จากพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป ตามวิถีการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันที่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น แม้กระทั่งเรื่องของน้ำดื่ม ที่ได้ปรับเปลี่ยนการบริโภคพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ จากน้ำฝนเป็นน้ำประปา และน้ำดื่มบรรจุขวดจนกระทั่งพัฒนาขึ้นมาเป็นตู้น้ำหยอดเหรียญ ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่อาศัยในย่านชุมชน หอพัก ห้องเช่า อพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียม โรงเรียน ฯลฯ ส่งผลให้ธุรกิจบริการตู้น้ำดื่มแบบหยอดเหรียญผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่ต้องการซื้อน้ำปริมาณมากในราคาที่ถูกเพราะมีราคาเพียงลิตรละ 1-2 บาทเท่านั้น

นายจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่าปัจจุบันตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญได้กลายเป็นทางเลือกใหม่ สำหรับผู้บริโภคที่รักความสะดวกสบาย เนื่องจากส่วนใหญ่มักจะตั้งอยู่ในแหล่งชุมชนต่าง ๆ โดยพบว่าในแต่ละปีธุรกิจบริการตู้น้ำดื่มแบบหยอดเหรียญมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10-20 แต่จากการที่ทาง สคบ. ได้มีการลงพื้นที่ไปสุ่มตรวจสอบตู้น้ำหยอดเหรียญซึ่งติดตั้งตามสถานที่ชุมชนต่าง ๆ พบว่ากว่าร้อยละ 50 เป็นตู้น้ำหยอดเหรียญที่ไม่ได้คุณภาพ โดยมีการติดตั้งในสถานที่ที่ไม่ค่อยเหมาะสม เช่น ใกล้ที่ทิ้งขยะ ใกล้บ่อน้ำครำ เป็นต้น และยิ่งไปกว่านั้นข้อมูลการประเมินคุณภาพและความปลอดภัยของน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญทั่วประเทศในปี 2555 ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวงสาธารณสุข จากการเก็บตัวอย่างจำนวน 1,871 ตัวอย่าง พบว่ามี 633 ตัวอย่างหรือร้อยละ 34 หรือประมาณ 1 ใน 3 ที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ทั้งนี้เนื่องจากผู้ให้บริการส่วนใหญ่ไม่มีการรักษาคุณภาพน้ำ ละเลยไม่ดูแลเกี่ยวกับไส้กรอง ไม่มีการเปลี่ยนเป็นระยะเวลานาน ไม่ระบุวันเปลี่ยน วันหมดอายุที่แน่ชัด ความสกปรกของหัวจ่ายน้ำและตัวเครื่องด้านนอก รวมถึงปัญหาตู้ชำรุด ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย ทำให้ผู้บริโภคมีปัญหาเกี่ยวกับระบบโรคทางเดินอาหารหรือเกิดโรคอาหารเป็นพิษได้

โดยก่อนหน้านี้ทาง สคบ. ได้ออกตรวจสอบการจัดทำฉลากของผู้ประกอบธุรกิจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญพบว่าส่วนใหญ่ยังจัดทำฉลากไม่ถูกต้องหรือแสดงไม่ชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพบนความสะดวกของผู้บริโภคและเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ทาง สคบ.ได้ออกประกาศ "ให้ตู้น้ำหยอดเหรียญอัตโนมัติเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก" ซึ่งบังคับให้แต่ละตู้ต้องแสดงรายละเอียดคำแนะนำและคำเตือนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้บริโภคด้วย ได้แก่ 1.ข้อแนะนำในการใช้ 5 ข้อคือ 1.1) ต้องดูความสะอาดของหัวจ่ายน้ำ 1.2) ต้องหลีกเลี่ยงการใช้บริการจากตู้น้ำหยอดเหรียญอัตโนมัติที่มีลักษณะไม่ถูกสุขอนามัย 1.3) ต้องใช้ภาชนะที่สะอาดในการบรรจุน้ำ 1.4) ต้องหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติที่มีสี กลิ่น หรือรสผิดปกติ 1.5) ไม่ควรนำภาชนะที่เคยบรรจุของเหลวชนิดอื่นมาบรรจุน้ำ 2.ระบุวันเดือนปีที่เปลี่ยนไส้กรองแต่ละชนิด 3.ในคำเตือนต้องระบุว่า "ระวังอันตราย หากไม่ตรวจสอบ วันเดือนปี ที่เปลี่ยนไส้กรอง และตรวจสอบคุณภาพน้ำ" โดยข้อความที่เป็น "คำเตือน" จะมีการใช้ตัวอักษรหนาสีแดงขนาดไม่ต่ำกว่า 1 ซม. บนพื้นสีขาว และมีการแสดงไว้ที่ด้านหน้าของตู้ด้วยลักษณะที่มีความคงทนถาวร และสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน

