รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งกำชับ 10 จังหวัดพื้นที่ควบคุมพิเศษไข้เลือดออก เช่น เชียงใหม่ เชียงราย สงขลา นครราชสีมาระดมแพทย์และนักวิชาการหน่วยงานในสังกัด ร่วมลดจำนวนผู้ป่วยและลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยไข้เลือดออกให้ได้มากที่สุด ย้ำประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันทำลายลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่องทุก 7 วัน เพื่อลดพาหะแพร่เชื้อ เผยสถิติผู้ป่วยไข้เลือดขณะนี้ยังทรงตัว ป่วยเพิ่มเฉลี่ยสัปดาห์ละประมาณ 6,000 ราย ย้ำเตือนประชาชนที่เป็นไข้ หากไข้ไม่ลดใน 2 วันให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการประชุมวอร์รูม ติดตามสถานการณ์โรคไข้เลือดออกทั่วประเทศของกระทรวงสาธารณสุข ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แม้ว่าทุกภาคส่วนจะมีการรณรงค์ร่วมมือกันกำจัดยุงและลูกน้ำอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในช่วง 2 เดือนนี้คือกรกฎาคมถึงสิงหาคม มักจะมีการระบาดสูงที่สุดในแต่ละปี ในช่วงวันที่ 18-25 กรกฎาคม 2556 มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ กทม. เชียงราย สงขลา นครราชสีมา นครศรีธรรมราช เพชรบูรณ์ ศรีสะเกษ นครพนม และร้อยเอ็ด ได้กำชับสั่งการให้เป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษ และให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เร่งดำเนินการควบควบคุมการแพร่ระบาดโดยเร็ว
“มาตรการที่เน้นหนักขณะนี้ คือลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตให้ได้มากที่สุด ได้สั่งการให้ระดมแพทย์ นักวิชาการ จัดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานในสังกัด สนับสนุนโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลทั่วไป ในด้านการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย และยังคงเน้นการควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมง หลังพบผู้ป่วยไข้เลือดออกทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่จำนวนผู้ป่วยไม่ลดลง หรือเพิ่มมากขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุขจะติดตามผลความคืบหน้าทุกสัปดาห์” นายแพทย์ประดิษฐกล่าว
ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและในฐานะประธานวอร์รูมโรคไข้เลือดออก กล่าวว่า สิ่งที่ต้องย้ำเตือนประชาชนทุกคนให้ตระหนักอยู่เสมอคือ เมื่อเป็นไข้ และไม่ลดภายใน 2 วัน หรือมีอาการปวดท้อง อาเจียน หรือมีจุดแดงปรากฏตามร่างกาย ขอให้รีบปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการและให้การรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป จะทำให้สามารถรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้ได้ทันการณ์ และต้องขอความร่วมมือองค์กรต่างๆทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทุกคน ให้คงการเอาใจใส่ ควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างเต็มที่ คือการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ทำลายยุงลายตัวเต็มวัยอย่างต่อเนื่องทุกๆ 7 วัน หากดำเนินการได้ทุกพื้นที่ จะทำให้ปัญหาเบาบางลง
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ยอดสะสมผู้ป่วยไข้เลือดออกตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 จนถึงขณะนี้มี 81,763 ราย จำนวนผู้ป่วยมากเป็น 3 เท่าของปี 2555 ในช่วงเวลาเดียวกัน กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ 15-24 ปีคิดเป็นร้อยละ 28 ของผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งครึ่งหนึ่งในกลุ่มนี้เป็นนักเรียน สำหรับผู้เสียชีวิตมีจำนวนรวม 78 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 0.10 โดยพบสูงสุดในวัยเรียน และวัยรุ่น กลุ่มอายุ 15-24 เช่นเดียวกัน
- 2 views