ห้วงเวลาของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นับเป็นช่วงแห่งการปฏิรูป สธ. อย่างแท้จริง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบนัก เห็นได้จากกรณีการปรับนโยบายค่าตอบแทน ที่ส่งผลให้แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนออกมาต่อต้านกันร่วมเดือน ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เพราะประเด็นค่าแรงของบุคลากรสาธารณสุขพุ่งสูงขึ้น ขณะที่ประสิทธิภาพการบริการก็ยังไม่ชัดเจนว่า ดีขึ้นจริงหรือไม่...
นพ.ประดิษฐอธิบายถึงมูลเหตุของการปฏิรูปครั้งนี้ว่า มาจากปัญหาของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งพบว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจาก 10 ปีที่ผ่านมา คือ จากเดิมใช้งบ 60,000 กว่า ล้านบาท เพิ่มเป็น 204,000 ล้านบาท ขณะที่ค่าแรงบุคลากรสาธารณสุขเพิ่มร้อยละ 50 ซึ่งจากการเพิ่มขึ้นเช่นนี้ ได้มีการวิเคราะห์มาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ปรากฏว่าเมื่อ 10 ปีก่อนมีประชากรประมาณ 45 ล้านคน ขณะที่ปัจจุบันมี 48 ล้านคน ซึ่งก็เพิ่มไม่มาก ส่วนจำนวนการเข้าถึงบริการกลับเพิ่มร้อยละ 60 ซึ่งเมื่อคำนวณก็พบว่า อัตราส่วนการเพิ่มของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ค่าแรง กับจำนวนประชากร กลับไม่สอดคล้องกัน อย่างค่าแรงเมื่อ 10 ปีก่อนใช้เพียง 3 หมื่นกว่าล้าน แต่ตอนนี้ค่าแรงเป็นแสนล้านบาท ที่เห็นชัด คือ การเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นมากจากเดิม 1 ครั้งต่อคนต่อปี แต่ตอนนี้เป็น 3 ครั้งต่อคนต่อปี
ด้วยปัญหาค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น 2-3 เท่า จำเป็นต้องมาคิดว่า จำนวนประชากรที่เพิ่มสอดคล้องกับผลลัพธ์ของการบริการที่ดีขึ้นด้วยหรือไม่ ซึ่งเราก็ไม่มีระบบตรวจสอบว่าสุขภาพของคนไทยใน 10 ปีที่ผ่านมา ดีขึ้นอย่างไร ลดอัตราการเจ็บป่วย การตายได้มากน้อยแค่ไหน และคุณภาพการบริการดีด้วยหรือไม่ เพราะปัจจุบันคนก็ยังรอคิวนานอยู่เหมือนเดิม
"จึงเป็นที่มาในการปฏิรูประบบสุขภาพ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพของการใช้เงิน ให้ได้คุณภาพของการบริการ และให้ได้ผลลัพธ์ต่อสุขภาพประชาชนที่ดีขึ้น ซึ่งการปรับนโยบายค่าตอบแทนที่ต้องผสมผสานกับวิธีคิดจากผลการปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี ก็เป็นแนวทางหนึ่งในการปฏิรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากรสาธารณสุขนั่นเอง แต่การปฏิรูปยังต้องมีเรื่องอื่นๆ อีก นั่นก็คือการทำงานของกระทรวงจะต้องมีบทบาทชัดเจน เพื่อให้ได้งานที่ตรงจุดจริงๆ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ายังทำงานซ้ำซ้อนกันมาก" นพ.