เลขาธิการ สคบ. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า "ที่ผ่านมาทาง สคบ. ได้จัดสัมมนาให้ความรู้กับผู้ประกอบธุรกิจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติ เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจในการจัดทำฉลากสินค้าให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักถึงความปลอดภัย และความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคในการดูแลรักษาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติ เพื่อให้ได้น้ำที่มีมาตรฐานต่อการบริโภค รวมทั้งให้เครือข่ายภาคประชาชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่ สคบ.และหน่วยงานอื่นได้ประกาศบังคับใช้

อีกทั้งยังได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรุงเทพมหานครในการดูแลแก้ไขปัญหาตู้น้ำหยอดเหรียญที่ไม่ได้คุณภาพ และได้ร่วมกับสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต 50 ชมรม ซึ่งจะเป็นหูเป็นตา ในการตรวจสอบ และแจ้งเบาะแสกลับมาให้ทาง สคบ.เพื่อดำเนินการต่อไป จึงขอฝากข้อกฎหมายนี้ถึงผู้ประกอบการให้ช่วยปฏิบัติตามในเรื่องนี้อย่างเคร่งครัดด้วย และหากพบว่ามีการกระทำฝ่าฝืน ในกรณีที่เป็นผู้จำหน่ายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในส่วนของผู้ผลิตจะมีโทษเป็น 2 เท่า คือ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือปรึกษาปัญหาข้อสงสัยได้ที่ สายด่วน สคบ. 1166" เลขาธิการ สคบ. กล่าวด้าน ดร.ทพ.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน รองนายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการสุ่มตรวจสอบคุณภาพของน้ำจากตู้น้ำหยอดเหรียญภายในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่จำนวนทั้งสิ้น 40 ตัวอย่าง พบว่า ได้มีตู้น้ำหยอดเหรียญรวมทั้งสิ้น 14 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ยังไม่ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพน้ำ โดยเจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบสารต่าง ๆ เช่น เหล็กและตะกั่ว แมงกานีส โคลิฟอร์ม อีโคไล กรดด่าง และสารโคลิฟอร์ม แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการหรือผู้รับผิดชอบน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญบางรายขาดการดูแลบำรุงรักษาเครื่องกรองน้ำ ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักของตู้ ทำให้ตู้นั้นมีประสิทธิภาพการ กรองต่ำลง และเกิดการสะสมของจุลินทรีย์มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ที่บริโภคน้ำดังกล่าว เป็นโรคอาหารเป็นพิษ อาจจะมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ และเกิดตะคริวที่ท้องได้ ดังนั้นตนจึงอยากฝากเตือนประชาชนที่นิยมบริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญว่า ควรมีการสังเกตตรวจตราในเรื่องของความแข็งแรงทนทานของตู้น้ำหยอดเหรียญ สถานที่ในการติดตั้ง ความสะอาดของของตู้ถังเก็บน้ำ และหัวจ่ายน้ำดื่มดังกล่าวว่ามีความสะอาดหรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องสังเกต การบันทึกการทำความสะอาดไส้กรองและการบำรุงรักษา ซึ่งจะติดไว้กับตัวเครื่องเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้บริโภค ซึ่งทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้หมั่นออกตรวจตราตู้น้ำหยอดเหรียญ ที่ติดตั้งให้บริการทั่วจังหวัดเชียงใหม่ หากผู้ประกอบการรายใดนำตู้น้ำหยอดเหรียญที่ไม่ได้มาตรฐานออกมาให้บริการประชาชนทางเราก็จะได้มีการแจ้งเตือนให้ทำการปรับปรุงแก้ไข หากยังไม่ดำเนินการใด ๆ ก็จะมีมาตรการทางกฎหมายนำออกมาบังคับใช้เพื่อให้ความปลอดภัยกับสุขภาพของผู้บริโภคเป็นที่ตั้งและมากที่สุด

ท่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 26 ก.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--