สมพงค์ สระแก้ว ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน
Hfocus -แม้แรงงานต่างด้าวจะมีสถานะถูกกฎหมาย แต่ก็หาได้เป็นสิ่งยืนยันว่าพวกเขาจะได้เข้าถึงสิทธิการเข้าถึงระบบประกันสุขภาพสำหรับลูกจ้าง
มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานใน อ.มหาชัย จ.สมุทรสาคร ได้สำรวจพบว่า มีเพียงแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายประมาณ 59,000 คน ที่ขึ้นทะเบียนประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จากทั้งหมดกว่า 170,000 คนในพื้นที่ หากย้อนไปปลายปีก่อน กระทรวงแรงงานได้ประมาณการณ์ว่ามีแรงงานต่างด้าวผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วแต่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคมอีกกว่า 1.1 ล้านคน นำมาสู่คำถามว่า เหตุใดแรงงานถูกต้องตามกฎหมายเหล่านี้จึงไม่เข้าสู่ระบบ เพื่อที่พวกเขาจะได้สิทธิการรักษาพยาบาล และการคุ้มครองด้านสวัสดิการต่างๆ
คำตอบอาจจะอยู่ในระบบที่ออกแบบอย่างหละหลวม จนเกิดช่องว่างทำให้แรงงานถูกกฎหมายเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านสิทธิและสวัสดิการที่พวกเขาพึงได้รับ
นายเนียง ชาวพม่าอายุ 37 ปี คือกรณีศึกษาหนึ่งของผู้ที่ถูกกีดกั้นจากการเข้าถึงสวัสดิการประกันสังคม เขาทำงานอยู่ในโรงงานทำลูกชิ้นที่ อ. มหาชัย จ.สมุทรสาคร อยู่ในเมืองไทยมากว่า 6 ปี มีพาสปอร์ตและใบอนุญาตทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่นายเนียงมิได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม ด้วยเหตุที่ว่า “นายจ้างไม่บอกเขา”ปัจจุบัน นายเนียงต้องพึ่งพาคลินิกเอกชนในเวลาป่วย เสียค่าใช้จ่ายด้วยเงินของตนเอง
“เค้าไม่เคยบอกว่าทำไมถึงไม่ทำประกันสังคมให้” นายเนียงบอกเล่า
มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานได้รับการร้องเรียนในกรณีคล้ายกันนี้หลายครั้ง โดยส่วนมาก นายจ้างหลีกเลี่ยงการบอกลูกจ้างถึงสิทธิของตนในประกันสังคม เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินสมทบให้กับลูกจ้าง ในบางกรณี แม้ลูกจ้างได้รับการประกันตนกับสปส.แล้ว แต่กลับไม่สามารถใช้สิทธิในการรักษาที่โรงพยาบาลได้ เนื่องจากนายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่บอกกล่าวสาเหตุแก่ลูกจ้าง
นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน เล่าว่า กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมมักเป็นแรงงานในสถานประกอบการเล็ก ค่าจ้างงานไม่เสถียร ได้ตามปริมาณงานที่ทำ ที่ผ่านมาพบว่า แรงงานไม่รู้สิทธิตน เพราะนายจ้างไม่บอกกล่าว และการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐไปไม่ถึงการรับรู้ของแรงงาน มีรายงานว่า แม้สำนักงานประกันสังคมได้รับงบประมาณกว่า 100 ล้านในการประชาสัมพันธ์หน่วยงานและสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม แต่รูปแบบการประชาสัมพันธ์ยังคงเน้นไปยังการทำแผ่นพับหลายภาษา แต่น้อยนักที่เจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่เพื่อพบปะกับแรงงานโดยตรง จึงทำให้เกิดช่องว่างที่นายจ้างจะหลีกเลี่ยงการนำลูกจ้างตนเข้าสู่ระบบประกันสังคม
