นพ.วิฑูรย์ เหลืองดิลก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ตรัง กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกใน จ.ตรัง ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยพบเด็กอายุ 5-14 ปี เป็นเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษา ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมากที่สุด ระบาดมากที่สุดในเขต อ.เมือง ทำให้นักเรียนต้องขาดเรียนหลายวันติดต่อกัน นอกจากนี้ยังพบว่ามีสามเณรป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกหลายรูป สสจ.ตรัง จึงรณรงค์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกโดยให้ อสม.ประจำหมู่บ้านกว่า 1,000 คน ออกแจกจ่ายทรายอะเบท ฉีดพ่นหมอกควันและให้ความรู้การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่องทั้ง 10 อำเภอ โดยพบว่าขณะนี้มีผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้วกว่า 500 ราย แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต
ด้าน พญ.อารีย์ ตันบรรจง สสจ.พะเยา กล่าวว่า นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ให้จัดประชุมวอร์รูมไข้เลือดออก เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ทุก 2 สัปดาห์ พื้นที่ครองแชมป์สูงสุดของสถิติผู้ป่วย คือ อ.เชียงม่วน จ.พะเยา
ที่ จ.มหาสารคาม พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 366 ราย โดยยังมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง และยังควบคุมไม่ได้หลายพื้นที่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 10-14 ปี
นพ.พีระ อารีรัตน์ สสจ.นครพนม กล่าวว่า พบผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีผู้ป่วยสะสม 94 ราย ร้อยละ 95 อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ยังไม่มีผู้เสียชีวิต
ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (รพ.สวนดอก) รศ.นพ.สมศักดิ์ เชาว์วิศิษฐ์เสรี ผู้อำนวยการ รพ.สวนดอก กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่เข้ารับบริการตรวจรักษาที่ รพ.สวนดอก หลังเกิดการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกใน จ.เชียงใหม่ สูงกว่า 4,700 ราย เสียชีวิตแล้ว 5 ราย
รศ.นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ตัวเลขผู้ป่วยตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2556 เพิ่มขึ้น 10 เท่าหากเทียบกับปีที่ผ่านมา คือมีผู้ป่วยรวม 1,472 คน จากปี 2555 มีเพียง 156 คน เฉพาะเดือนมิถุนายน มีผู้ป่วยพุ่งสูง 992 คน เสียชีวิต 1 ราย เป็นนักศึกษา มช.ที่มีอาการเบาหวานร่วมด้วย ถือเป็นสถานการณ์น่าห่วง ต้องเร่งทำความเข้าใจต่อประชาชนให้มีการป้องกันตนเอง บุคคลในครอบครัว และสถานที่ทำงานทุกแห่ง
รศ.พญ.ดร.เพณณินาท์ โอเบอร์ดอร์เฟอร์ หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ รพ.สวนดอก กล่าวว่า น่าแปลกใจที่ปีนี้พบผู้ป่วยเด็กมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยต่ำกว่า 1 ปี คือมีอายุ 6-7 เดือน จากปกติ 6-7 ปี ถือเป็น 10% ของคนไข้เด็ก ตามด้วยวัยรุ่น 13-14 ปี และผู้ใหญ่ 40 ปีขึ้นไป จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่สีแดงที่ต้องเฝ้าระวัง สาเหตุมาจากสภาพอากาศแปรปรวนร้อนมาก ฝนตกน้อย เป็นภาวะเหมาะสมของการเกิดยุงลาย
--มติชน ฉบับวันที่ 11 ก.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 2 views