กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุตัวเลขว่าโรงพยาบาลสังกัด สธ. ที่อยู่ตามแนวชายแดนทั่วประเทศไทย แบกรับค่ารักษาแรงงานต่างด้าว ปีละราว 250 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นโรงพยาบาล 5 แห่ง ใน 5 อำเภอ จ.ตาก ได้แก่ อ.ท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด พบพระ และอุ้มผาง ถึง 100 ล้านบาท เนื่องจากพื้นที่ตะเข็บชายแดนตะวันตกช่วงของ 5 อำเภอนี้ มีช่องทางข้ามให้คนใช้เดินทางไปมาระหว่างไทยกับพม่าถึง 30 ช่องทางข้าม ที่ถูกต้องตามกฎหมาย 1 จุด คือ สะพานมิตรภาพไทย-พม่า โรงพยาบาลเหล่านี้จึงต้องให้บริการฟรีตามหลักมนุษยธรรมแก่คนต่างด้าวข้ามแดนด้วย ขณะที่การจัดสรรงบประมาณให้โรงพยาบาลจะจ่ายตามจำนวนประชากรคนไทยในพื้นที่ ส่งผลให้ประสบปัญหาทางด้านการเงิน พ่วงด้วยโรคติดต่อจำนวนไม่น้อยจากการทะลักของคน
ผศ.(พิเศษ) นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)ตาก ฉายภาพรวมว่า ประชากรทั้งคนไทยและคนต่างด้าวในจ.ตากรวมกันราว 9.5 แสนคน อยู่ใน 5 อำเภอดังกล่าวมากกว่า 6 แสนคน คิดเป็นอัตราส่วนคนไทยต่อคนต่างด้าวประมาณ 1 ต่อ 1 โดยคนไทยขึ้นทะเบียนระบบประกันสุขภาพทุกสิทธิ 580,023 คน แยกเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 470,524 คน สิทธิอื่นๆ 93,588 คน ส่วนคนต่างด้าวขึ้นทะเบียนเพียง 15,911 คน มีคนต่างด้าวนอกโรคที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาของชายแดนไทย-พม่า คือ "อุจจาระร่วง เป็นไข้ไม่ทราบสาเหตุ ปอดบวม อาหารเป็นพิษ สครับไทฟัส และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์"เป็นโรคเกี่ยวกับสุขอนามัยพื้นฐาน ส่วนโรคที่พบเป็นประจำทุกปี ได้แก่ "มาลาเรีย ตาแดง บิด อีสุกอีใส ไข้เลือดออก อหิวาต์ หัดและวัณโรค" พบทั้งคนไทยและคนต่างด้าว โดยมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นทุกปีและพบคนต่างด้าวป่วยมากกว่าคนไทย เช่น "อหิวาต์ โรคทางเพศสัมพันธ์" โรคส่วนใหญ่แหล่งที่มาจากฝั่งประเทศพม่า
ในส่วนของ รพ.อุ้มผาง นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผอ.รพ.อุ้มผาง กล่าวว่า ปัญหาหลักด้านสาธารณสุขชายแดน คือ การไม่มีหลักประกันสุขภาพ โดย อ.อุ้มผาง มีประชากร 84,875 คน มีหลักประกันสุขภาพ 32,875 คน หรือ 38% ที่เหลือ 52,273 คน คิดเป็น 62% ไม่มี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเชื้อชาติต่างๆ โดยเฉพาะกะเหรี่ยงที่ไม่มีทะเบียนราษฎร์ ไม่มีบัตรประชาชน การให้บริการผู้ป่วยนอกมีอัตราเพิ่มขึ้น จากปี 2554 จำนวนรวม 60,494 คน (คนมีหลักประกันฯ 41,795 คน ไร้หลักประกันฯ 18,699 คน) เป็น 66,914 คน (คนมีหลักประกันฯ 45,965 คน ไร้หลักประกันฯ 20,945 คน)
ในปี 2555 โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายสังคมสงเคราะห์ที่ใช้ในการให้บริการกลุ่มคนไร้หลักประกันฯ เพิ่มขึ้นทุกปี จาก 26.5 ล้านบาท ในปี 2553 เป็น 28.7 ล้านบาท ในปี 2554 และ 34.2 ล้านบาท ในปี 2555 ขณะที่ได้รับการจัดสรรงบตามจำนวนคนไทยจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปี 2555 ราว 30 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อจำนวนคนไข้ที่มาใช้บริการจริง ส่งผลให้มีหนี้ค่ายา 18 ล้านบาท เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ดำเนินการของบประมาณเพิ่มเติมจากกองทุนเงินช่วยเหลือชดเชยโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง หรือกองทุนซีเอฟ จำนวน 8 ล้านบาท มาจ่ายหนี้ ยังเหลืออีก 10 ล้านบาท
