เป็นข่าวไม่จบกับกรณีนักแสดงสาววัย 16 ปี "ปันปัน" ที่มีภาพหลุดกำลังเสพยาไอซ์ เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต กระทั่งพ่อของดาราสาวออกมายอมรับ และขอโทษพร้อมขอ โอกาสสังคมให้กับลูก ซึ่งทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ทว่าล่าสุด ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด (ศพส.) พร้อมด้วย พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นำ "ปันปัน" และพ่อมาแถลงอีกครั้ง โดยระบุชัดเจนว่า ไม่มีการเสพยา เป็นความเข้าใจผิด
เรื่องที่น่าจะจบลงด้วยดี กลับพลิกไป และวิพากษ์วิจารณ์กันว่าอาจส่งผลกระทบต่อเด็ก
เรื่องนี้ "พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ" รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เห็นว่า เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อตัวเด็กแน่นอน เนื่องจากมีอายุน้อย ยังไม่สามารถที่จะไตร่ตรอง หรือนำพาตัวเองให้พ้นจากปัญหาเพียงลำพัง
เพราะโดยปกติคนที่ประสบปัญหา แม้จะเป็นผู้ใหญ่ก็ยังยากที่จะผ่านพ้นปัญหาได้ เนื่องจากปัญหาจะเหมือนวนอยู่ในอ่าง โดยแบ่งออกเป็น 4 ช่วงวงโคจร คือ 1.ช่วงประสบปัญหา โดยไม่ทันตั้งตัว หรืออยู่ในช่วงอึ้งนั่นเอง 2.ช่วงสับสน คิดว่าพรุ่งนี้อาจดีขึ้น บ้างก็คิดท้อแท้ ทำไมต้องเกิดขึ้น มีการต่อรองชีวิต เป็นต้น 3. ช่วงทำใจ ซึ่งความเศร้าอาจหายไปสักพัก และ 4.กลับมาคิดมากอีกครั้ง เนื่องจากพบเจอคนพูดเรื่องนี้ หรืออ่านเจอในสังคมออนไลน์ หรือเพื่อนในโรงเรียนซุบซิบ เป็นต้น
ปัญหาเหล่านี้จะวังวนไม่หาย ต้องรู้จักคลี่คลายปัญหาให้ได้ ซึ่งในสถานการณ์นี้ เมื่อยังเป็นเด็กก็ต้องอาศัยคนรอบข้างพ่อแม่ผู้ปกครองคอยเอาใจใส่ ที่สำคัญหากปัญหาจบเร็วก็จะดี แต่หากปัญหาไม่จบมีการพูดถึง หรือยังอยู่ในปัญหาตลอดตัวเด็กจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบที่สุด
"ไม่ใช่แค่กรณีเป็นข่าวเท่านั้น จริงๆ ในภาพรวมก็ต้องประสบปัญหาในลักษณะวนอยู่ในอ่างไม่จบสิ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นคนใกล้ชิดต้องคอยระวังพฤติกรรมของบุตรหลานด้วย โดยเฉพาะหากไม่พูดไม่จากับใคร ซึมเศร้า กินไม่ได้นอนไม่หลับ อาจถึงขั้นทำร้ายตัวเองได้ บางรายก็อาจไปหาทางออกที่ผิดๆ ดังนั้น คนใกล้ชิดสำคัญมากโดยเฉพาะพ่อแม่ ก่อนอื่นต้องปรับทัศนคติของตัวเองว่าจะยกโทษหรือซ้ำเติมลูก หากจะยกโทษต้องแสดงความเห็นใจ และอยากช่วยเหลือจริงๆ ซึ่งจะทำให้คำพูดและกิริยาออกมาในลักษณะเอื้ออาทร อย่าพูดในลักษณะเหมือนตำหนิ แม้เราจะรักลูกก็ตาม เช่น "บอกแล้วว่า อย่าทำ" ซึ่งไม่ควรพูด แต่ควรพูดเป็น "เข้าใจว่าใครเจอก็ต้องทุกข์" ซึ่งคนฟังจะรู้สึกดีมากกว่า นอกจากนี้ต้องพร้อมรับฟังโดยไม่มีการตำหนิกลับ ต้องรับฟังจริงๆ และสุดท้ายแนะแนวทางที่ถูกต้อง" พญ.วิมลรัตน์กล่าวขณะที่ นางวรรภา ลำเจียกเทศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เผยว่า ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มาตรา 27 ระบุว่าห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชน หรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่ทำให้เสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติยศ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
