มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตรวจข้าวถุง 46 ยี่ห้อ พบสารตกค้าง 34 ยี่ห้อ เกินมาตรฐาน 1 ยี่ห้อ ด้าน "ข้าวโคโค่" ยันพร้อมถอด รัฐสั่งตรวจซ้ำ โต้ข้าวนอกสวมสิทธิ์จำนำ

คืบหน้ากรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเปิดเผยผลตรวจคุณภาพข้าวถุงที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ผลการทดสอบครั้งนี้เพื่อประโยชน์และคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ได้เป็นการดิสเครดิตรัฐบาล โดยเก็บตัวอย่างข้าวสารถุงที่มีการจำหน่ายในเขตกทม.-ปริมณฑล ระหว่างวันที่ 19-27 มิถุนายน จำนวน 46 ตัวอย่าง จากซูเปอร์มาเก็ต และห้างโมเดิร์นเทรด ทั้งค้าปลีกและค้าส่ง 6 แห่ง และร้านสะดวกซื้อ 7 แห่งไปทดสอบในห้องปฏิบัติการที่เชื่อถือได้ทั้งรัฐและเอกชน ใช้งบประมาณ 7 แสนบาท

สำหรับการทดสอบ พบว่าทุกตัวอย่างไม่พบการตกค้างของยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต, คาร์บาเมต และสารกันรา ส่วนการปนเปื้อนของสารรมควันข้าว เมทิลโบรไมด์ ไม่พบ 12 ตัวอย่าง คิดเป็น 26.1% และพบปนเปื้อนเมทิลโบรไมด์ 34 ตัวอย่าง คิดเป็น 73.9% โดยพบตกค้างน้อยมากต่ำกว่า 0.90 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือพีพีเอ็ม จำนวน 7 ตัวอย่าง พบตกค้างน้อย 0.9-5 พีพีเอ็ม จำนวน 14 ตัวอย่าง และตกค้างสูง 5-25 พีพีเอ็ม จำนวน 7 ตัวอย่าง ส่วนที่พบตกค้างสูง 25-50 พีพีเอ็ม มีจำนวน 5 ตัวอย่าง และที่ตกค้างเกินมาตรฐานโคเด็กซ์ ซึ่งเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศกำหนดไว้ที่ 50 พีพีเอ็ม จำนวน 1 ตัวอย่าง

ส่งให้อย.-จี้รัฐและเอกชนตรวจสอบ

น.ส.สารี กล่าวว่า ผลการทดสอบจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ดำเนินการตามความรับผิดชอบต่อไป พร้อมเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้เปิดเผยรายละเอียดชื่อยี่ห้อข้าวที่พบการปนเปื้อนหรือตัวอย่างยี่ห้อที่ตรวจแล้วปลอดภัยไม่พบการปนเปื้อน เพราะผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลตามกฎหมาย

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า การตรวจของรัฐบาลไม่มีการจำแนกระดับของสารตกค้างให้ผู้บริโภคทราบ ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวใช้ค่ามาตรฐานของประเทศคู่ค้าข้าวรายสำคัญของไทยที่กำหนดค่ามาตรฐานที่ต่ำกว่า 50 พีพีเอ็ม เป็นเกณฑ์ คือ อินเดียกำหนดไว้ไม่เกิน 25 พีพีเอ็ม และประเทศจีนกำหนดไว้ไม่เกิน 5 พีพีเอ็ม ดังนั้นภาครัฐควรไปตรวจสอบถึงแหล่งการผลิตของข้าวสารถุงที่ตรวจพบการตกค้างของเมทิลโบรไมด์ในระดับสูงด้วย

