ปัจจุบันไข้เลือดออกกำลังระบาด

ซึ่งจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 54,042 ราย และเสียชีวิตแล้วถึง 62 ราย

หากต้องการลดอัตราการเสียชีวิต ผู้ป่วยจะต้องได้รับการวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็ว และแม่นยำ และได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม

"ดร.ชัญญา พุทธิขันธ์" นักวิจัยจากหน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติหรือไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บอกว่า เนื่องจากโรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ ซึ่งมีอยู่ 4 ชนิด ในเขตที่มีการระบาด การเป็นโรคอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย

แต่ผลของการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า โรคไข้เลือดออกมักพบในบริเวณที่มีการ กระจายตัวของไวรัสเด็งกี่มากกว่า 1 ชนิด ความรุนแรงของโรคมักจะพบในเด็กที่มีการติดเชื้อซ้ำเป็นครั้งที่สอง ด้วยไวรัสเด็งกี่ที่ต่างชนิดกับการติดเชื้อครั้งแรก ดังนั้นการทราบชนิดของไวรัส เด็งกี่ในผู้ป่วย จะมีประโยชน์ต่อการศึกษาทางระบาดวิทยาของโรคไข้เลือดออก การทำนายการระบาดของโรค รวมถึงการวางแผนควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน การตรวจหาชนิดไวรัสต้องทำโดยการเพาะเชื้อไวรัสและตรวจสอบด้วยโมโน โคลนอลแอนติ บอดีที่จำเพาะ ซึ่งใช้เวลาในการตรวจสอบนานประมาณ 5-7 วัน หรือ การตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสโดยวิธี RT-PCR ซึ่งได้ผลเร็วกว่า (1-2 วัน) แต่มีขั้นตอนที่ซับซ้อน และต้องการผู้เชี่ยวชาญในการตรวจวินิจฉัย ชุดตรวจโรคไข้เลือดออกเชิงพาณิชย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถแยกชนิดของไวรัสได้

ทีมวิจัยจากไบโอเทค จึงร่วมมือกับ นักวิจัยคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนา "วิธีการตรวจวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกที่ทราบชนิดของเชื้อไวรัสได้ทันที"

หลักการทำงาน ใช้การตรวจหาโปรตีนชื่อ NS1 ของไวรัสเด็งกี่ ซึ่งจะใช้แอนติบอดีหลัก 2 ชนิดที่จำเพาะต่อโปรตีน NS1 โดยชนิดที่ 1 ติดอยู่กับถาดหลุม ทำหน้าที่จับกับโปรตีน NS1 ในเลือดของผู้ป่วย และ แอนติบอดีชนิดที่ 2 ซึ่งมีความจำเพาะต่อไวรัสเด็งกี่แต่ละชนิด ทำหน้าที่ตรวจจับโปรตีน NS1 ที่ถูกยึดไว้ โดยมีแอนติบอดีต่ออิมมูโนกลอบูลีนของหนูที่ติดฉลากเอนไซม์เป็นตัวตรวจวัดการเกิดปฏิกิริยาทั้งหมด

ดร.ชัญญา บอกว่า จุดเด่นของชุดตรวจนี้คือ สามารถใช้วินิจฉัยการติดเชื้อเด็งกี่ในผู้ป่วยได้ตั้งแต่ช่วงที่ยังมีไข้ ช่วยให้แพทย์ดำเนินการรักษาได้เร็ว มีประสิทธิภาพ มีขั้นตอนที่ง่าย ทราบผลได้ภายใน 1 วัน ซึ่งเร็วกว่าวิธีมาตรฐานทั่วไป และที่สำคัญแอนติบอดีทุกชนิดที่จำเพาะต่อโปรตีน NS1 ซึ่งเป็นสารตั้งต้นสำหรับการตรวจนี้สามารถผลิตได้เองในห้องปฏิบัติการ จึงสามารถช่วยลดต้นทุนจากการนำเข้าแอนติบอดีด้วย

 ผลงานนี้ การันตีด้วยรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2556 จาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และได้ดำเนินการขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว

 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อเพิ่มความไวและความแม่นยำของชุดตรวจ รวมถึงการพัฒนาต่อยอดให้อยู่ในรูปแบบที่ให้ผลการทดสอบได้เร็วกว่าเดิมมากขึ้น ซึ่งจะสามารถทราบผลได้ภายใน 15-30 นาทีเท่านั้น

และกำลังอยู่ในระหว่างการเสาะหา ผู้ผลิตที่มีศักยภาพในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในการที่จะพัฒนาชุดตรวจนี้เพื่อไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างต่อไป.

ที่มา: http://www.dailynews.co.th