กรมควบคุมมลพิษ พบค่าน้ำฝนมีความเป็นกรดมากขึ้น ต้นเหตุสารมลพิษทางอากาศมีแนวโน้มสูง ชี้กทม.เมืองใหญ่ และพื้นที่อุตสาหกรรมไม่ควรบริโภคน้ำฝน แต่ยัน ยังไม่วิกฤติถึงขั้นกระทบต่อระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม เตรียมขยายการควบคุม 3 มลพิษปัจจัยเสี่ยง ฝุ่นขนาดเล็ก คาร์บอนมอนอกไซด์ และโอโซน
ปัญหามลพิษทางอากาศจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง และภาคการเกษตร ไม่เพียงส่งผลกระทบภายในประเทศเท่านั้น แต่เริ่มพบแนวโน้มมลพิษข้ามพรมแดนโดยเฉพาะหมอกควันจากไฟป่าจากประเทศเพื่อนบ้านได้สร้างผลกระทบต่อประเทศไทย ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ และภาคเหนือ แต่ล่าสุดยังมีแนวโน้มผลกระทบจากภาวะฝนกรดในแถบประเทศเอเชียตะวันออกอีกด้วย
วานนี้(16 ก.ค.)กรมควบคุมมลพิษ(คพ.)ร่วมกับเครือข่ายการติดตามตรวจสอบการตกสะสมของกรดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก(EANET) ประชุมแลกเปลี่ยนสถานการณ์คุณภาพอากาศ ผลกระทบต่อสุขภาพและแนวทางแก้ไข ทั้งนี้ นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา เลขาธิการเครือข่าย EANET กล่าวถึงสถานการณ์ฝนกรดในแถบเอเชียตะวันออก และประเทศไทยว่า จากการร่วมตรวจสอบภาวะฝนกรดของเครือข่ายการติดตามตรวจสอบการตกสะสมของกรดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก(EANET) ซึ่งมีสมาชิก 13 ชาติ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เวียดนาม เมียนมาร์ ไทย มองโกเลีย ฟิลิปปินส์ เกาหลี ญี่ปุ่น จีน และรัสเซีย โดยได้ดำเนินการติดตามตรวจสอบการตกสะสมของฝนกรด และระดับความรุนแรงของปัญหาจากการตกสะสมของกรดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกมาตั้งแต่ปี 2553 โดยมีสถานีเก็บน้ำฝนเพื่อตรวจสอบความเป็นกรดรวม 54 แห่ง และสถานีเก็บตัวอย่างดินอีก 46 จุด ทั้งในเขตเมืองและเขตชนบทของ13 ชาติสมาชิก ซึ่งรายงานฉบับล่าสุดพบว่าน้ำฝนในภูมิภาคนี้มีค่าความเป็นกรด อยู่ในระดับ 5 - 4.6 หรือมีความเป็นกรดมากขึ้น รวมทั้งสถานีตรวจวัดของไทย 6 จุด คือในกทม.2 แห่ง กาญจนบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา ที่พบว่าค่าน้ำฝนมีความเป็นกรดเช่นกัน
นายสุพัฒน์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้น้ำฝนมีความเป็นกรดมากขึ้นเนื่องจากประเทศในแถบเอเชียตะวันออกที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่นที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักโดยเฉพาะถ่านหินที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ 2 ตัวที่เป็นต้นเหตุของฝนกรด คือ สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และออกไซด์ของไนโตรเจน นอกจากนี้ยังมาจากภาคการขนส่งและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีกำมะถันสูงในอดีต อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเริ่มพบว่าน้ำฝนมีค่าความเป็นกรด แต่ยืนยันว่ายังไม่มีรายงานความเสียหายต่อระบบนิเวศน์สิ่งแวดล้อมในแถบเอเชียโดยเฉพาะต่อแหล่งน้ำ และเขื่อนเก็บกักน้ำเนื่องจากค่าความเป็นด่างในแหล่งน้ำธรรมชาติยังสูงกว่าค่าความเป็นกรดทำให้ฝนกรดที่ตกลงสู่แวดล้อมเจือจางลง "ในภาพรวมถึงจะยังไม่พบว่าฝนกรดมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์อย่างที่แถบประเทศสแกนดิเนเวีย สหรัฐอเมริกา