี้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความสูญเสียซ้ำซาก คือเราไม่มีการเตรียมพร้อมกรณีการเกิดอุบัติเหตุที่มีไฟไหม้ซ้ำ ไม่มีรถที่มีความพร้อม ไม่มีอุปกรณ์ดับเพลิง หรืออุปกรณ์การช่วยเหลือชีวิตเบื้องต้น หรือหากมีก็ไม่คุ้นเคย ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน หรือใช้ไม่เป็น เช่นในกรณีนี้ ไม่รู้ว่าหากเกิดไฟไหม้จะต้องตั้งสติและช่วยกันใช้อุปกรณ์ดับเพลิง หรือใช้ค้อนเล็กทุบกระจกเพื่อหนีออกมา
เลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามในส่วนของการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินหรือเกิดอุบัติเหตุ สพฉ. ก็ต้องเร่งหาแนวทางในการพัฒนาเช่นกัน โดยต้องประสานการทำงานระหว่างทีมกู้ชีพและทีมกู้ภัยให้มีความพร้อม ทำงานให้ได้มาตรฐาน มีจำนวนที่เพียงพอ และมีกระบวนการในการส่งต่อผู้ป่วยที่มีความพร้อม เช่น รู้ว่าโรงพยาบาลใดที่อยู่ใกล้และมีความพร้อมในการรักษา โดยเฉพาะกรณีการเกิดเหตุไฟไหม้ จะมีเพียงโรงพยาบาลใหญ่ๆ เท่านั้นที่มีหอผู้ป่วยรับผู้ป่วยไฟไหม้และในหนึ่งโรงพยาบาลก็มีเพียง 6-7เตียงซึ่งในเบื้องต้นการตั้งศูนย์อุบัติเหตุของกระทรวงสาธารณสุขก็สามารถรองรับในส่วนนี้ได้พอสมควร นอกจากนี้อุปกรณ์กู้ภัยก็ต้องมีความพร้อม เช่นในกรณีรถใหญ่พลิกคว่ำ จะต้องใช้รถเครนในการยกรถ เพื่อแก้ปัญหารถทับผู้ประสบเหตุอยู่แต่จากข้อมูลปัจจุบันรถดังกล่าวยังกระจายอยู่ไม่ทั่วถึงในแต่ละภูมิภาคนอกจากนี้ในส่วนของกู้ชีพกู้ภัยจะต้องมีการซ้อมแผนเผชิญอุบัติเหตุเพื่อเตรียมพร้อมอยู่เสมอเช่นกัน
“โจทย์ที่เราต้องร่วมกันแก้ไข จะต้องครอบคลุมในทุกประเด็นทั้งเรื่อง คน รถ ถนน ความพร้อมในการรับมือ และที่สำคัญคือต้องสร้างจิตสำนึกให้คนไทยรู้จักการป้องกัน ระวังภัย ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องร่วมกันทำไม่เช่นนั้นการป้องกันก็คงไม่สำเร็จ และเราคงไม่อยากยินดีกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุที่ประเทศไทยครองแชมป์การเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลกอยู่ขณะนี้” นพ.อนุชากล่าว
นพ.อนุชา กล่าวถึงแนวทางในการป้องกันและแก้ปัญหาเบื้องต้นว่า สพฉ.จะต้องเร่งให้ความรู้กับประชาชนและเห็นว่าควรมีการฝึกอบรมให้พนักงานประจำรถโดยสาร มีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ด้วย เพื่อให้คำแนะนำที่ถูกต้องกับผู้โดยสาร ซึ่งนอกจากในส่วนของกลุ่มคนดังกล่าวแล้ว สพฉ.ยังตั้งเป้าการกระจายความรู้และสร้างอาสาสมัครกู้ชีพที่มีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลในแต่ละอาชีพด้วย อาทิ โรงงาน โรงเรียน ชุมชน คือจะต้องรู้ว่าต้องช่วยเหลืออย่างไรเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน อาการแบบใดจะต้องแจ้งขอความช่วยเหลือ และวิธีการแจ้งขอความช่วยเหลือ ซึ่งในประเทศที่เจริญล้วนแล้วแต่มีการพัฒนาในส่วนนี้ นอกจากนี้ที่สำคัญเราจะต้องจริงจังกับการจัดการโดยเฉพาะในเรื่องกฎหมาย เช่น หากเมาแล้วขับ นอกจากคนขับที่จะต้องถูกลงโทษแล้ว ร้านค้าที่ขายควรจะต้องถูกลงโทษด้วย เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุให้กับคนที่ไม่รู้เรื่อง รวมทั้งต้องจัดการกับผู้ขับขี่ที่ใช้ความเร็วอย่างจริงจัง คือถ้าขับรถเร็วเมื่อไหร่จะต้องลงโทษทันที เพื่อให้เป็นบทเรียนและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
ที่มา : http://www.thairath.co.th
- 18 views