“ระบบให้อำนาจกับนายจ้าง โดยที่ไม่มีกระบวนการตรวจสอบนายจ้างที่เข้มแข็งมารองรับ” นายสมพงษ์กล่าว “ส่วนแรงงานต่างด้าวไม่มีอิสรภาพ จึงมีกรณีที่ลูกจ้างแรงงานต่างด้าวถูกเอาเปรียบอยู่เรื่อยมา”
แม้มีสถานะที่ถูกกฎหมาย แต่แรงงานต่างด้าวก็มิอาจมีอิสรภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารถึงสิทธิที่ตนพึงจะได้รับ แม้รับรู้ได้ พวกเขายังคงต้องพึ่งพาเอกสารจากนายจ้างเพื่อประกันตนกับสปส. ซึ่งมีรายงานว่านายจ้างไม่ออกเอกสารให้ หรือแสร้งทำกระบวนการให้ล่าช้า
การปิดบังข้อมูลต่อลูกจ้างแรงงานต่างด้าว ได้เปิดช่องให้ธุรกิจใต้ดินมาหาผลประโยชน์จากแรงงานกลุ่มนี้ เช่นขบวนการนายหน้าที่อาสาพาลูกจ้างของนายจ้างหนึ่งๆไปรักษาพยาบาลเมื่อยามเจ็บไข้ แต่เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลที่สูงเกินจริงจากลูกจ้าง โดยที่ลูกจ้างมิอาจรู้ว่าตนมีสิทธิในการรับบริการการรักษาพยาบาลในสิทธิประกันสังคม หากตนได้ขึ้นทะเบียนไว้ มีรายงานว่า แรงงานต่างด้าวบางรายโดนเก็บค่าตรวจสุขภาพในอัตรา 4,500-6,500 บาทต่อครั้ง จากราคาจริงเพียงแค่ 600 บาทต่อครั้ง
นพ.ถาวร สกุลพานิชย์ จากสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย ได้ทำการศึกษาด้านระบบประกันสุขภาพสำหรับแรงงานต่างด้าว พบว่า การที่แรงงานต่างด้าวยังคงเข้าสู่ระบบประกันสังคมน้อย นั้นอาจเป็นเพราะว่าระบบการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวยังไม่มีการบูรณาการที่สมบูรณ์แบบ ยกตัวอย่างเช่น ตรวจคนเข้าเมืองรับผิดชอบในเรื่องการขอพาสปอร์ตของแรงงานต่างด้าว ในขณะที่ใบอนุญาตทำงานต้องประสานไปทางกระทรวงแรงงาน การขึ้นทะเบียนประกันสังคมต้องติดต่อทางสปส. จึงทำให้เกิดการสะดุดของกระบวนการ และเกิดช่องว่างระหว่างการประสานงาน เปิดโอกาสให้นายจ้างหรือแรงงานต่างด้าวหลีกเลี่ยงการเข้าสู่ระบบประกันสังคม
มีคำถามว่า ทำไมสิทธิสุขภาพถึงมีความสำคัญกับแรงงานต่างด้าว คำตอบสำหรับเรื่องนี้ เพราะนี่คือหลักสิทธิมุนษยชน ที่ความเป็นรัฐชาติมิอาจมาแบ่งแยกได้ สำหรับแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นชาติไหน การได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะสิทธิสุขภาพ และการได้รับการรักษาพยาบาลคือหลักสิทธิมนุษยชน สำหรับกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย ได้รับการรับรองจากรัฐบาลไทยแล้ว ในความเป็นจริงกลุ่มเหล่านี้ควรจะเข้าถึงสิทธิสุขภาพได้โดยง่าย แต่ก็ยังพบว่ามีอัตราการเข้าถึงต่ำ ดังนั้น นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานและสปส.ที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะกับการที่ไทยตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี การเตรียมการรองรับเรื่องสวัสดิการและสิทธิขั้นพื้นฐานด้านต่างๆมีความสำคัญยิ่ง
- 512 views