Hfocus -ด้วยปัญหาการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์และระบบการรักษาพยาบาลดูแลผู้เอดส์/ผู้ติดเชื้อเอชไอวีในช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ ไทยจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก “กองทุนโลก” (Global Fund) เพื่อดำเนินการช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์/ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทั้งการเข้าถึงยา การจัดทำระบบช่วยเหลือผู้ป่วย รวมถึงการดำเนินงานป้องกันและลดผู้ติดเชื้อรายใหม่
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า กองทุนโลกเป็นกองทุนสนับสนุนประเทศที่กำลังประสบปัญหาเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งโรคเอดส์เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญต้องเร่งแก้ไขของไทย โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีก่อนที่ยังไม่มีการให้ยาต้านไวรัสหรือระบบเพื่อดูแลผู้ป่วยเอดส์/ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เป็นรูปธรรม รวมไปถึงการควบคุมโรค ด้วยเหตุนี้จึงมีการทำโครงการขอรับรับการสนับสนุนจากกองทุนโลกเพื่อแก้ไขปัญหานี้
“ไทยได้ทำเรื่องขอรับการสนับสนุนตามที่กองทุนโลกได้เปิดพิจารณาให้เงินช่วยเหลือในรอบแรก หรือประมาณเมื่อปี 2546 โดยเราขอสนับสนุนทั้งการจัดซื้อยาต้านไวรัสให้แก่ผู้ติดเชื้อ รวมทั้งการจัดระบบการดูแล การตั้งคลินิกดูแลในโรงพยาบาล รวมไปถึงการจัดระบบให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้ติดเชื้อ หรือการจัดตั้งศูนย์องค์รวม” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว
ต่อมาปี 2548 ไทยได้เริ่มโครงการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์ โดยผลักดันการให้ยาต้านไวรัสเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้วยเหตุนี้ทำให้งบจัดซื้อยาที่ได้รับจากกองทุนโลกถูกนำไปช่วยเหลือผู้ติดเชื้อที่ยังเข้าไม่ถึงยาแทน ภายใต้โครงการ NPHA Extension โดยเริ่มแรกผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้ยังเป็นคนไทย เป็นกลุ่มที่ไม่กล้าเปิดเผยตัวเอง ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ เนื่องจากตอนนั้นยังไม่มีระบบรักษาความลับผู้ป่วย แต่ภายหลังเราเห็นว่า ความจริงคนเหล่านี้ต่างมีระบบหลักประกันสุขภาพรองรับอยู่แล้ว เพียงแต่มีปัญหา ดังนั้นจึงมีปรับระบบและการผลักดันผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้กลับสู่ระบบดังเดิม โดยใช้เวลา 2 ปี และนำงบจัดซื้อยาต้านไวรัสกองทุนโลกไว้ช่วยกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงยาจริงๆ อย่างกลุ่มต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติ และได้ให้ยาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากการให้ยาต้านไวรัสแล้ว งบกองทุนโลกยังสนับสนุนงานด้านการส่งเสริมและป้องกันการติดเชื้อ กระจายไปทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ เป็นการดึงชุมชน โรงงาน และโรงเรียนเข้ามาร่วมในการวางแผนป้องกัน เน้นให้การให้ความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับเอดส์ การป้องกัน นับเป็นกระบวนการสำคัญ รวมถึงการเข้าถึงกลุ่มเสี่ยง ซึ่งงานในจุดนี้ค่อนข้างกว้างมากและที่ผ่านมามีการใช้งบประมาณทำงานค่อนข้างมาก
นายนิมิตร์ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่างบที่ไทยรับจากกองทุนโลกมีหลายรอบ โดยรอบแรกเราได้เฉลี่ยปีละ 200-300 ล้านบาทต่อเนื่องกัน 5 ปี และมีการขยายออกไปอีก 3 ปี รวมเป็น 8 ปี ขณะที่งบรอบที่ 3 ไทยได้รับเพื่อนำไปดูแลกลุ่มผู้ใช้ยายาเสพติดและปิดโครงการไปแล้ว ต่อมาในรอบที่ 8 เราได้งบประมาณเพื่อนำมาดูแลกลุ่มที่มีเสี่ยงสูง เปราะบาง และจำเป็นเร่งด่วนในการเข้าดูแลและลดจำนวนการติดเชื้อ ได้แก่ กลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย กลุ่มหญิงบริการ กลุ่มเยาวชน และกลุ่มผู้ใช้สารเสพติด เป็นการสานต่อกับงานที่ได้รับงบก้อนแรก นอกจากนี้ยังมีงบรอบที่ 10 เป็นงบขอสนับสนุนเพื่อทำงานด้านเด็กโดยเฉพาะ ดูแลเด็กในชุมชนที่ได้รับผลกระทบทุกด้าน ไม่แต่เฉพาะเรื่องเอดส์เท่านั้น