การนำเด็กมาแถลงข่าวของ ร.ต.อ.เฉลิมนั้นไม่มีเจตนาที่ทำให้เสียหาย จึงไม่เข้ากับมาตรา 27 อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก และครอบครัวต้องเข้ามาดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ซึ่งในกรณีนี้ คุณพ่อของเด็กเข้ามาดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดทันที ตามกฎหมาย เมื่อครอบครัวเข้ามาดูแลแล้ว บุคคลแวดล้อมอื่นๆ ต้องถอนบทบาท และให้ครอบครัวได้ดูแลซึ่งกันและกัน ยกเว้น เด็กไม่มีครอบครัวดูแล เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเข้าไปดูแลเด็ก ตามมาตรา 44 ที่ระบุไว้ ซึ่งจริงๆ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ยังไม่ได้ระบุแนวปฏิบัติไว้ชัดเจนในการห้ามนำเด็กแถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชน อีกทั้งการแถลงข่าวส่วนใหญ่มีเจตนาดีต่อเด็กทั้งนั้น แต่บางทีกระทำโดยไม่ทันคิด
"ขอฝากถึงครอบครัวของเด็กหญิงวัย 16 ปี ว่าการที่คุณพ่อเข้ามาทันทีที่เกิดปัญหา ถือว่าได้ใจแล้ว อยากให้ใช้ช่วงเวลาตรงนี้เยียวยากันดูแลกันคนเราทำผิดพลาดได้ ไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิด เพราะฉะนั้นทำผิดแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองมาช่วยดูแลก็จะทำให้เขามีเส้นทางที่งดงามได้ ส่วนกระทรวง พม.ก็จะเข้าไปให้คำปรึกษาและเยียวยาส่งเสริมให้ครอบครัวให้เข้มแข็งขึ้น" นางวรรภากล่าวน.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ไม่ควรนำเด็กร่วมแถลงข่าว และไม่ควรตรวจปัสสาวะเด็ก เพราะการตรวจปัสสาวะนั้น เป็นการกระทำเมื่อบุคคลนั้นมีสภาพของผู้ต้องหาแล้ว แต่เด็กคนนี้ยังไม่ได้อยู่ในสภาวะนั้น การกระทำดังกล่าวถือว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ในหมู่ของนักสิทธิสตรีและเด็กมีการพูดถึงประเด็นนี้มาก การนำเด็กขึ้นแถลงข่าวต้องมีความละเอียดอ่อน คนทำงานต้องปฏิบัติตามกฎหมายและให้ความร่วมมือ สื่อสามารถเผยแพร่ข่าวได้ แต่ไม่ควรละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หลีกเลี่ยงการเปิดเผยภาพ ใบหน้า ที่อยู่ ชื่อนามสกุลจริง ซึ่งแม้แต่ในรัฐธรรมนูญก็มีการระบุไว้ว่าห้ามเผยแพร่โฆษณาให้ผู้อื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง อีกทั้งประเทศไทยได้เข้าร่วมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ เมื่อปี 2532 ดังนั้นต้องให้ความเคารพไม่ละเมิดเด็ก
น.ส.สุเพ็ญศรีระบุว่า ในต่างประเทศเปรียบเด็กเสมือนพระเจ้าหรือเทวดา ดังนั้นก็ต้องช่วยกันปกปักษ์รักษา เมื่อเด็กทำผิด ก็ต้องมีกระบวนการฟื้นฟู เยียวยา เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผู้ใหญ่ต้องไปอ่านกฎหมายคุ้มครองเด็ก ไม่อย่างนั้นความหวังดีของท่านจะนำไปสู่การละเมิดซ้ำ สังคมควรมีความละเอียดอ่อนเรื่องสิทธิมนุษยชน เด็ก และสตรี ผู้ที่เป็นผู้บริหารต้องมีวิจารณญาณมีวุฒิภาวะมากกว่าบุคคลธรรมดา
"สิ่งสำคัญในการเยียวยาเด็กคือ ต้องเห็นใจ รับฟัง และไม่ตำหนิซ้ำเติม ขอชื่นชมความกล้าหาญของคุณพ่อเด็ก เด็กถือว่ามีต้นทุนทางครอบครัวดี ดังนั้นสังคมต้องให้โอกาสและเข้าใจ เพราะถ้าสังคมเข้าใจจะทำให้เขารู้สึกดีขึ้นมา"
เหล่านี้คือเสียงสะท้อนต่อกรณีตัวอย่าง "น้องปันปัน"
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 29 ก.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- เฉลิม อยู่บำรุง
- การกระทรวงแรงงาน
- ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด(ศพส.)
- พงศพัศ พงษ์เจริญ
- คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.)
- ปันปัน
- ยาไอซ์
- วิมลรัตน์ วันเพ็ญ
- สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
- กรมสุขภาพจิต
- กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)
- วรรภา ลำเจียกเทศ
- สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ
- พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก
- 767 views