"ลีจิโอเนลลา" เป็น เชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคได้ 2 ลักษณะ หากติดเชื้อโดยมีภาวะปอดอักเสบร่วมด้วยอาการก็จะรุนแรงและเกิดอัตราการป่วยตายสูง เรียกว่า โรคลีเจียนแนร์ ส่วนอาการแบบไม่รุนแรงเรียกว่า โรค ไข้ปอนเตียก อาการจะคล้ายๆไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ โรคนี้จะแสดงอาการรุนแรงในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคไต โรคปอดเรื้อรัง หรือในกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ จะติดเชื้อนี้ได้ง่ายแล้วโรคก็จะลุกลามจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
จากรายงานการพบ นักท่องเที่ยวติดเชื้อลีจิโอเนลลาในประเทศไทยทุกปี โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.ภูเก็ต จึงได้ทำการศึกษาเชื้อลีจิโอเนลลาที่ ตรวจพบในจังหวัดภูเก็ตมาโดยตลอด และมักจะสำรวจพบเชื้อนี้ได้จากหอผึ่งเย็น (Cooling Tower) ในโรงแรม โรงพยาบาล หรือที่พักต่างๆ นอกจากนั้นยังมีการสำรวจพบเชื้อตามอุปกรณ์ในห้องน้ำด้วย เช่น ฝักบัว ก๊อกน้ำร้อน น้ำเย็น รวมถึงเครื่องปรับอากาศตามบ้านของคนทั่วไป สิ่งเหล่านี้นับเป็นเครื่องใช้ใกล้ตัวที่เหมือนเป็นจุดแพร่กระจายเชื้อสู่คนได้ง่าย ดังนั้นในการสอบสวนโรคจะมุ่งเน้นไปยังเครื่องใช้เหล่านี้เป็นเป้าหมายแรก และเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจึงควรหาเวลาทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ที่เสี่ยง เช่น ล้างหน้ากากแอร์ หรือแกะฝักบัวมาเช็ดล้างทำความสะอาดตะไคร่ที่มาเกาะ เพื่อ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อและแพร่กระจายเชื้อ
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิทย์ฯ จ.ภูเก็ต ได้ดำเนินการทั้งให้บริการตรวจวิเคราะห์และบูรณาการความร่วมมือควบคุมเฝ้าระวังโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ผู้ประกอบการโรงแรมและที่พัก รวมทั้งสมาคมการท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ต จนเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่ต้องถูกกำหนดให้อยู่ในการควบคุมคุณภาพของโรงแรม เกี่ยวกับการควบคุมระบบน้ำ ระบบจัดการเครื่องปรับอากาศ แหล่งน้ำ หรือจุดที่จะสามารถปล่อยละอองน้ำออกมาได้ ปัจจุบันจึงมีการตั้งเป็นข้อกำหนดหรือเทศบัญญัติของพื้นที่ ที่จะต้องดำเนินการตรวจหรือควบคุมเชื้อชนิดนี้ไม่ให้เจอในสถานประกอบการที่เป็นที่พัก หรือในที่ที่จะเป็นจุดต้อนรับ นักท่องเที่ยว จนทุกวันนี้หลายคนในพื้นที่มีการตื่นตัวและรู้จักการป้องกันอันตรายจากเชื้อชนิดนี้กันมากขึ้น
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 29 ก.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 238 views