"ถ้าเราฟังคำแถลงจากหน่วยงานราชการก็จะพบว่า ระดับของการรมควันข้าวจะมีความปลอดภัยสูงมากและแทบจะไม่พบการตกค้าง แต่เราตรวจสอบกลับพบการตกค้างที่ค่อนข้างมาก" นายวิฑูรย์ กล่าว และว่า ผลกระทบของเมทิลโบรไมด์มีรายงานในเอกสารทางวิชาการของสถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา รายงานว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งทั้งในกระเพาะอาหารและในรังไข่ ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นในการบริโภคยังไม่มีเอกสารรายงาน แต่ว่าในระดับค่ามาตรฐาน 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ที่ทั่วโลกตั้งไว้ก็ถือเป็นเครื่องชี้วัดได้

นายกิติพันธุ์ เหล่าประภัสสร ผู้จัดการบริษัท เสถียรรุ่งเรืองมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ประกอบการข้าวถุงโคโค่-ข้าวขาวพิมพา กล่าวว่า เบื้องต้นเพิ่งรับทราบข้อมูลการแถลงข่าวของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงยังไม่สามารถพูดได้ว่าข้าวสารของบริษัทที่ถูกตรวจสอบพบการตกค้างมากถึง 67.4 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามที่ระบุว่าเกินค่ามาตรฐานโคเด็กซ์นั้น อยู่ในลอตใด หลังจากนี้จะติดต่อขอดูรายละเอียดว่าข้าวถุงที่นำไปตรวจสอบเป็นข้าวลอตอะไร และกระบวนการตรวจสอบของมูลนิธิทำอย่างไร เพราะบริษัทก็มีห้องปฏิบัติการตรวจสอบการตกค้างก่อนออกวางขาย ซึ่งไม่พบการตกค้างแต่อย่างใด

"เรายินดีจะเรียกคืนสินค้าทั้งหมดที่ตรวจพบการตกค้าง แต่ขอไปตรวจสอบซ้ำว่าข้าวของเรามีปัญหาจริงหรือไม่ แต่เรื่องของผลกระทบด้านสุขภาพ หากมีการตกค้างเกิน 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาระบุอย่างชัดเจนว่าส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง สำหรับเรื่องฟ้องร้องเรายังไม่ได้คิด" นายกิติพันธุ์ กล่าว

อย.ให้หยุดขาย-เก็บคืน-ตรวจรอบ2

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอย.ได้เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา มีนายเจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา เป็นประธาน เพื่อพิจารณาเรื่องการตรวจสอบข้าวที่มีสารปนเปื้อนและการสุ่มตรวจข้าวบรรจุถุงสำเร็จที่วางขายในท้องตลาดตามโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล

ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการ อย. ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการถึงกรณีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแถลงผลตรวจข้าวถุง 34 ยี่ห้อมีสารรมควันเมทิลโบรไมด์ว่า ต้องขอลงไปดูเรื่องการแปลผลและดูว่าการตรวจวิเคราะห์ให้ที่ไหนทำ ยืนยันว่าก่อนหน้านี้ อย.ได้ประสานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เก็บตัวอย่างข้าวถุง 107 ตัวอย่าง จาก กทม.และครอบคลุม 10 จังหวัดที่เป็นโรงงานบรรจุข้าว โดยเหลือตัวอย่างที่ผลการตรวจยังไม่ออกอีก 66 ตัวอย่าง ซึ่งข้าวยี่ห้อโคโค่ อยู่ในกลุ่มที่ผลการตรวจยังไม่เสร็จ

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 17 กรกฎาคม อย.จะไปตรวจและเก็บตัวอย่างข้าวโคโค่ ที่โรงงานและขอความร่วมมือบริษัทที่ว่าจ้างให้ผลิตข้าวดังกล่าว หยุดการจำหน่ายและเก็บข้าวลอตที่มีการปนเปื้อนออกจากชั้นวางสินค้าชั่วคราวก่อน นอกจากนี้ บอร์ด อย.จะนำเรื่องข้าวสารเข้าหารือด้วยว่าจะมีมาตรฐานอย่างไรต่อไป สำหรับข้าวที่มีการปนเปื้อนเกินเกณฑ์มาตรฐาน จะดำเนินการตาม พ.ร.บ.อาหาร ซึ่งจะพิจารณาต่อไปว่าเข้าข่ายอาหารไม่ปลอดภัยหรือไม่