และยุโรปที่มีฝนกรดจนทำให้เกิดความเสียหายกับป่าธรรมชาติ รวมทั้งรูปปั้นโลหะทางประวัติศาสตร์จำนวนมาก ที่ถูกกัดกร่อนจากฝนกรดที่มีค่าเกลือสูงก็ตาม แต่แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของค่าความเป็นกรดในน้ำฝนในแถบเอเชียตะวันนอก จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการสะสมเป็นฝนกรดได้ เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าแนวโน้มของค่าสารมลพิษอื่นๆ ที่ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศตัวอื่นๆ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ฝุ่นละอองขนาดเล็กตั้งแต่ระดับ 2.5 ไมครอนและขนาด 10 ไมครอน รวมทั้งโอโซน ที่พบมีค่าเกินมาตรฐานสูงขึ้น กำลังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้ำฝนกำลังมีค่าความเป็นกรดสูงขึ้น
โดยเครือข่ายกำลังพิจารณาขยายการติดตามตรวจสอบค่ามลพิษทั้ง 3 ตัวนอกเหนือจากการติดตามฝนกรดแล้ว ทั้งนี้หากขยายการติดตามและควบคุมได้ ไม่เพียงแต่จะช่วยลดปัญหาฝนกรดเท่านั้นแต่ยังหมายถึงการลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย"นักวิชาการ ระบุ
เมื่อถามว่าขณะนี้เมืองไทยยังบริโภคน้ำฝนได้หรือไม่ ดร.สุพัฒน์ กล่าวว่า จากการติดตามค่าความเป็นกรดของน้ำฝน ในประเทศไทยที่ปกติค่าน้ำฝนต้องมีค่าความเป็นกรดด่างอยู่ในระดับ 5-6 จึงจะบริโภคได้ แต่เนื่องจากในเขตเมืองเช่น กทม. และชลบุรี ที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมอาจจะไม่เหมาะสมต่อการนำมาบริโภค ส่วนพื้นที่ชนบทนอกเมืองที่ไม่มีปัญหาการจราจรหนาแน่น และมีอุตสาหกรรม ก็ยังคงบริโภคน้ำฝนได้เหมือนเดิม เพราะส่วนใหญ่ภาชนะ เช่น ตุ่มใส่น้ำจะมีค่าความเป็นด่างมากกว่าจึงทำให้น้ำฝนมีค่าความเป็นกลางมากขึ้น
นอกจากนี้นักวิชาการ ยังแสดงความเป็นห่วงว่าสถานการณ์มลพิษในเขตเมืองโดยเฉพาะกทม.ในช่วง1-2 ปีนี้เริ่มพบค่าสารมลพิษทางอากาศคงที่ อาทิ ฝุ่นขนาดเล็ก คาร์บอนมอนอกไซด์ และโอโซน เนื่องจากแหล่งกำเนิดหลักคือน้ำมันเชื้อเพลิง และการจราจรที่ติดขัดหนักมาก จากปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นในระยะนี้ ซึ่งยอมรับว่าก่อนหน้านี้ คพ. ได้ร่วมกับหลายหน่วยงานมีมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด เช่น การลดปริมาณกำมะถันในน้ำมันจนเหลือแค่ 50 พีพีเอ็มจากเดิม 1หมื่นพีพีเอ็ม จนทำให้ค่ามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนไดออกไซด์มีแนวโน้มลดลงแล้ว แต่ขณะนี้รถที่ติดมากขึ้นก็ทำให้เกิดการปลดปล่อยของมลพิษออกสู่บรรยากาศมากขึ้น
ด้านนางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ขณะนี้คพ.ได้ดำเนินการติดตามตรวจสอบการตกสะสมของกรดในประเทศไทย เพื่อติดตามตรวจสอบสถานภาพการตกสะสมของกรดและระดับความรุนแรงของปัญหาจากการตกสะสมของกรด รวมถึงเพื่อเตรียมฐานข้อมูลสถานภาพการตกสะสมของกรดในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย สำหรับประกอบการตัดสินใจในการป้องกันหรือลดผลกระทบของการตกสะสมของกรดที่มีต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศและระดับภูมิภาค รวมทั้งเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการกำหนดมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้า อุตสาหกรรมเคมี เป็นต้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 17 กรกฎาคม 2556
- 404 views