Hfocus -การจัดระบบหลักประกันสุขภาพคนต่างด้าว กลุ่มที่มีความเป็นไปได้และดำเนินการได้เร็วที่สุด คือ “กลุ่มคนต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว” โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยว เนื่องจากมีแนวทางดำเนินการได้อย่างชัดเจน ทั้งที่มาเงินงบประมาณการจัดเก็บเบี้ยประกันเพื่อนำเข้าสู่ระบบ และหน่วยงานจัดระบบรักษาพยาบาล ต่างจากการจัดระบบหลักประกันคนต่างด้าวในกลุ่มที่เป็นแรงงานและกลุ่มที่อาศัยอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนที่มีความซับซ้อนของปัญหามากกว่า
ที่ผ่านมาพบว่า แต่ละปีมีคนต่างด้าวที่เข้าประเทศเป็นการชั่วคราวกว่า 20 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยในจำนวนนี้มีส่วนหนึ่งที่เจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ทั้งจากอุบัติเหตุและปัญหาสุขภาพ และพบว่ามีส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถจ่ายค่ารักษาได้ กลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ส่งผลกระทบต่อสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน
ในการประชุมปรึกษาหารือระดับนโยบายเรื่องนโยบายการพัฒนาระบบประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทุกฝ่ายที่เข้าร่วมประชุมต่างเห็นชอบการเร่งผลักดันเดินหน้าจัดทำหลักประกันสุขภาพในคนกลุ่มนี้
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า จากการหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เห็นว่าน่าจะทำได้ง่าย เพราะหลายประเทศได้มีการจัดทำประกันสุขภาพให้กับนักท่องเที่ยวเช่นกัน โดยเป็นการจัดเก็บเบี้ยประกันเพิ่มเติมจากค่าทำเนียมขอวีซ่าเข้าประเทศได้ ซึ่งไทยอาจเก็บเพิ่ม 500 บาท กำหนดระยะเวลาคุ้มครอง 90 วัน ตามช่วงเวลาที่อนุญาตให้อยู่ในประเทศได้ เพดานค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 500,000 บาท แต่ในกลุ่มที่เข้าออกประเทศตามแนวชาวแดนรายวัน อาจต้องปรับลดเบี้ยประกันลงมาให้เหมาะสม โดยอาจเก็บเพียง 30-50 บาท
“เดิมเคยคิดว่าจะเก็บโดยบวกกับตั๋วเครื่องบิน แต่ไม่ครอบคลุมคนต่างด้าวที่เดินทางเข้าประเทศทั้งหมด เพราะยังมีทั้งผู้เดินทางด้วยรถและทางเรือ จึงควรเปลี่ยนเป็นการจัดเก็บเพิ่มจากค่าธรรมเนียมวีซ่ามากกว่า” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวและว่า แต่ทั้งนี้ยังมีกลุ่มที่เดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องใช้วีซ่าเช่นกัน ตรงนี้ต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไร”
ส่วนที่มีบางส่วนแสดงความกังวลว่า การจัดเก็บเงินเพิ่มกับนักท่องเที่ยว อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวมีจำนวนลดลงนั้น เห็นว่าไม่เป็นปัญหา เพราะหลายประเทศอยากให้เราทำตรงนี้ และทางอียูเองยังสนับสนุน เพราะจะเป็นการดูแลนักท่องเที่ยวประเทศตนที่เดินทางเข้ามาในไทย อีกทั้งที่ผ่านมาในบางบริษัททัวร์ได้มีการจัดเก็บค่าประกันภัยอยู่แล้ว เพียงแต่เป็นประกันอุบัติเหตุเท่านั้น
นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ในการจัดเก็บและบริหารเงินที่ได้จากประกันสุขภาพคนต่างด้าวนั้น ต้องพิจารณารอบครอบ เพราะที่ผ่านมาเคยมีบทเรียนจากกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ ที่มีการจัดตั้งบริษัทกลางขึ้นมาดำเนินการ และให้เอกชนเป็นผู้จัดเก็บเบื้ยประกัน แต่ละปีอยู่ที่ประมาณหมื่นล้านบาท แต่พบว่าเงินก้อนดังกล่าวเป็นการจ่ายเบี้ยประกันภัยเพียงร้อยละ 40 เท่านั้น ร้อยละ 10 เป็นค่าบริหารจัดการ ส่วนที่เหลือร้อยละ 50 เป็นกำไรตกไปยังบริษัทเอกชน ดังนั้นการจัดระบบกองทุนหลักประกันสุขภาพคนต่างด้าวต้องให้ผลประโยชน์ตกอยู่ที่ภาครัฐเพื่อประชาชน
นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประสบปัญหาการจ่ายค่ารักษาพยาบาลของกลุ่มนักท่องเที่ยวเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีประกันอุบัติเหตุและประกันสุขภาพ อย่างกรณีอุบัติเหตุสปีดโบ๊ทชนกันที่ชลบุรี ที่มีค่ารักษาสูงถึง 4 ล้านบาท ซึ่งหากมีการทำระบบหลักประกันสุขภาพให้กับนักท่องเที่ยวเหล่านี้จะช่วยแก้ไขปัญหาได้มาก แต่ทั้งนี้คงต้องเป็นการบังคับซื้อ เพราะหากปล่อยให้เป็นการซื้อประกันแบบสมัครใจ เชื่อว่าคงไม่ซื้อกัน