อย่างไรก็ตามขณะนี้งบประมาณกองทุนโลกรอบ 1 และ 8 กำลังจะหมดในปีหน้าและขยายต่อไปไม่ได้ จึงห่วงว่าอาจทำให้งานส่งเสริมป้องกันเอดส์ได้รับผลกระทบ ซึ่งยังมีงานต้องทำต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดูแลกลุ่มเสี่ยงที่ยังมีอัตราการติดเชื้อที่สูง จึงมีคำถามว่าแล้วรัฐบาลจะเข้ามาต่อยอดโครงการที่รับงบกองทุนโลกเหล่านี้หรือไม่ เพราะในช่วง 10 ปี จากที่เราได้งบกองทุนโลกทำงานด้านส่งเสริมป้องกัน ทำให้รัฐบาลไม่มีการจัดงบส่วนนี้ไว้
“จากงานเครือข่ายป้องกันที่ทำอย่างเข้มข้น สามารถลดผู้ติดเชื้อลงได้แม้จะไม่มากก็ตาม แต่เมื่อเงินกองทุนโลกหมดและรัฐบาลไม่แผนเข้ามาดูแลต่อ กลัวว่างานเหล่านี้จะจางลงทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ และปัญหาเอดส์จะกลับมาใหม่ เพราะขณะนี้ซึ่งเริ่มอยู่ในช่วงท้ายของงบกองทุน อัตราการพบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เริ่มเพิ่มมากขึ้นแล้ว นอกจากนี้อัตราการติดเชื้อรายใหม่ยังไม่ลดลง หากโครงการทั้งหมดหยุดไปและไม่มีการดำเนินกาต่อจะเป็นอย่างไร”
ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวต่อว่า แนวทางแก้ไขปัญหาคือต้องหางบสนับสนุนการทำงานด้านป้องกันต่อ โดยเห็นตรงกันว่า ต้องมีการจัดตั้ง “กองทุนเอดส์” ขึ้น เพื่อนำมาสนับสนุนต่อยอดงานที่ได้รับงบจากกองทุนโลก มีหลายงานต้องเดินต่อ อาทิ งานป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย งานป้องกันในกลุ่มเยาวชน ที่มาของงบกอาจนำมาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หรืองบจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เบื้องต้นเสนอขอประมาณ 300 ล้านบาท
ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า งบที่ได้รับสนับสนุนจากกองทุนโลกยังไม่ถึงกับหมดร้อยเปอร์เซ็น ซึ่งกองทุนโลกยังให้งบประเทศไทยในรอบต่อไปอยู่เพียงแต่อาจลดน้อยลงเท่านั้น เนื่องจากทางกองทุนโลกจะไปเน้นให้งบกับประเทศที่มีรายได้ต่ำเพิ่มมากขึ่น แต่ในระหว่างนี้ไม่ถึงกับว่าประเทศไทยจะไม่ได้รับงบประมาณเลย แต่เราคงต้องทำโครงการขอเพิ่มการสนับสนุนในกลุ่มเป้าหมายที่ยังเปิดให้อยู่ อาทิ งบช่วยเหลือกลุ่มประชากรย้ายถิ่น กลุ่มคนไร้ถิ่นฐาน เป็นต้น โดยงบที่ได้รับอาจลดลง 3 ใน 4 นอกจากนี้งบประมาณที่กองทุนโลกอนุมัติให้ไทยในรอบที่ผ่านมา เรายังคงใช้ได้ถึงปี 2558 ทำให้มีเวลาเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือได้
นพ.พรเทพ กล่าวว่า ส่วนที่มีความเป็นห่วงผลกระทบงานป้องกัน โดยเฉพาะโครงการต่างๆ ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนโลกก่อนหน้านี้ว่าอาจไม่มีการสานต่อ และทำให้งานป้องกันเอดส์สะดุดนั้น เห็นว่าถ้าถึงเวลาและไม่ได้รับการสนับสนุนงบจากกองทุนโลกจริง อาจต้องขอการสนับสนุนงบจากรัฐบาลแทน อย่าง โครงการถุงยางอนามัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัจจุบันได้จากรัฐบาล 40 ล้านชิ้น ใช้งบไม่ถึงร้อยล้าน อาจต้องทำเรื่องขอเพิ่มงบประมาณสมทบเพิ่ม
ขณะที่ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสข.) กล่าวว่า งบด้านเอดส์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2557 เพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วยเดิมและผู้รายใหม่รวมไปถึงงานด้านการป้องกัน ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.ได้ให้ความสำคัญด้านงานป้องกันมากขึ้น เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นจุดสำคัญเพื่อลดจำนวนผู้ป่วย ส่วนงบประมาณกองทุนโลกนั้น เป็นงบที่ให้สำหรับการดูแลคนชายขอบ คนไร้รัฐเป็นหลัก เป็นคนละกลุ่มเป้าหมาย แต่ยอมรับว่าการทำงานพื้นที่ ปกติหน่วยบริการไม่มีการแบ่งแยกอยู่แล้ว เพียงแต่อาจมีความยากลำบากบริหารงบ ซึ่งงานด้านการป้องกันก็เช่นกัน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคนไทย
ส่วนที่มีการเสนอจัดตั้งกองทุนเอดส์เพื่อทำงานป้องกันหลังหมดงบกองทุนโลหมดลง และจะมีการดึงงบจาก สปสช. นั้น เห็นว่าปกติการทำงานป้องกันของคณะกรรมการเอดส์ชาติต้องมีการจัดตั้งงบขึ้นมาก้อนหนึ่งอยูแล้ว อาจดึงมาจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สปสช.เองก็พร้อมสนับสนุน คงต้องหารือรายละเอียดว่าจะเป็นการดึงงบไปไว้ที่ส่วนกลาง หรือจะเป็นการมอบภารกิจให้ สปสช.ดำเนินการ เชื่อว่าไม่เป็นปัญหาเพราะทิศทางงานป้องกันมีความสอดคล้องกันอยู่แล้ว
- 100 views