Hfocus—จากกรณีการตรวจข้าวของมูลนิธิผู้บริโภค นำมาสู่การตั้งคำถามต่อความโปร่งใสของรัฐบาลในการปกป้องผู้บริโภค ว่ามีความจริงใจมากเพียงใด
หลังจากการแถลงผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการของมูลนิธิผู้บริโภค รัฐบาลมีการสร้างความเชื่อมั่นแบบวัวหายล้อมคอก เช่น การแจ้งสื่อถึงเรื่องการออกตรวจโรงงานบรรจุข้าวถุงรายวัน หรือการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)พิจารณาเปิดเผยชื่อข้าวสารทุกยี่ห้อที่ตรวจผ่านทางเว็บไซต์ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ อย.มักไม่เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดของการตรวจสินค้าหนึ่งๆ จะมีก็แต่เพียงการเปิดเผยชื่อสินค้าที่พบความผิดปรกติเท่านั้น
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา เอแบคโพลล์เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนใน 17 จังหวัด จำนวน 2,438 ตัวอย่าง พบว่า42.9% ของกลุ่มสำรวจเชื่อหน่วยงานภายนอกที่เข้ามาตรวจสอบข้าวถุงมากกว่ารัฐบาล ในขณะที่ 32.9% เชื่อหน่วยงานของรัฐบาลมากกว่า และ 24.2%ไม่เชื่อใครเลย
ทั้งหมดนี้นำมาสู่ข้อสงสัยหลายประการต่อโครงสร้างการคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐบาล ที่ดูเหมือนจะไม่เอื้อต่อการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน และหากดูจากกรณีศึกษาถึงการทำงานของอย. ยิ่งเห็นชัดได้ว่า โครงสร้างองค์กรภายใต้การควบคุมของรัฐ ไม่มีความเป็นอิสระมากพอที่จะปฏิบัติการเพื่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง
เริ่มตั้งแต่การเลือกเลขาธิการอย. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่เสมือนเพียงอธิบดีของกรมหนึ่งๆ เบื้องหลังการขึ้นเป็นเลขาธิการอย.นั้น ต้องมีการขับเคี่ยวแข่งขันสูงระหว่างผู้มีสิทธิรับเลือก จึงทำให้การขึ้นตำแหน่งของผู้มีสิทธิรับเลือกมิอาจปราศจากเกมการเมือง และการควบคุมเมื่อเข้าดำรงตำแหน่ง
กล่าวคือ เมื่อผู้นำองค์การไม่เป็นอิสระ แล้วองค์กรจะทำเพื่อประชาชนอย่างเป็นอิสระได้เช่นไร
บทบาทของอย.ถูกทำให้หันเหไปเน้นหนักในด้านวิชาการและการขึ้นทะเบียนสินค้า มากกว่าการปกป้องผู้บริโภค แม้อย.มีการประชาสัมพันธ์ถึงศูนย์รับร้องเรียนเรื่องสุขภาพ แต่ก็หาได้มีอำนาจโดยเบ็ดเสร็จในการรุกทลายแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์ หรือดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้อย่างเบ็ดเสร็จ ยังคงต้องพึ่งพาหน่วยงานอื่นๆ เช่น ตำรวจและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ในขณะที่เครือข่ายภาคประชาชนยังไม่มีบทบาทใหญ่ในการทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ ความไม่เชื่อใจกันระหว่างเครือข่ายภาคประชาชนและรัฐบาลยังคงเป็นปัญหาคาราคาซัง ที่ทำให้งานคุ้มครองผู้บริโภคไม่สามารถครอบคลุมในทุกระดับชั้นประชาชน
เมื่อเปรียบเทียบบทบาทของอย.กับคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration หรือ USFDA) จะยิ่งเห็นช่องโหว่ และความลักลั่นในโครงสร้างของหน่วยงานรัฐได้อย่างชัดเจน แม้ USFDA จะโดนภาคประชาชนวิพากวิจารณ์อยู่บ้างถึงเรื่องความโปร่งใสขององค์กร แต่หากดูการทำงานโดยรวมแล้ว ยังถือว่า USFDA มีโครงสร้างหน่วยงานที่เข้มแข็งยิ่งกว่าองค์กรปกป้องและคุ้มครองผู้บริโภคอื่นๆทั่วโลก
USFDA นำโดยกรรมมาธิการอาหารและยา มาจากการแต่งตั้งของประธานธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งการดำรงตำแหน่งกรรมาธิการอาหารและยาต้องได้รับการยินยอมจากสมาชิกวุฒิสภาด้วย การคัดกรองตำแหน่งจึงมีความเข้มข้นกว่าประเทศไทย
