โพสต์ทูเดย์ - ประเด็นหนึ่งที่คนไทยหลายคนกังวลว่าจะเกิดขึ้นหลังเปิดประชาคมอาเซียน คือ การหลั่งไหลเข้ามาของแรงงานข้ามชาติ บ้างมองว่าจะแย่งงานคนไทยและบ้างมองว่าคนกลุ่มนี้จะเป็นพาหะนำโรค แพร่โรคระบาดต่างๆ ทั้งที่ยังมีอยู่ในไทยและสูญหายไปแล้ว

แต่ กาญจนา ดีอุตผู้จัดการมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้แรงงานของกลุ่มชาติพันธุ์ (แมพ) มองว่า โรคติดต่อเป็นเรื่องที่"ทุกคน" ไม่ว่าสัญชาติใด ก็สามารถเป็นพาหะได้ ยิ่งหากอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขอนามัยก็จะยิ่งเป็นพาหะได้ง่าย ปัญหาจึงน่าจะอยู่ที่ภาครัฐไม่ได้ลงมาดูแลอย่างเหมาะสม

"ที่ผ่านมาเวลากล่าวถึงประชาคมอาเซียน เราไม่ค่อยมองเรื่องความกินดีอยู่ดีของประชาชนการคุ้มครองแรงงาน สิทธิแรงงานก็ไม่ได้หยิบขึ้นมาถกเถียงอย่างจริงจัง แรงงานข้ามชาติจึงยังมีปัญหาสุขภาพ"

เธอย้ำว่า ทุกวันนี้แรงงานข้ามชาติมักถูกกีดกันเพราะโรคต่างๆ เช่น วัณโรค เท้าช้าง เอดส์ ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติที่ผิด แรงงานกลุ่มดังกล่าวยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ และโรคหวัดยังติดต่อง่ายกว่าโรคดังกล่าวด้วยซ้ำ

การแก้ปัญหาสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ให้ความรู้เรื่องโรคภัยแก่แรงงานข้ามชาติเพราะหากรู้วิธีปฏิบัติที่ดีแล้วก็จะลดโอกาสการแพร่โรคสู่ผู้อื่นได้การเปิดให้แรงงานข้ามชาติได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของหมู่บ้านตำบล เพื่อให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโรคภัยต่างๆนอกจากนี้ นายจ้างต้องเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติลางานไปรักษา โดยยังได้รับค่าจ้างตามสมควรด้วย

"ขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องร่วมมือกันทั้งระหว่างรัฐต่อรัฐและบูรณาการงานระหว่างกระทรวงกันเองเพราะเรื่องแรงงานข้ามชาติเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานมาก การดำเนินงานของบางหน่วยงานยังเป็นอุปสรรคต่อการดูแลสุขภาพของแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีบัตรประจำตัว"

หากเป็นไปได้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขควรมีหน้าที่ในการดูแลสภาพการอยู่อาศัยและสุขอนามัยทั้งในที่อยู่อาศัยและสถานที่ทำงานของแรงงานข้ามชาติด้วย

ด้าน สมพงค์ สระแก้วผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (แอลพีเอ็น)

ชี้ว่า ปัจจัยที่เอื้อให้แรงงานป่วยเป็นโรคต่างๆ ได้แก่1.การอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม 2.การขาดแบบแผนแนวคิดการทำงาน ทำให้ทำงานไม่เป็นเวลา พักผ่อนไม่เพียงพอ 3.วัฒนธรรมการกินและการบริโภคยังไม่ดี โรงงานเองยังขาดอาชีวอนามัย

สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นพาหะของโรคคือ กลุ่มที่เข้ามาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะกลุ่มที่เข้ามาตามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) จะต้องได้รับการตรวจสุขภาพก่อนอยู่แล้ว

ขณะที่โรคที่ต้องเฝ้าระวังในพื้นที่ที่มีแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่จำนวนมาก ได้แก่ โรคไข้กาฬหลังแอ่นส่วนโรคเท้าช้างที่มักมีการกล่าวถึงนั้น ในพื้นที่จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีแรงงานข้ามชาติอาศัยจำนวนมากไม่เคยพบมา 15 ปีแล้ว

สมพงค์ ย้ำว่า การจะแก้ปัญหาต้องเน้นการเข้าถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติเป็นหลัก รัฐและเอกชนต้องสร้างความร่วมมือกับแรงงานข้ามชาติ กลุ่มแรงงานเองก็ต้องสร้างเครือข่ายในชุมชน เพื่อให้เกิดการประสานกันในการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด

"การสร้างเครือข่ายกับเขาเดี๋ยวนี้ไม่ยากแล้ว ใช้ช่องทางออนไลน์ก็ได้ แรงงานข้ามชาติในปัจจุบันมีสมาร์ทโฟนกันเยอะแยะ เล่นไลน์ก็เป็น"

นอกจากนี้ ต้องให้แรงงานข้ามชาติได้เรียนรู้วิธีป้องกันตัวเองและเพื่อนร่วมชุมชนล่าสุด มูลนิธิกำลังพูดคุยกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาเพื่อเปิดหลักสูตรสอนด้านอาชีวอนามัยแก่แรงงานข้ามชาติ หากสำเร็จก็จะสามารถป้อนพนักงานอาชีวอนามัยซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ เข้าไปดูแลอาชีวอนามัยของแรงงานข้ามชาติด้วยกันเองในโรงงานได้

สำหรับฝั่งภาครัฐ ล่าสุด ส.พญ.ดาริกา กิ่งเนตรผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศกรมควบคุมโรค บอกว่า ในปีงบประมาณ 2557 นี้กรมจะร่วมมือกับเอ็นจีโอสำรวจสถานการณ์สุขภาพในปัจจุบันของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ตามจังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานจำนวนมาก เช่น จ.สมุทรสาคร พื้นที่รอบกรุงเทพฯ และแนวชายแดน

"เราจะเข้าไปดูแลสุขภาพและโรคที่เกิดขึ้นในพื้นที่ศึกษาปัญหาต่างๆ รวมถึงประมาณการจำนวนแรงงานต่างด้าว เพื่อจะได้เตรียมระบบและเฝ้าระวังได้ทันการณ์ ส่วนโรคที่มีความเสี่ยง ได้แก่ มาลาเรียอุจจาระร่วง เอดส์ และวัณโรค เมื่อทราบผลในปีนี้แล้วจะขยายผลของโครงการอย่างเป็นรูปธรรมในปี2558 ตามข้อเท็จจริงที่ค้นพบ"

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 13 มีนาคม 2557