มติชน -ประธานบอร์ด สปส.เผย 10 โรคร้ายจ่ายค่ารักษาแพงสุด โรคหัวใจ-เนื้องอก-มะเร็งมากสุด เบื้องต้นควักไปแล้วเกือบพันล้าน คาดสรุปยอดค่ารักษาปี 55 ได้ในเดือนก.ย.นี้ ชี้ปี 57 มีรพ.รัฐเอกชนเข้าร่วมระบบประกันสังคม 93 แห่ง เร่งทำเกณฑ์ประเมินรองรับ
เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (ดีอาร์จี) เช่น โรคมะเร็ง โรคไต โรคปอด ฯลฯ ซึ่งเป็นการจ่ายค่ารักษาตามระดับความรุนแรงของโรค (RW) หากมีค่า RW ตั้งแต่ระดับเกินกว่า 2 ขึ้นไป จ่ายที่ระดับละ 15,000 บาท เริ่มตั้งแต่ปี 2555 นั้น
จากการสรุปข้อมูลการจ่ายค่ารักษาที่ได้มีการจ่ายออกไปแล้วบางส่วนในช่วงปี 2555 พบว่ามี 10 โรค หลักที่มีการจ่ายค่ารักษามากที่สุด ได้แก่ โรคหัวใจที่เกิดจากหลอดเลือดแดงแข็ง เนื้องอกร้ายที่รังไข่ เนื้องอกร้ายที่เต้านม มะเร็งเซลล์ตับ เนื้องอกร้ายที่ลำไส้ใหญ่ส่วนตรง ไลโอไมโอม่าของมดลูก เนื้องอกร้ายของลำไส้ใหญ่ เนื้องอกร้ายของหลอดลมหรือปอด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องจากไวรัสอันเป็นผลให้เกิดโรคติดเชื้อโรคหลายชนิด และโรคนิ่วในถุงน้ำดี
นพ.สมเกียรติกล่าวอีกว่า ขณะนี้ สปส.ได้จ่ายเงินค่ารักษาออกไปแล้วเกือบ 1,000 ล้านบาท จากงบทั้งหมดที่ตั้งไว้ 4,460 ล้านบาทต่อปี และหากมีการสรุปข้อมูลการจ่ายค่ารักษาครบทั้งหมดในช่วงปี 2555 คาดว่างบที่เตรียมเพียงพอ โดย สปส.จะใช้วิธีจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามดีอาร์จีต่อไปจนถึงเดือนตุลาคมนี้ หลังจากนั้นจะประเมินว่างบที่ตั้งไว้เพียงพอหรือไม่ และควรใช้ระบบนี้ต่อไป หรือยกเลิกไปใช้การจ่ายรูปแบบเดิม และว่า สปส.ได้เปิดรับสมัครโรงพยาบาลเข้าเป็นสถานบริการทางการแพทย์ของ สปส.ประจำปี 2557 ช่วงวันที่ 18 เมษายน-30 มิถุนายน 2556 พบว่ามีสถานพยาบาลเข้าร่วมทั้งหมด 93 แห่ง แยกเป็นโรงพยาบาลเดิม 86 แห่ง และโรงพยาบาลสมัครใหม่ 7 แห่ง ซึ่งคณะกรรมการการแพทย์ สปส.อยู่ระหว่างจัดทำร่างเกณฑ์ประเมินโรงพยาบาลที่เข้าร่วมเป็นโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมในปี 2557 เพื่อนำมาใช้ประเมินโรงพยาบาลที่สมัครใหม่ว่าได้มาตรฐานตามที่กำหนดหรือไม่ รวมทั้งเตรียมจะพิจารณาด้วยว่าควรประเมินผลโรงพยาบาลเดิมด้วยหรือไม่ โดยจะหารือกันในเร็วๆ นี้
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 16 กรกฎาคม 2556
- 485 views