ไม่ต่างจากที่ รพ.แม่ระมาด ซึ่งนพ.จิรพงศ์ อุทัยศิลป์ ผู้อำนวยการ บอกว่า รพ.แม่ระมาด มีขนาด 60 เตียง แต่มีเตียงจริง 100 เตียง ไม่มีปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ยกเว้นแพทย์ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นคนในท้องถิ่น ในปี 2555 ให้บริการผู้ป่วยนอก 106,541 คน หรือ 372 คนต่อวันทำการ ผู้ป่วยใน 7,818 คน โดยประชากรไทยในพื้นที่ 49,002 คน แยกเป็นคนไทย 25,135 คน หรือ 52% และชาวไทยภูเขา 23,867 คน คิดเป็น 48% ส่วนประชากรที่ไม่มีสัญชาติไทย ได้แก่ ผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ 9,044 คน ต่างด้าว 1,446 คน บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนอีก 5,470 คน และอื่นๆ 5,000 คน
"สถานะทางการเงินของโรงพยาบาล ปี 2555 มีหนี้สิน 19 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ถึง 9 ล้านบาท ภาระค่าใช้จ่ายกรณีผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยโดยไม่รวมผู้ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ปี 2555 จำนวน 10.535 ล้านบาท เก็บได้จริงเพียง 2.91 ล้านบาท หรือคิดเป็น 27.65% เหลือเป็นภาระที่โรงพยาบาลต้องแบกรับ 7.622 ล้านบาท ส่วนปี 2554 จำนวนรวม 14.342 ล้านบาท" ผอ.รพ.แม่ระมาดกล่าว ขณะที่ รพ.แม่สอด โรงพยาบาลพี่ใหญ่ในย่านนี้เพราะต้องรับส่งต่อผู้ป่วยหนักจากโรงพยาบาลทั้ง 4 แห่ง นพ.รณไตร เรืองวีระยุทธ ให้ข้อมูลว่า อ.แม่สอด มีประชากรไทย 119,835 คน คนต่างชาติกว่า 1 แสนคน ในจำนวนนี้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติที่มีหลักประกันสุขภาพเพียง 8,000 คน จำนวนผู้รับบริการ ปี 2554 รวม 351,727 คน คนไทย 292,252 คน ต่างชาติ 59,475 คน ในปี 2555 จำนวน 350,853 คน คนไทย 262,131 คน ต่างชาติ 88,722 คน โดยในส่วนของคนไทยลดลง แต่คนต่างชาติเพิ่มขึ้นราว 29,000 คน อัตราเข้ารับบริการ 1,158 คนต่อวัน สถานการณ์การเงิน ปี 2554 มีรายรับ 748 ล้านบาท รายจ่าย 667 ล้านบาท และปี 2555 รายรับ 671 ล้านบาท รายจ่าย 740 ล้านบาท มีรายจ่ายมากกว่ารายรับราว 70 ล้านบาท
แนวทางการพัฒนาและแก้ปัญหาโรงพยาบาลตามแนวชายแดนทั่วประเทศ "นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์"รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า มี 3 ส่วนได้แก่ 1.สนับสนุนให้ประเทศเพื่อนบ้านมีระบบหลักประกันสุขภาพ อาจมีกองทุนชั่วคราวในการช่วยเหลือและต้องเป็นการเจรจาระหว่างรัฐบาล 2.โรงพยาบาลตามแนวชายแดนต้องมีการบริหารจัดการ เช่น เรื่องการเงินจัดงบประมาณอุดหนุนช่วยให้เกิดสภาพคล่องมากขึ้น ซึ่งปี 2556 จัดสรรงบราว 310 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลชายแดน และ 3.การกระตุ้นให้เก็บค่ารักษาพยาบาลจากคนกลุ่มนี้ แม้จะได้ไม่มาก แต่ก็ต้องพยายามดำเนินการ
ยิ่งเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การให้ความสำคัญกับงานสาธารณะชายแดนเป็นสิ่งที่รัฐบาล 10 ประเทศอาเซียน ควรให้ความสำคัญและแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้ายของโรคติดต่อข้ามแดนเพิ่มมากขึ้นพร้อมๆ กับการเคลื่อนย้ายคน
ที่มา: http://www.komchadluek.net
- 88 views