“ผมพึ่งเดินทางกลับจากประเทศจีน และได้สอบถามจากบริษัททัวร์เรื่องนี้ เขาบอกเช่นกันว่าคงไม่ซื้อแน่ ยกเว้นหากรัฐบาลบังคับ ซึ่งกรณีบวกเพิ่มในวีซ่านั้น ปัจจุบันวีซ่าประเทศไทยแบ่งเป็น 9 ประเภท ส่วนใหญ่กำหนดระยะเวลาอยู่ในประเทศ 90 วัน โดยมี 3 ประเภท ที่ไม่เก็บค่าทำเนียมเข้าประเทศ มี 6 ประเภทเก็บค่าทำเนียม 1,000 บาท ขณะที่การจัดเก็บค่าทำเนียมเข้าประเทศ ณ จุดผ่านแดนจะอยู่ที่ 800 บาท ทั้งหมดนี้ต้องทำแนวทางการจัดเก็บ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวและว่า การจัดเก็บค่าประกันสุขภาพควรรวมค่าใช้จ่ายในการส่งนักท่องเที่ยวกลับประเทศด้วย ทั้งกรณีที่เจ็บป่วยและเป็นปัญหา เพราะขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ประสบปัญหาการส่งนักท่องเที่ยวกลับประเทศมากโดยเฉพาะกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามาไทยเพื่ออยู่แบบลองสเตย์ จ่ายเงินรวดเดียว 300,000-800,000 บาทเพื่ออยู่ยาว แต่เมื่อเงินหมดกลับไม่มีเงินกลับประเทศ ไปอาศัยอยู่ที่สถานีตำรวจแทน ตอนนี้กระทรวงเราแบกรับภาระไม่ไหว
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในหลักการเต็มที่ และเห็นว่าการที่หลักประกันสุขภาพจะยั่งยืนได้ต้องมีการจัดเก็บเงินเข้าสู่ระบบ ซึ่งต้องเป็นรูปแบบบังคับจัดเก็บค่าทำเนียมคนต่างด้าวที่เข้ามาเมืองไทย ทั้งนี้ตามกฎหมายวิธีการงบประมาณแม้ว่าเงินที่จัดเก็บโดยส่วนราชการจะต้องนำส่งคืนคลังทั้งหมด แต่กฎหมายได้เปิดช่องให้ไม่ต้องจัดส่งเข้าคลังเช่นกัน เพียงแต่อนุมัติเป็นกรณีไป โดยเรื่องนี้ต้องมีเจ้าภาพหลัก อย่าง สปสช. และกระทรวงการคลังจะร่วมทำระเบียบข้อบังคับการใช้เงินก้อนนี้
ขณะที่ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ต้องเป็นการเก็บเบี้ยประกันแบบบังคับ ไม่ใช่สมัครใจ โดยกำหนดเป็นกติกาของประเทศว่า นักท่องเที่ยวที่เข้าประเทศจะต้องทำประกันสุขภาพทุกคน พร้อมกันนี้ไทยเองต้องประชาสัมพันธ์ไปยังประเทศต่างๆ ด้วยว่า หากเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย ไม่ต้องกังวลใจเรื่องรักษาพยาบาลหากเกิดกรณีป่วยฉุกเฉิน เพราะเรามีระบบรองรับอยู่ โดยการจัดเก็บอาจเพิ่มเติมจากวีซ่า หรือกรณีที่มาเป็นกรุ๊ปทัวร์อาจจัดเก็บผ่านบริษัทท่องเที่ยวที่ขณะนี้มีการจัดเก็บประกันอุบัติเหตุอยู่แล้ว แต่ให้บวกเรื่องประกันสุขภาพเข้าไปด้วย
ส่วนการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพนั้น ขณะนี้กลไกของ สปสช. พร้อมเข้าไปดำเนินการ เนื่องจากปัจจุบันเราเป็นหน่วยงานที่ประสานกับสถานพยาบาลเพื่อดูแลระบบสุขภาพคนทั้งประเทศอยู่แล้ว ซึ่งหากรวมการดูแลกลุ่มคนต่างด้าวเข้าไปด้วยคงไม่เป็นปัญหา
ส่วน พล.ต.ท.ภัทรชัย หิรัญญะเวช ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เห็นว่า เรื่องนี้นับเป็นนโยบายที่ดีและสำนักงานตำรวจแห่งชาติพร้อมปฏิบัติทุกอย่าง แต่กรณีการมอบภาระกิจให้ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจัดเก็บค่าเบี้ยประกันเพิ่มเติมจากค่าวีซ่านั้น เรื่องนี้ต้องเข้าใจว่า เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไม่มีความรู้หรือเชี่ยวชาญด้านการเงินการคลัง เรามีหน้าที่หลักในการตรวจคนเข้าเมืองเพื่อดูในเรื่องความมั่นคงประเทศ ประกอบกับยังมีเวลาจำกัดที่ต้องเร่งให้บริการคนต่างด้าวเพื่ออำนวยความสะดวกไม่ให้ต้องรอนานเกินไป เป็นนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ ดังนั้นจึงอาจทำให้เกิดปัญหาในภายหลังได้ จึงต้องมีการวางแผนเพื่อรองรับจุดนี้
จากผลการประชุมในครั้งนี้สรุปได้ว่า ทุกหน่วยงานต่างสนับสนุนเดินหน้านโนบายระบบหลักประกันสุขภาพคนต่างด้าวที่เข้าประเทศชั่วคราว โดยมุ่งเป้าไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยว เพื่อลดภาระการรักษาพยาบาลที่ประเทศต้องแบกรับ เพียงแต่ต้องมีการจัดทำรายละเอียดแนวทางปฏิบัติชัดเจน โดยเฉพาะการเก็บเบี้ยประกัน ระบบการบริหารจัดการ ที่ต้องไม่ซ้ำรอยอย่างกรณีการบริหารกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถที่ประโยชน์ไปตกอยู่กับภาคเอกชนนับพันล้านบาทต่อปี
- 17 views