Hfocus -หลังการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุด สายตาทุกคู่ก็จับจ้องมาที่กระทรวงแรงงาน เนื่องจากเจ้าของฉายา “ไตรเทพ1” หรือ “จับกัง 1”คนใหม่ ถูกเปลี่ยนจาก “เผดิมชัย สะสมทรัพย์” มาเป็น “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” นักการเมืองรุ่นเก๋า เจ้าของรหัส “สร.2” ที่ถูกปลดจากเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี คุมงานตำรวจทั้งประเทศ มานั่งคุมงานด้านแรงงานทั้งประเทศแทน
งานนี้เจ้าตัวออกอาการฟาดงวงฟาดงาเอากับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นอกจากนี้ยังไม่ยอมถ่ายรูปหมู่ร่วมกับ ครม.ชุดใหม่ ไม่เข้าประชุม ครม.ติดต่อกัน 2 อาทิตย์ แถมเข้ากระทรวงช้ากว่ารัฐมนตรีใหม่คนอื่นๆ เพราะกว่าจะเข้าได้ก็ปาเข้าไปวันที่ 4 ก.ค.
วันแรกที่ ร.ต.อ.มาถึงกระทรวง ได้ประชุมมอบนโยบายแก่หัวหน้าส่วนราชการกระทรวงแรงงานกว่า 600 คน ทั่วประเทศ ใช้เวลาร่วมๆ 1 ชั่วโมง เนื้อหากว่า 85% ว่าด้วยเรื่องการเมืองล้วนๆ ทั้งเรื่องแก๊งไอติม การทำงานปัญหาภาคใต้ รวมทั้งเตรียมตั้งโต๊ะวิจารณ์การเมืองทุกๆบ่ายวันพุธอีกต่างหาก
ที่เหลืออีก 15% ที่กล่าวถึงนโยบายกระทรวง ว่านอกเหนือจากภารกิจส่งเสริมการมีงานทำ พัฒนาฝีมือแรงงาน คุ้มครองแรงงาน และสร้างหลักประกันในชีวิตแล้ว ให้เพิ่มไปอีก 3 ข้อคือ 1.โปร่งใสตรวจสอบได้ไร้ทุจริต 2.ทุกสถานประกอบการต้องเป็นสถานที่แห่งความรักสามัคคีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง และ 3.ทุกสถานประกอบการต้องปลอดยาเสพติด
“กรมการจัดหางานเป็นกรมที่มีความสำคัญมาก เพราะต้องเป็นคนหาตลาดงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานผมพอรู้จัก กรมพัฒนาฝีมือแรงงานผมไม่เข้าใจ ส่วนสำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีคนบอกผมว่ามีเงินมาก แต่ยืนยันว่าจะไม่ไปแตะเงินก้อนนี้ ให้ สปส.มีอิสระในการทำงาน แต่ต้องรับฟังนโยบายจากผมด้วย ไม่ใช่ทำตัวเป็นองค์กรอิสระ”ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
การเข้ามาทำงานวันแรกของ ร.ต.อ.เฉลิม ใช้เวลาเพียงครึ่งวัน ก่อนที่ช่วงบ่ายจะขึ้นเครื่องบินเดินทางไปฮ่องกง ท่ามกลางข่าวลือว่าไปพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
แม้โดยภาพรวมนโยบายของรัฐมนตรีแรงงานคนใหม่จะยังไม่พูดถึงวาระสำคัญๆที่กระบวนการแรงงานเรียกร้องเลย ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสิทธิการรวมตัวและเจรจาต่อรองกับนายจ้าง การปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ หรือการคุ้มครองสวัสดิการแรงงานต่างๆ
แต่ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจมานั่งเก้าอี้นี้ก็ตาม ระดับสารวัตรเฉลิมก็ยังต้องการฝากผลงานเอาไว้สักอย่างไม่ให้เสียชื่อ และประกาศชัดว่าปัญหาการค้ามนุษย์ เป็นงานสำคัญอันดับแรกที่จะทำ โดยมีเป้าหมายทำให้ประเทศไทยหลุดจากบัญชีประเทศที่ต้องถูกจับตามองเรื่องการค้ามนุษย์ (Tier 2 Watch list) ของประเทศสหรัฐอเมริกา