ประดิษฐกล่าวด้วยเหตุนี้จะต้องแยกหน้าที่ให้ชัด โดยแบ่งเป็นๆ ส่วน คือ ส่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อบริการ (Purchaser) หรือผู้จ่ายเงินให้โรงพยาบาลในการดูแลประชาชน แต่โรงพยาบาลจะต้องให้บริการภายใต้ตัวชี้วัดที่ สธ.กำหนด เพื่อให้ได้มาตรฐานในการให้บริการนั่นเอง โดยในส่วนของ สธ. จะแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย (National Health Authority) และ 2.ส่วนที่เป็นผู้ปฏิบัติ (Service Provider) หรือโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ทั้งหมดนั่นเอง ทั้งนี้ สำหรับการทำงานในส่วนของผู้กำหนดนโยบายนั้น จะมีกรมทำหน้าที่ด้านวิชาการ (Health Regulator) โดยผู้ปฏิบัติ หรือโรงพยาบาลต่างๆ ต้องปฏิบัติตาม
นพ.ประดิษฐบอกว่า ที่ผ่านมากรม กอง มีการทำงานซ้ำซ้อน คือ มีตั้งศูนย์บริการต่างๆ มากมาย เช่น ศูนย์อนามัยแม่และเด็ก ศูนย์สุขภาพจิต ศูนย์ยาเสพติด ตรงนี้ต้องแยกออกมา โดยอาจย้ายมาอยู่สำนักงานปลัดกระทรวงจะลดความซ้ำซ้อนได้ อย่างศูนย์อนามัยแม่และเด็กของกรมอนามัย ก็ให้ผู้ป่วยแม่และเด็กมารักษาโรคทั่วไปได้ แต่หากเป็นโรคแทรกซ้อนรุนแรงก็ส่งไปยังโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่ง ต่อไปทุกกรม หากไม่ใช่ศูนย์วิจัยจริงๆ ก็โอนมาอยู่สำนักงานปลัดฯดีกว่า
ยกตัวอย่าง กลุ่มประกันสุขภาพ ของสำนักงานปลัดฯ การทำงานอาจไม่ชัดเจน เป็นทั้งผู้ออกกฎเกณฑ์และตรวจสอบการเก็บเงิน สถานะการเงินของโรงพยาบาล และการหาแนวทางช่วยเหลือเมื่อโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง ตรงนี้ต้องมีการทำงานให้ชัดเจนขึ้น จึงมีการปรับโครงสร้างของกลุ่มประกันสุขภาพใหม่ โดยไม่ได้ยุบ แต่แยกการทำงานให้ชัด เช่น กลุ่มประกันสุขภาพ อาจเคยมีคนปฏิบัติงาน 200 คน ให้แยก 100 คนทำหน้าออกเกณฑ์ หรือระเบียบการใช้เงิน ส่วนอีก 100 คนทำหน้าที่ตรวจสอบสถานะการเงิน เป็นต้น โดยต้องแยกฝ่ายนโยบาย และแยกเป็นฝ่ายปฏิบัติให้ชัด
ฝ่ายนโยบายจะตั้งเป็น "สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินการคลัง" ทำหน้าที่คำนวณต้นทุนบริการกับราคาขาย เพื่อจะทำให้โรงพยาบาลทราบต้นทุนของตัวเองว่า ราคาเดียวกัน แต่ประสิทธิภาพต่างกันอย่างไร ซึ่งจะทำงานควบคู่กับอนุกรรมการการเงินการคลังของ สปสช. ที่ทำหน้าที่ออกนโยบายด้านการเงินต่างๆ เป็นต้น แต่ไม่ได้รวมกัน เป็นการทำงานร่วมกันมากกว่า ซึ่งการกระจายเงินให้โรงพยาบาลยังคงเป็นหน้าที่ของ สปสช.เหมือนเดิม โดยขณะนี้ได้มอบให้ทุกกรมไปศึกษาว่ามีหน่วยงานไหนซ้ำซ้อน และให้เสนอกลับมายังตนอีกครั้งใน 2 สัปดาห์ เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าได้ในเดือนตุลาคมนี้
งานนี้อยู่ที่ว่า กรม กองต่างๆ จะพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงแค่ไหน
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 30 ก.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 4 views