พญ.ปานทิพย์ โชติเบญจมาภรณ์ ผอ.สำนักควบคุมบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบ ว่า สำนักมีอำนาจในการใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 โดยในแต่ละปีมีการกวดขันให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องของสถานที่ห้ามสูบบุหรี่ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย ซึ่งจะมีการตรวจ ตักเตือน และอบรมผู้ประกอบการ เจ้าของสถานที่อย่างสม่ำเสมอ โดยในปีที่ผ่านมามีทั้งการดำเนินคดีในสถานที่ที่ไม่จัดให้ปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย การตักเตือน การให้คำแนะนำ ส่วนการบังคับใช้กฎหมายใน เรื่องอื่นๆ เช่น การไม่ติดภาพคำเตือน ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สรรพสามิต ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
พญ.ปานทิพย์กล่าวต่อว่า สำหรับการร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ.... ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์นั้น จะมีเนื้อหาที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการตลาดรูปแบบใหม่ๆ และการบริโภคยาสูบรูปแบบใหม่ๆ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายเดิมยังควบคุมและบังคับใช้กฎหมายได้ยากเนื่องจากการนำเข้ามีการแยกชิ้นส่วนและนำเข้าแบบกองทัพมด ยังไม่สามารถดำเนินคดีได้ ซึ่งในส่วนของบุหรี่ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เทียบเท่าบุหรี่ ใส่นิโคตินเหลวเข้มข้นกว่านิโคตินในบุหรี่มวนปกติ ถึง 6 เท่า
"มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าว่ามีความปลอดภัยกว่าบุหรี่ทั่วไป ทั้งที่บุหรี่ไฟฟ้ามีความเข้มข้นสูงกว่าทำให้เกิดการเสพติดมากกว่า เสี่ยงได้รับอันตรายมากกว่า เพราะนิโคตินจะมีผลต่อระบบสมอง หัวใจ ความดันและหลอดเลือด ดังนั้นจำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อให้เกิดการควบคุมการนำเข้าและการใส่คำเตือนลงในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ตามที่องค์การอนามัยโลกระบุ" พญ.ปานทิพย์กล่าว
--ข่าวสด ฉบับวันที่ 11 ก.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 3 views