การที่เจ้ากระทรวงคนใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนั่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) ตั้งแต่ตอนดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี แต่อีกส่วนหนึ่ง เจ้าตัวพูดเองในระหว่างประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่ผ่านมาว่าเพราะมันเป็นประเด็นฉาบฉวย เรื่องลักษณะนี้ถ้าหยุดทำก็ไม่ผิด แต่ถ้าทำให้ไทยหลุดจาก Tier 2 ได้ ถือว่าเป็นสุดยอดของสุดยอดเลย
ทั้งนี้ ปัญหา Tier 2 Watch ที่ประเทศไทยถูกกล่าวหามาโดยตลอด มี 3 เรื่องหลักๆคือ การบังคับขู่เข็ญแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะในกิจการประมงที่มีปัญหาหลอกแรงงานขึ้นเรือ ปัญหาการใช้แรงงานเด็กในกิจการล้งกุ้งและโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า โดยเฉพาะโรงงานขนาดเล็กตามห้องแถวต่างๆ และการเรียกค่าหัวแรงงานไทยที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศอย่างไม่เป็นธรรม
ขณะที่แนวทางของ ร.ต.อ.เฉลิมก็ตรงไปตรงมา โดยจะใช้วิชาตำรวจมาช่วยแก้ปัญหา และมอบหมายให้ พล.ต.อ. ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา เข้ามาช่วยงาน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวง ในด้านงานสอบสวน และให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ดำเนินการกับสถานประกอบการที่ทำผิดกฎหมายอีกทาง
“เรื่องนี้ถ้าตำรวจไม่เอาด้วย ปัญหานี้แก้ได้ยาก ต้องให้ตำรวจท้องที่ไปไล่บี้ โดยเฉพาะที่ จ.สมุทรสาคร ให้ปลัดกระทรวงแรงงานมอบข้อมูล แล้วให้ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.สมุทรสาคร จัดการให้เรียบร้อยภายใน 7 วัน”ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวตอนหนึ่งระหว่างมอบนโยบาย
นอกจากนี้ สารวัตรเฉลิมยังทำขึงขังลงพื้นที่ จ.สมุทรสาคร วันที่ 11 ก.ค. นี้ เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการล้งกุ้งในเรื่องการใช้แรงงานเด็ก รวมถึงผู้ประกอบการประมงที่ยังมีปัญหาหลอกแรงงานต่างด้าวลงเรืออยู่ หลังจากนั้นวันที่ 25 ก.ค. จะลงพื้นที่ จ.สมุทรปราการ แล้วถัดไปอีก 2 สัปดาห์จะเรียกประชุมผู้ประกอบการทั่วประเทศอีกครั้ง
ไล่เรียงวาระนโยบายจาก “จับกัง1” คนใหม่ในระยะเวลาสั้นๆที่เข้ามาทำหน้าที่แล้ว นโยบายที่ชัดเจนจริงๆจังๆมีเรื่องเดียวคือแก้ปัญหาค้ามนุษย์ หรืออาจจะรวมไปถึงนโยบายสถานประกอบการปลอดยาเสพติดอีกประการ เนื่องด้วยอาจเป็นเพราะมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับตำรวจเป็นพิเศษ เพราะแค่เอารายชื่อชุดปราบปรามแรงงานต่างด้าวเถื่อนมานั่งกางดู สารวัตรเฉลิมก็วิเคราะห์เป็นฉากๆว่าตำรวจในทีมนั้นเป็นหน้าห้องที่บิ๊กตำรวจส่งมานั่งกินเบี้ยประชุมเฉยๆ อย่าไปหวังว่าจะทำงานจริงจัง
ขณะที่นโยบายแรงงานสำคัญอื่นๆ ร.ต.อ.เฉลิมอาจไม่สนใจ หรืออาจยังไม่เข้าใจและต้องใช้เวลาเรียนรู้งาน เพราะปลัดแรงงานเองก็ได้นำเสนอนโยบายเร่งด่วนให้พิจารณามากว่า 6 เรื่อง คือ การแก้ปัญหาค้ามนุษย์ เรื่องยาเสพติดในสถานประกอบการ ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท การขยายทางเลือกที่ 3 ของประกันสังคมมาตรา 40 (การออมเงินบำนาญสำหรับแรงงานนอกระบบ) การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่ท่าทีของเจ้ากระทรวงคนใหม่ยัง “อิน” กับเรื่องค้ามนุษย์เท่านั้น