รัฐเต้นขอตรวจสอบซ้ำอ้างมาตรฐาน

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขอให้มีการตรวจสอบซ้ำเพื่อความถูกต้อง แม่นยำ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานที่มีห้องแล็บตรวจสอบคุณภาพข้าวโดยเฉพาะของกรมวิชาการเกษตร และกรมการข้าว ส่วนที่มีข่าวว่าสื่อต่างประเทศออกมาระบุมีการลักลอบขนข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ์ในโครงการรับจำนำกว่า 9 แสนตันนั้น เห็นว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมากและอยากให้คนที่ออกมาให้ข่าวอธิบายด้วยว่ามีการขนเข้ามาได้อย่างไร เพราะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบตามด่านชายแดนเข้มงวด

เช่นเดียวกับ นายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ขอให้มีการตรวจสอบว่าข้าวที่พบว่ามีสารตกค้างนั้น ผ่านการตรวจสอบจากแล็บใดบ้าง เพราะปัจจุบันแล็บที่ได้มาตรฐานจะประกอบด้วย กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และจะต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ

ขณะที่นายสมเกียรติ มรรคยาธร นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย กล่าวว่า จากผลการตรวจสอบของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนั้น ทางสมาคมได้ประสานงานไปยังผู้ประกอบการข้าวยี่ห้อโคโค่ เพื่อให้เรียกสินค้าจากท้องตลาด คาดว่ามีจำนวนไม่มากนัก แต่จะต้องให้ความยุติธรรมแก่ผู้ประกอบการที่ถูกพาดพิง ซึ่งต้องมีการตรวจสอบและพิสูจน์อีกครั้ง โดยทางสมาคมจะประสานงานไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบในด้านนี้ ทั้งภาครัฐและเอกชน คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ยืนยันว่าค่ามาตรฐานอาหารระดับสารตกค้าง 50 พีพีเอ็ม เป็นค่ามาตรฐานระดับโลก ยังไม่ถือว่าเป็นอันตรายต่อการบริโภค

รมว.พณ.ติดชิพกระสอบข้าวป้องโกง

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้มอบนโยบายการทำงานให้แก่ข้าราชการ โดยระบุว่าเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการในช่วงแรกคือการดูแลการจำนำสินค้าเกษตร เพราะมีปัญหาการทุจริต จึงจะเร่งพัฒนาระบบออนไลน์แบบเรียลไทม์ในการตรวจสอบสต็อกข้าว รวมทั้งจะติดตั้งชิพคอมพิวเตอร์ในแต่ละกระสอบข้าวที่ร่วมโครงการรับจำนำ หรือเรียกว่าระบบ RFID เพื่อตรวจสอบและรู้ความเคลื่อนไหวของข้าวในโครงการได้ จะเป็นการป้องกันการทุจริต โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้และงบประมาณการลงทุน นอกจากนี้ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการกำกับดูแลคุณภาพและมาตรฐานข้าวและรับแจ้งปัญหาคุณภาพข้าว ร้องเรียนได้ผ่านสายด่วน 1569

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ราคารับจำนำข้าวเปลือกรอบใหม่ ปี 2556/2557 ในส่วนของข้าวเปลือกเจ้า ต้องลดราคาแน่นอน เบื้องต้นกำหนดไว้ตันละ 12,000 บาท จากเดิมตันละ 15,000 บาท แต่ในส่วนของข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ข้าวเปลือกเหนียว ยังคงราคารับจำนำเดิม ทั้งนี้จะหารือหน่วยงานเกี่ยวข้องรวมทั้งกลุ่มชาวนาในวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณา เพื่อให้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ซึ่งต้องแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้ ก่อนผลผลิตใหม่ออกสู่ตลาดกลางเดือนตุลาคม

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 17 กรกฎาคม 2556