USFDA มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 200 กว่าคน (ในขณะที่อย.มีเจ้าหน้าที่มากกว่า 600 คน) แต่สามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการสร้างเครือข่ายกับภาคประชาชนและนักวิชาการทั่วประเทศ มีการทำวิจัยร่วมกับภาคประชาชน ผ่านทางหน่วยงานย่อยหลายหน่วยงาน เช่น ศูนย์ศึกษาวิจัยด้านการประเมินชีวภาพ ศูนย์ศึกษาด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์และรังสีวิทยา ศูนย์ศึกษาวิจัยด้านการประเมินยา ศูนย์ศึกษาวิจัยด้านสารอาหารและอาหารปลอดภัย ศูนย์ศึกษาด้านสินค้ายาสูบ ศูนย์ศึกษาด้านสัตวแพทย์ศาสตร์ และศูนย์ศึกษาวิจัยด้านสารมีพิษ นอกจากนั้น USFDA ยังมีแล็บ 13แห่งในเครือข่ายของตัวเอง (ในขณะที่อย.ต้องพึ่งพาแล็บของกรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์) ดังนั้น การตรวจสอบในห้องปฏิบัติการจึงสามารถลดการแทรกแซงจากการเมืองภายนอกได้
ทั้งหมดของความหลากหลายด้านองค์ความรู้ และความเฉพาะของหน่วยงานย่อยต่างๆ ได้เปิดโอกาสให้นักวิชาการได้พัฒนาองค์ความรู้ให้หนักแน่น และสามารถนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ในงานคุ้มครองผู้บริโภคได้เต็มที่
ที่สำคัญ USFDA ตั้งหน่วยงานด้านการควบคุมบังคับใช้กฎหมาย หรือ Office of Regulatory Affairs (ORA) ได้ชื่อว่าเป็นหูเป็นตาให้กับองค์กร เจ้าหน้า ORA ประจำอยู่ทั่วประเทศเพื่อตรวจสอบสินค้า โรงงานและโกดัง สืบสวนข้อร้องเรียนและการระบาดของโรค ตรวจสอบเอกสารของสินค้าและยา และยังมีการสร้างเครือข่ายกับห้องปฎิบัติการทั่วประเทศเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพ
อีกหน่วยงานที่สำคัญอย่างยิ่งคือ หน่วยงานสืบสวนคดีอาญาของ USFDA หรือ Office of Criminal Investigations (OCI) เจ้าหน้าที่สามารถพกพาอาวุธ และดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดในชั้นต้นได้โดยไม่ต้องพึ่งพาหน่วยงานตำรวจ ในหลายกรณี หน่วยงานได้ดำเนินคดีกับนักต้มตุ๋นผู้บริโภคทั้งหลาย OCI ทำงานร่วมกับ ORA เจ้าหน้าที่สืบสวนท้องถิ่น และ FBI จึงยิ่งทำให้ประสิทธิภาพการคุ้มครองผู้บริโภคของ USFDA เข้มข้นยิ่งขึ้น
อย่างเช่นในกรณีการปนเปื้อนของเชื้ออีโคไลในเนื้อสัตว์ในช่วงระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา ทาง USFDA ได้ประสานงานกับกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาในการเรียกเก็บคืนสินค้าจากท้องตลาดโดยเร่งด่วน และมีการเปิดเผยชื่อสินค้าและรายงานกรณีการพบผู้ป่วยอย่างเปิดเผย ในขณะที่ทางรัฐบาลสหรัฐได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนระวังและหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ต้องสงสัย
หากดูการทำงานโดยภาพรวมของ USFDA แล้ว พบว่า ความสำเร็จในการคุ้มครองผู้บริโภคมาจากการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน นักวิชาการ และประชาชน รวมถึงการประชาสัมพันธ์ข้อมูลความเสี่ยงในการบริโภคสินค้าต้องสงสัยอย่างเปิดเผย
การทำงานของ USFDA เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคด้วยการตรวจสอบข้อเท็จจริง และการจับผิดเพื่อนำไปสู่การพิสูจน์อย่างอิสระของหน่วยงาน มิใช่การนำพาความเชื่อมั่นด้วยการประชาสัมพันธ์สินค้าดีบางสินค้า เพื่อเบี่ยงความสนใจประชาชนจากสินค้าด้อยมาตรฐาน อย่างที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการอยู่ในตอนนี้
นี่คือความแตกต่างขององค์กรหลักในการคุ้มครองและปกป้องผู้บริโภค คำถามคือ ศักยภาพของอย. ในการทำหน้าที่ตนสามารถเอื้อมถึงมาตรฐานสากลหรือยัง รัฐบาลต้องเป็นผู้ให้คำตอบ