ส่วนเรื่องอื่นๆมีแต่คอมเม้นต์เล็กๆน้อยๆ เช่น การเตรียมตัวเข้าประชาคมอาเซียนให้เอานักเรียนทุนของกระทรวงแรงงานมาช่วยงาน หรือเรื่องการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานจะนำเข้าแรงงานบังคลาเทศและเวียดนาม ร.ต.อ.เฉลิมก็ให้ระวังแรงงานเวียดนามหน่อย เพราะคนเวียดนามเก่งและขยัน ใช้เวลาไม่กี่ปีก็ขยับจากแรงงานชั้นล่างไปเป็นผู้ประกอบการได้ เป็นต้น
ด้านมุมมองจากฝ่ายขบวนการแรงงานเอง ก็ดูจะไม่คาดหวังอะไรกับเจ้ากระทรวงคนนี้มากนัก
ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) บอกว่าไม่อยากคาดหวังกับ ร.ต.อ.เฉลิม ว่าจะมาผลักดันแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงาน เพราะเชื่อว่าคงอยู่ในตำแหน่งนี้ไม่นาน ปรับคณะรัฐมนตรีอีกครั้งก็คงย้ายไปที่อื่น
ชาลีมองว่า การย้ายมานั่งเป็นรัฐมนตรีแรงงานก็เป็นการลดชั้น เหมือนเป็นหัวหน้าคนงานอยู่ดีๆแล้วโดนลดตำแหน่งมาเป็นคนงานทั่วไป กระทรวงแรงงานก็ยังชีช้ำกระหล่ำปลีเหมือนเดิม เพราะขนาดเจ้ากระทรวงยังมีปัญหาแล้วจะไปช่วยใครได้
"เหมือนนายกไม่เห็นหัวคนงาน แรงงานเป็นเสาหลักของประเทศ เป็นผู้เสียภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย รัฐมนตรีแรงงานไม่ใช่จะจับใครมาแปะไว้ก็ได้ แต่ต้องเป็นคนที่เอาจริงในการแก้ไขปัญหาแรงงาน แต่ไหนๆคุณเฉลิมเข้ามาแล้วก็อยากให้ทำงานเต็มที่และฝากผลงานไว้ ไม่ว่าจะเรื่องการผลักดันให้รัฐสภารับรองอนุสัญญา ILO 87 และ 98 เพื่อส่งเสริมให้ลูกจ้างมีสิทธิต่อรองกับนายจ้าง ผลักดันกฎหมายประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ รวมทั้งข้อร้องเรียกร้องอื่นๆในวันแรงงานที่ผ่านมา"ชาลี กล่าว
ขณะที่ฝ่ายนายจ้างเองก็ออกอาการบ่นกับโชคชะตาของกระทรวงนี้เหมือนกัน แหล่งข่าวจากสภาองค์การนายจ้างรายหนึ่ง บ่นเบาๆว่าไม่ว่าจะรัฐบาลไหน กระทรวงแรงงานก็ได้แต่คนที่มี “บุคลิกนักเลง” มานั่งเป็นรัฐมนตรี แต่ก็หวังว่าจะใช้โอกาสการเข้าเยี่ยมคารวะในวาระรับตำแหน่งใหม่ ยื่นข้อเรียกร้องในนามสภาองค์การนายจ้างทั้ง 8 สภา ให้แก้ไขกฎหมายประกันสังคม เพราะไม่เห็นด้วยที่จะแก้กฎหมายให้รัฐมนตรีแรงงานลงมานั่งเป็นประธานบอร์ด รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนดเกี่ยวกับที่มาของกรรมการประกันสังคม ที่มอบอำนาจให้รัฐมนตรีกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเลือกตั้งตัวแทนฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างเพื่อเข้ามาเป็นบอร์ด
...คงต้องจับตาดูกับต่อไปว่านอกจากประเด็นการค้ามนุษย์แล้ว ร.ต.อ.เฉลิมจะผลิตผลงานอะไรออกมาเอาใจชาวแรงงานอีกบ้าง จะจับงานโครงสร้างใหญ่ๆหรือเอาแค่งานฉาบฉวยสร้างอีเว้นท์ แล้วใช้เวลาไปกับการสร้างกระแสขย่มการเมืองไปวันๆ...
- 18 views